ASTVผู้จัดการรายวัน- ภาคเอกชนประเมินแนวโน้มส่งออกไทยครึ่งปีหลังย้งไม่ฟื้น ส่อแววโต 2-2.5% รอลุ้นก.ค.ชี้วัด เหตุศก.จีนเริ่มส่งผลกระทบชัด ขณะที่สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ยุโรปยังนิ่ง จับตาการค้าชายแดนไทยกับเพื่อนบ้านมิ.ย. 56 ติดลบ 3.2% นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยปี 2556 ทั้งปีหาก 6 เดือนที่เหลือ(ก.ค.-ธ.ค.) ไม่สามารถส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 2.04 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐอเมริกามีโอกาสสูงที่การส่งออกปีนี้จะขยายตัวไม่ถึง 3 % และอาจเห็นการขยายตัวเพียง 2% เนื่องจาก 6 เดือนแรกปีนี้(ม.ค.-มิ.ย.56) การส่งออกของไทยมีมูลค่า 1.13 แสนล้านเหรียญฯ หรือขยายตัวเพียง 0.935% เท่านั้น 6 เดือนแรกเราโตแค่ 0.935% ถ้าจะให้โตปีนี้ 3% ต้องส่งออกที่เหลือเดือนละ 2.04 หมื่นเหรียญฯ แต่ถ้าเราดูย้อนหลังการส่งออก 6 เดือนแรกเดือนมี.ค. 56 สูงสุดได้ 2.07 หมื่นเหรียญฯ และถ้าย้อนไปช่วงปีที่แล้ว 6 เดือนหลังก็พบว่าเฉลี่ยโตแค่ 1.9 หมื่นเหรียญฯเท่านั้น ดังนั้นเดือนก.ค.นี้ตัวเลขส่งออกจะชี้ชัดมากว่าเราจะโตถึง 3% หรือไม่ ส่วนการส่งออกที่ตั้งเป้าหมายไว้ 7-7.5% และคาดว่ากระทรวงพาณิชย์จะปรับลดเหลือ 6-6.5% หรือมีมูลค่า 2.4-2.5 แสนล้านเหรียญฯ ดูแล้วยากมากนายวัลลภกล่าว ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยเศรษฐกิจคู่ค้าทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร และที่สำคัญขณะนี้เศรษฐกิจจีนเริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัวที่ชัดเจนขึ้น ขณะที่ประเทศแถบอาเซียนพบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตเช่นเดียวกับไทยและเป็นลูกค้าไทยในแง่ของวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูป ก็ประสบปัญหาตลาดหดตัวเช่นกันการสั่งออร์เดอร์จากไทยก็ลดตามไปด้วยโดยครึ่งปีหลังยังไม่มีปัจจัยบวกมากนักยังคงไม่ต่างจากครึ่งปีแรก นายธนิต โสรัตน์ รองประธานส.อ.ท.กล่าวว่า ได้จัดทำสมมติฐานการส่งออกของไทยในปี 2556 ไว้ 3 แนวทางดังนี้ 1. หากใช้ตัวเลขการส่งออกของไทย 6 เดือนแรกสูงสุดในเดือนมี.ค. 56 ที่ส่งออก 2.07 หมื่นเหรียญฯ นำมาประเมินให้มีการส่งออกใน 6 เดือนที่เหลือเฉลี่ยในอัตราดังกล่าวทุกเดือนการส่งออกไทยจะโต 3.65% 2. ยึดตัวเลขการส่งออกมิ.ย. 56 ที่ 1.98 หมื่นเหรียญฯจากนี้ไปเฉลี่ยทุกเดือนใน 6 เดือนหลังส่งออกจะโต 1.24% และ 3. นำสมมติฐานทั้ง 2 มาเฉลี่ยการส่งออก 2.029 หมื่นเหรียญฯ ส่งออกจะโตเฉลี่ย 2.43% การส่งออกที่ตั้งเป้าหมายไว้ 7-7.5% นั่นหมายถึงการส่งออกของไทยที่เหลือจากนี้ไปจะต้องให้โต 14% ทุกเดือนจึงยากมากซึ่งแน่นอนว่าทั้งหมดก็เกิดจากปัจจัยเศรษฐกิจทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรปยังไม่มีการฟื้นตัวที่ชัด และจีนกลับมาถดถอยซ้ำทำให้คู่ค้าหลักๆ ของไทยในการส่งออกแทบจะยังไม่ต่างจากครึ่งปีแรก แม้ว่าค่าเงินบาทจะอ่อนตัวลงมาบ้างแต่ก็คงไม่ได้ทำให้คำสั่งซื้อเพิ่มแต่อย่างใดนายธนิตกล่าว อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาการค้าชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีการเติบโตต่อเนื่องแต่กลับพบว่าเริ่มขยายตัวติดลบ โดยในเดือนมิ.ย.56 การค้าชายแดนของไทยติดลบ 3.2% ซึ่งชี้ให้สัญญาณการบริโภคของเพื่อนบ้านเองก็เริ่มมีปัญหาที่ไม่ต่างกับไทยที่การบริโภคในประเทศชะลอตัวลงอย่างมากจากปัจจัยของราคาสินค้าแพงและประชาชนมีการประหยัดการใช้จ่ายซึ่งคงจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพราะการค้าชายแดนของไทยที่ผ่านมาถือมีส่วนสำคัญในการค้าขาย
ที่มา:http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9560000100125 |
|