มติชน (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ชมพูนุท ทับทิมชัย ปลายปี 2558 ที่กำลังจะมาถึง ไทยและเพื่อนบ้านอีก 9 ประเทศ จับมือกันก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หรือ ASEAN Community เพื่อผนึกความแข็งแกร่ง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ด้วยเหตุนี้สมาชิกอาเซียนจึงเล็งเห็นว่าจำนวนประเทศทั้ง 10 ประเทศ ซึ่งมีประชากรเกือบ 600 ล้านคน ถือได้ว่าเป็นเศรษฐกิจภูมิภาคขนาดใหญ่ ควรร่วมมือกันเพื่อทำให้เกิดความเข้มแข็งในด้านต่างๆ ทั้งตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน การเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงานมีฝีมืออย่างเสรี จึงได้มีการปรึกษาหารือและนำไปสู่การเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ ASEAN Economic Community (AEC) ในที่สุด แล้วไทยพร้อมหรือยังกับ AEC ที่ใกล้เข้ามาทุกขณะ? การแข่งขันเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับเออีซีจึงเกิดขึ้น ยุทธศาสตร์ด้านหนึ่งที่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญก็คือ การจัดการโลจิสติกส์ ด้วยภูมิศาสตร์ของไทยมีพรมแดนติดต่อถึง 4 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ ประเทศลาว พม่า กัมพูชา และมาเลเซีย ประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานในการขนส่งครบทั้งทางบก ทางน้ำ และอากาศ การคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์ทางการค้าจึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะต้องมาช่วยกันศึกษาและปรับปรุงเส้นทาง เพื่อเชื่อมโยง กระบวนการทุกอย่างในภูมิภาค ให้สามารถติดต่อเดินทางถึงกันอย่างสะดวกและรวดเร็ว ทาง ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัย ธรรมศาตร์ จึงจัดสัมมนา TU-ASEAN Forum ครั้งที่ 8 เรื่อง "ไทยกับการเป็นศูนย์กลางของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ภาค 2" เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียน ปี 2558 ให้กับบุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา นักวิจัย นักวิชาการ สื่อมวลชน นักศึกษาและผู้สนใจทั่วไป ในเรื่องของเออีซีกับการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์นั้น มีความเชื่อมโยงในเรื่องของตลาดเดียว (single market) และการมีฐานการผลิตร่วมกัน (Single Production Base) ทั้งยังเชื่อมโยงด้านธุรกิจการส่งออก (ปี 2556) มูลค่าประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท เชื่อมโยงด้าน ธุรกิจนำเข้ามูลค่าประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท เชื่อมโยงการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการ และเชื่อมโยงด้านการลงทุน ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเข้ามาของเออีซีนั้นก่อให้เกิดผลกระทบสองด้านในเรื่องของตลาดเดียว เช่น ผู้บริโภคอาจมีทางเลือกมากขึ้นจากราคา รูปแบบ และช่องทางการจำหน่าย แต่ขนาดที่ใหญ่ขึ้นของตลาดจะเป็นภัยคุกคามกับผู้ประกอบการ อาจถูกสินค้าซึ่งผลิตในประเทศเพื่อนบ้านบางชนิดซึ่งมีต้นทุนในการผลิตต่ำเข้ามาแย่งส่วนแบ่งในตลาดไป ทั้งภาคบริการโลจิสติกส์ของไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและรายย่อย ศักยภาพในการแข่งขันอาจไม่สามารถแข่งขันกับสิงคโปร์และมาเลเซียได้ ดร.ธนิตอธิบายว่า ในส่วนของการเป็นฐานผลิตร่วมกันในอาเซียน ก่อให้เกิดทั้งโอกาสและภัยคุกคามเช่นเดียวกัน เนื่องจากจะเป็นการเพิ่มคู่แข่งจากภายนอกหรือการย้ายฐานการ ผลิตจากภายนอกเข้ามาผลิตแข่งขันกับตลาดภายใน แต่ก็จะได้ประโยชน์จากแรงงานและทรัพยากรจากประเทศเพื่อนบ้าน และการเปิดตลาดจะทำให้มีสินค้ารูปแบบใหม่ และอาจทดแทนสินค้าที่เคยผลิตอยู่ก่อนในประเทศได้ ดร.