จับตาเงินบาทแข็ง-ส่งออกกระอัก วอนอย่าต่ำกว่า32บาท/ดอลลาร์-ธปท.ชี้ไร้ปัญหา Share


เอกชนผวาค่าเงินบาทแข็งค่า หวั่นกระทบส่งออก โดยหากต่ำกว่า 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐมีปัญหาแน่ ส่วนการส่งออกยังไม่กระเตื้องคาดทั้งปีโตแค่ 1% ขณะที่แบงก์ชาติมั่นใจเงินบาทอยู่ในอัตราที่เหมาะสม

นาย วัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการ ส่งออกกำลังติดตามความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด หลังเริ่มมีทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง ซึ่งหากเงินบาทแข็งค่าหลุด 32 บาท/เหรียญสหรัฐ จะส่งผลกระทบ ต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของเอกชนไทย

"เงิน บาทที่แข็งค่าเป็นผลจากเงินไหลเข้ามายังภูมิภาคมากโดยเฉพาะในตลาดหุ้นไทย ประกอบกับมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ของสหรัฐกำลังจะหมดลง ทำให้คาดว่าสหรัฐจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต ซึ่งหากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย เงินจะไหลกลับไปยังสหรัฐ ส่งผลให้เงินบาทน่าจะอ่อนค่าลง" นายวัลลภกล่าว

รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการเห็นคือ เงินบาทไม่ผันผวนและไม่แข็งค่าจนเกินไป หากเป็นไปได้เคลื่อนไหวในระดับ 32-33 บาท/เหรียญสหรัฐ จะเป็นผลดีต่อการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง แต่หากเงินบาทแข็งค่าหลุด 32 บาท/เหรียญสหรัฐ จะกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขัน

นายธนิต โสรัตน์ อดีตรองประธานส.อ.ท. กล่าวว่า ภาวะ การส่งออกตลาดหลักของไทยยังไม่ดีนัก แม้จะมีตลาดอาเซียนที่กำลังเป็นตลาดเป้าหมาย แต่ในช่วง 5 เดือนแรกติดลบ 5% ดังนั้นทั้งปีหากต้องผลักดันการส่งออกให้เป็นไปตามเป้าหมายของกระทรวง พาณิชย์ตั้งไว้โต 3% คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากทุกเดือนจากนี้ไปไทยต้องส่งออกเฉลี่ยให้ได้เดือนละกว่า 2 หมื่นเหรียญสหรัฐ ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงสูงที่การส่งออกไทยจะโตแค่ 1% ก็ยังมีสูง

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ขณะนี้เอกชนกำลังติดตามและมีความเป็นห่วงต่อค่าเงินบาทที่เริ่มแข็งค่าขึ้น โดยยังคงต้องดูว่าจะเป็นการแข็งค่าชั่วคราวหรือไม่ หากแข็งค่าถาวรและผันผวนจะกระทบการส่งออกไทยในช่วงครึ่งปีหลัง แต่หากค่าเงินบาทอยู่ระดับปัจจุบันเฉลี่ย 32-33 บาท/เหรียญสหรัฐ คงไม่มีปัญหา แต่หากแข็งค่าต่ำกว่า 30 บาท/เหรียญสหรัฐ ก็น่าเป็นห่วง

ด้าน นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคาร แห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ยังไม่ได้หารือกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกี่ยวกับแนวทางในการดูแลค่าเงินบาทเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก เนื่องจากเห็นว่า ปัจจุบันค่าเงินบาทของไทยเคลื่อนไหวอยู่ในระดับที่ เหมาะสมและไม่เป็นอุปสรรคต่อภาคการส่งออกแต่อย่างใด โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 เงินบาทมีเสถียรภาพดี


อ่าน : 1625 ครั้ง
วันที่ : 16/07/2014

Contact : V-SERVE GROUP 709/54-55 ถ.สุขุมวิท 77 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง  กทม. 10250 โทรศัพท์. 0 2332 3940-9 โทรสาร. 0 2332 0754
E-mail: tanit@v-servegroup.com