เวิร์กช็อปควรเริ่มที่ 'ครม.' Share


สองเดือนที่ผ่านมานายกฯยิ่งลักษณ์จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือ เวิร์กช็อป ถึง 3 ครั้ง ครั้งแรก เวิร์กช็อป ว่าด้วยการผลักดันการส่งออกให้มีอัตราเติบโต 15% (30 มิ.ย.) ตามด้วย เตรียมความพร้อมว่าด้วยการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2558 (26 ก.ค.) ล่าสุดคือ เวิร์กช็อป ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ (8 ส.ค.)
            บทสรุปจากเวิร์กช็อปทั้ง 3 ครั้ง   คือการสร้างกลไกใหม่ขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง  อย่างกรณีผลักดันเป้าส่งออกให้ได้ 15 % มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา 6 ชุด ว่ากันตั้งแต่คณะทำงานสำรวจและอุปสรรคด้านกฎหมายและกฎระเบียบ , คณะทำงานติดตามสถานการณ์และการขับเคลื่อนการส่งออกไปยุโรป , คณะทำงานดูแลภาคอุตสาหกรรม , คณะทำงานด้านการค้าและการค้าชายแดน, คณะทำงานดูแลตลาดเดิม และคณะทำงานดูแลตลาดใหม่ 
             รวมๆแล้วจำนวนคนในคณะทำงานมากพอใช้คำว่า กองทัพได้ โดยส่วนตัวสงสัยว่า กลไกชุดนี้จะขับเคลื่อนกันอย่างไร เพราะคณะกรรมการในคณะทำงานทั้ง 6 ชุดที่ตั้งขึ้นมานั้นไม่มีใครเชื่อสักคนว่า การส่งออกปีนี้จะได้เป้า ตามที่ นายกฯยิ่งลักษณ์ และ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯและรัฐมนตรีคลังในฐานะประธานคณะทำงาน ต้องการคือ ขยายตัว 15% 
              หรือกรณีเวิร์กช็อปปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ นายกฯสั่งให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ปัญหาจังหวัดภาคใต้ โดยแต่งตั้งให้ 2 รองนายกฯ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง กับ ยงยุทธ วิชัยดิษฐ เข้าไปเสริมงาน พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกฯที่ดูแลอยู่เดิม  โดยให้เหตุผลว่าเพื่อบูรณาการงานเข้าด้วยกัน   ซึ่งเป็นข้อสรุปที่ไม่มีข้อสรุปว่า
            ที่ขมวดประเด็นไว้เช่นนั้น เพราะสาระสำคัญที่ถกกันระหว่างเวิร์กช็อป นอกจากการต่อสู้ทางความคิด ควรให้การทหารนำการเมืองหรือให้การเมืองนำการทหารเหมือนเดิมแล้ว ประเด็นเรื่องเอกภาพถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาด้วยเช่นกัน  แต่การตั้ง  3 รองนายกฯมาร่วมดูปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่สไตล์แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คนหนึ่งเป็นนายพล อีกคนติดระบบราชการ และคนสุดท้ายเป็นนักการเมืองขยันพูด จะมีเอกภาพได้อย่างไร  ไม่ว่าจะพิจารณากลไกใหม่ที่นายกฯมีคำสั่งจัดตั้งขึ้นมา ก็ไม่เข้าข่าย "เน้นระบบ"  เหมือนที่เลขาฯนายกฯพยายามพูดแทนนายแต่อย่างไร 
               ถ้าโยงผังกลไกทำงานใหม่ ที่เกิดจากการเวิร์กช็อป เรื่องส่งออก  เตรียมความพร้อมรับมือเออีซี รวมทั้งปัญหา 3 จังหวัดแดนใต้แล้วโยงเข้ากับหน่วยงานที่รับผิดชอบ ผ่านกระทรวงขึ้นไปถึงตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาล  โครงสร้างบริหารราชการแผ่นดิน ล่าสุด  คงไม่ต่างจากรากไม้ที่แตกเป็นรากฝอยยุบยับจนดูสับสนว่า หน่วยงานไหนเป็นเจ้าภาพกันแน่  อย่างเรื่องมุ่งเป้าส่งออก 15 % กรมส่งเสริมการส่งออกที่รับหน้าที่โดยตรง คงมึนว่าจะสนองต่องานตามระบบเดิมกับกลไกใหม่ที่เติมเข้ามาอย่างไร 
                  หรืออย่างกรณีกลไกแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ หากแนวคิดการทหารนำการเมือง มีชัยชนะเหนือความคิด การเมืองนำการทหารและให้ ศอบต. อยู่ใต้ร่มเงา กอ.รมน. ปัญหาร่วมงานแบบไม่สมยอมซึ่งคงไม่ต้องพูดถึงประสิทธิผลของงาน    ยังไม่นับรวมจากปัญหาที่อาจจะตามมา คือ  3 รองนายกฯที่นายกฯบัญชาให้มาดูแลปัญหาภาคใต้ ที่คงว่าไปตามสไตล์ของแต่ละคน
                ในทางเทคนิคเวิร์กช็อปเป็นการบริหารที่ต้องการเข้าสู่ปัญหาอย่างรวดเร็วแต่ดูเวิร์กช็อป 3 วงของนายกฯยิ่งลักษณ์ คนได้ประโยชน์จากกลไกใหม่ที่สร้างขึ้นมาทับซ้อนโครงสร้างเดิม คือ ตัวนายกฯยิ่งลักษณ์เองเพราะการมอบหมายงานให้หมายถึงความรับผิดชอบด้วย หากแก้ปัญหาไม่ได้ผล และมีหน้าที่ต้องชี้แจงในสภาอีกด้วย 
               ความจริงปัญหาไม่บูรณาการ ที่นายกฯให้อธิบายเหตุผลในการเวิร์กช็อปควรเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำคือ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี  รัฐมนตรีควรเวิร์กช็อปกันสักครั้ง ถกประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับอนาคตของชาติและทุกข์สุขของประชาชนที่ไม่คืบหน้า หรือ คาดว่ากำลังจะเป็นปัญหา หาข้อสรุปได้แล้ว ฯพณฯทั้งหลายก็นำไปขับเคลื่อนตามสายงานที่รับผิดชอบ ช่องทางหรือข้อต่อไหนติดขัดก็สะสางกันไป   ดีกว่ามาเวิร์กช็อปไปเรื่อยๆจนข้าราชการมึน เพราะต้องรายงานเรื่องเดียวกันซ้ำไปซ้ำมา ทั้งช่องทางเดิมและโครงสร้างใหม่   ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะนำการบริหารของรัฐเข้าสู่ความสับสนและห่างไกลจากเอกภาพ และประสิทธิภาพออกไปทุกที

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,766  16-18  สิงหาคม พ.ศ. 2555

ที่มาhttp://www.thannews.th.com/index.php?option=com_content&view=article&id=136465:2012-08-15-02-40-57&catid=168:2009-03-19-04-04-05&Itemid=411



อ่าน : 1737 ครั้ง
วันที่ : 18/08/2012

Contact : V-SERVE GROUP 709/54-55 ถ.สุขุมวิท 77 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง  กทม. 10250 โทรศัพท์. 0 2332 3940-9 โทรสาร. 0 2332 0754
E-mail: tanit@v-servegroup.com