ธนิตอธิบายต่อว่า องค์ประกอบในการขับเคลื่อนเพื่อเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของไทยนั้น ประกอบด้วยการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและให้บริการข้ามแดนในประเทศ การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานกับภาคเศรษฐกิจจริงทั้งด้านการค้า การลงทุน และบริการ การพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านขนส่งและยกระดับด้านบริการ และการบริหารจัดการกฎระเบียบที่เอื้อต่อการขนส่งทั้งในประเทศและข้ามแดนยังต่างประเทศ จุดอ่อนของประเทศไทยด้านโลจิสติกส์ที่เป็นปัญหามากที่สุด คือไม่มีกฎหมายควบคุมดูแล ทั้งวิกฤตทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ที่ขณะนี้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) กำลังประสบปัญหาอย่าง หนักและขาดขีดความสามารถในการเชื่อมโยงการแข่งขันระดับภูมิภาค นอกจากนี้ยังมีเรื่องความน่าเชื่อถือ การขาดเครือข่ายทั้งในประเทศและระดับภูมิภาค ขาดการรวมตัวกันในลักษณะองค์กรหรือสถาบัน ในส่วนผู้ประกอบการไทย ไม่มีเครือข่ายในการขนส่งหลายรูปแบบที่เชื่อมโยงต่อกันเหมือนกับต่างประเทศ เป็นข้อเสียเปรียบอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งหากรัฐบาลสามารถเข้ามาดูแล ออกกฎหมายที่ส่งเสริมการจัดตั้งเครือข่ายและการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการโดยแยกออกเป็นส่วนๆ แต่เชื่อมโยงกับการให้บริการได้ ทั้งการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการไทยด้วยกันเอง เช่น การตัดราคาเพื่อความอยู่รอด กรณีนี้หากหน่วยงานของรัฐออกกฎหมายควบคุมจำนวนผู้ประกอบการ หรือออกกฎระเบียบควบคุมจำนวนผู้ประกอบการที่จะไปขอใบอนุญาตเพิ่มเติม โดยมีการจำกัดไว้ 2-3 ปี มีบทลงโทษอย่างรุนแรง เพื่อให้เวลาผู้ประกอบการไทยได้พัฒนาตัวเอง ในมิติทางด้านกฎหมาย ประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกอาเซียนได้ทำความตกลงที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าในประเทศอาเซียนหลายฉบับ อีกทั้งกฎหมายภายในประเทศก็มีที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์อยู่หลายฉบับ แต่เมื่อพิจารณาแล้วกลับพบว่ายังให้ความสำคัญกับมิติทางด้านสิ่งแวดล้อมไม่มากนัก ทั้งที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ความสำคัญกันมาก ดังนั้นในอนาคตจึงอาจมีการปรับให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมโดยไม่เป็นการสร้างภาระให้ผู้ประกอบการเกินควร และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีขีดความสามารถในการลงทุนในต่างประเทศ ต้องการให้ภาครัฐส่งเสริมให้มีการร่วมทุนกับนักธุรกิจผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ลาว และกัมพูชา ซึ่งที่ผ่านมาแม้จะมีพันธกิจในเรื่องนี้ แต่ก็ให้ความสำคัญกับการลงทุนในด้านอุตสาหกรรมและความเข้าใจในธุรกิจบริการโลจิสติกส์น้อยมาก ด้านสภาพคล่องและการเงิน สถาบันการเงินของไทย รวมถึง EXIM Bank และ SME Bank มีความเข้าใจในธุรกิจโลจิสติกส์ค่อนข้างน้อย และธุรกิจนี้เป็นธุรกิจบริการหลักทรัพย์ที่ค้ำประกัน จึงมีความแตกต่างจากภาคอุตสาหกรรม แต่ภาคการเงินยังมองธุรกิจนี้เหมือนกับอุตสาหกรรม จึงทำให้เข้าถึงแหล่งทุนยาก นอกจากนี้แนวทางที่จะเดินไปสู่เป้าหมายดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมในการผลิตบุคลากรเพื่อรองรับการขยายตัวทางด้านโลจิสติกส์ ในปัจจุบันพบว่ามีสถาบันการศึกษาของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้เริ่มเปิดการเรียนการสอนเกี่ยวกับการจัดการ โลจิสติกส์อย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ตาม คณะหรือสาขาวิชาเหล่านี้ก็ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเท่าที่ควรในฐานะสาขาพิเศษที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาประเทศ ช่องว่างเหล่านี้เป็นจุดบกพร่องที่ประเทศไทยควรรีบแก้ไข ซึ่งล้วนต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ดังนั้น คนในประเทศและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายต้องเร่งผนึกกำลังจัดการกับปัญหา เพื่อเตรียมความพร้อมสู่เออีซีที่กำลังจะมาถึง
|