โรงงานผวา "ปู" ชูค่าแรง 400 บาทใช้เป็นนโยบายเลือกตั้งครั้งหน้า Share


วันจันทร์ ที่ 07 ตุลาคม พ.ศ. 2556, 06.00 น.

ผู้บริหาร ส.อ.ท. วอนนายกฯ อย่ายุบสภาฯ โอดยังซมพิษค่าแรง300บาทไม่หาย  กลัวจะนำนโยบายค่าจ้าง 400 บาทมาหาเสียงครั้งหน้าอีก แฉห้างสรรพสินค้า บีบโรงงานเอสเอ็มอี ลดราคาสินค้าลง 10-20% อ้างนำสินค้าไปจัดโปรโมชั่นลด แลก แจก แถมในช่วงเทศกาล

นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปัจจัยการเมืองยังเป็นปัจจัยเสี่ยงของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเรื่องของนโยบาย ดังนั้นภาคเอกชนไม่ต้องการให้ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยุบสภาฯ ก่อนกำหนด เพราะหากยุบสภาฯก่อนกำหนด เกรงว่าพรรคการเมืองจะมีการนำนโยบายปรับค่าจ้างขั้นต่ำจากวันละ 300 บาทเป็น 400 บาท มาหาเสียง เพื่อหวังผลชนะการเลือกตั้นขึ้นมาก็ยิ่งทำให้ผู้ประกอบการเดือดร้อนเพิ่มขึ้น

“ค่าแรงวันละ 300 บาทก็ทำให้ผู้ประกอบการแย่อยู่แล้ว เพราะมีต้นทุนสูงแถมยังขายของได้ลำบากซึ่งที่ผ่านมาก็มีการปรับตัว โดยบางรายก็ปรับตัวได้แล้วและบางรายก็ยังไม่สามารถปรับตัวได้ ดังนั้นนายกฯ ยิ่งลักษณ์ยังไม่ยุบสภาฯ ในช่วงนี้อย่างน้อยก็คงไม่มีเรื่องของค่าจ้างขั้นต่ำพุ่งแบบก้าวกระโดดอีกในช่วง 1-2 ปี”นายธนิต กล่าว

สำหรับปัจจัยที่เอกชนมองว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวมาจากโครงการลงทุนของรัฐบาลทั้งเรื่องน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และ โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทก็เริ่มทะยอยเข้าสู่ระบบแล้ว

อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงที่ภาคเอกชนยังกังวล คงเป็นเรื่องเศรษฐกิจโลกที่ยังซบเซาทั้งในส่วนของสหรัฐฯ  ยุโรป และ เอเซีย โดยเฉพาะเรื่องของการว่างงานในกลุ่มประเทศยุโรปที่อยู่ในระดับ 12% ซึ่งถือว่าสูงมาก รวมถึงปัญหาการขาดแคลนสภาพคล่องของเอสเอ็มอีไทย ซึ่งในส่วนของสภาพคล่องต้องการให้รัฐบาลหามาตรการช่วยเหลือให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายกว่าเดิม เพราะหากมีสภาพคล่องเข้ามาช่วยเสริมในตอนนี้ก็อาจทำให้ผู้ประกอบการประคองตัวได้ถึงปีหน้า

นายธนิต กล่าวว่า ขณะนี้นอกผู้ประกอบการโรงงานจะประสบกับต้นทุนสูงแล้ว  ทาง ห้างสรรพสินค้า และห้างค้าปลีก ยังมาเจรจากับโรงงานผลิตสินค้าระดับเอสเอ็มอีลดราคาลง 10-20% เพื่อนำสินค้าดังกล่าวไปจัดโปรโมชั่นลด แลก แจก แถม รองรับเทศกาลคริสมาสต์และปีใหม่ เนื่องจากปัจจุบันบรรดาห้างร้านมีกลยุทธการแข่งขันที่รุนแรงมาก ส่วนใหญ่เน้นการลดราคาเพื่อแย่งลูกค้าและกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภค ส่งผลให้โรงงานบางส่วนได้รับความเดือดร้อน เพราะหากไม่เข้าร่วมก็จะมีผลกระทบต่อการทำธุรกิจร่วมกันในอนาคต

ทั้งนี้ที่ผ่านมาโรงงานในภาคอุตสาหกรรมประสบปัญหาจากต้นทุนการผลิตอย่างมาก โดยเฉพาะต้นทุนเรื่องของค่าแรง วัตถุดิบ และประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว เนื่องจากไม่สามารถปรับราคาสินค้าให้สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาหลายรายได้ทดลองปรับราคาไปแล้วแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะลูกค้าหันไปสั่งออเดอร์จากโรงงานที่ไม่ปรับราคาสินค้า

“ตอนนี้ยอมรับว่าภาคการผลิตอาการหนักมาก โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ต้นทุนสูงแต่ปรับราคาสินค้าได้ลำบาก เนื่องจากภาคการบริโภคของประเทศชะลอตัวอย่างหนักติดต่อมาหลายเดือนแล้ว ขณะที่ห้างร้านต่างๆ ก็จำเป็นต้องหามาตรการในการกระตุ้นกำลังซื้อของบริโภค และแน่นอนผู้ที่ถูกกดราคามากที่สุดคือโรงงานผลิต เพราะหากห้างฯ ลดราคาสินค้า 30-40% ก็ต้องกดราคาจากโรงงานแล้วเกินครึ่งหนึ่งของราคาที่ลดลง”นายธนิต กล่าว

ที่มา : http://www.naewna.com/business/71667



อ่าน : 1641 ครั้ง
วันที่ : 07/10/2013

Contact : V-SERVE GROUP 709/54-55 ถ.สุขุมวิท 77 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง  กทม. 10250 โทรศัพท์. 0 2332 3940-9 โทรสาร. 0 2332 0754
E-mail: tanit@v-servegroup.com