เอสเอ็มอีป่วน เจอลูกค้าเช็คเด้ง Share


นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้วงการธุรกิจเอสเอ็มอีประสบปัญหาเช็คเด้งในปริมาณสูงต่อเนื่อง หลังจากผู้ประกอบการ ทั้งที่เป็นผู้ผลิตสินค้า และลูกค้าที่ส่งคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) หลายราย ขาดแคลนสภาพคล่องเหมือนกัน   ส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาททั่วประเทศ รวมถึงความผันผวนของค่าเงินบาท และผู้บริโภคเริ่มประหยัดรายจ่ายในช่วงต้นปีเพราะราคาสินค้าที่แพงขึ้น และบางส่วนต้องใช้เงินไปดาวน์และผ่อนรถยนต์ในโครงการรถยนต์คันแรกของรัฐบาล

ทั้งนี้ต้องการให้ธุรกิจเอสเอ็มอี กลับมาทบทวนแผนการทำธุรกิจตนเองให้มากขึ้น เพื่อรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจกิจโลก โดยไม่ไปหวังพึ่งนโยบายจากภาครัฐมากนัก เนื่องจากสัญญาณครึ่งปีหลังตลาดในประเทศนั้น ยังไม่มีปัจจัยใดที่จะทำให้แรงซื้อคนไทยฟื้นตัว เพราะประชาชนส่วนหนึ่งได้ใช้จ่ายล่วงหน้าโดยเฉพาะรถคันแรก  บ้านหลังแรก ทำให้ยังมีภาระผ่อนต่อ

“ในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา พบว่าเช็คเด้งเพิ่มขึ้น 25% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งส.อ.ท.ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ว่าช่วงจากนี้ไป ปริมาณจะสูงขึ้นหรือไม่ เพราะแนวโน้มค่าเงินบาทที่อ่อนลง อาจทำให้เอสเอ็มอีที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกกลับมามีสภาพคล่องที่ดีขึ้นได้ แต่ถ้ายังไม่ดี นั่นหมายถึงโอกาสที่ต้องปิดกิจการ ก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการปรับตัวให้รอดไม่ได้”

ขณะเดียวกัน ราคาสินค้าที่ขึ้นไปแล้ว คงไม่มีโอกาสปรับลดลง และราคาน้ำมันกลับจะสูงขึ้น หากเงินบาทอ่อนค่า ส่วนกรณีการจำนำข้าวนั้น แม้ว่ารัฐบาลจะลดราคาจำนำลงมาเหลือตันละ  12,000 บาท ทองอีกแง่อาจไม่กระทบต่อแรงซื้อมากนัก หากราคาข้าวสารปรับลงมา ซึ่งตรงนี้ภาครัฐต้องควบคุมให้ได้ด้วย 

“ทิศทางเศรษฐกิจโลก และสหรัฐอเมริกา ส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่คลุมเครือ ขณะที่จีนเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว ด้านยุโรปนั้น คาดว่ากว่าจะฟื้นตัวคงอีกอย่างน้อย 3 ปี  ส่วนญี่ปุ่น การบริโภคภายในไม่ได้เพิ่มขึ้น ตลาดเหล่านี้จึงยังมีทิศทางที่ไม่ได้เติบโตทำให้การส่งออกยังคงต้องแข่งขันกันมาก”

ด้านนายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการ ส.อ.ท. กล่าวว่า ขณะนี้ต้องยอมรับว่า ภาคธุรกิจประสบปัญหารอบด้าน ทั้งต้นทุนการผลิตจากนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท, ราคาวัตถุดิบ และราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคก็เริ่มชะลอตัวลง โดยปัจจุบันผู้ประกอบการได้ปรับแผนธุรกิจ เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ แล้ว แต่ยอมรับว่า บางรายปรับตัวได้ แต่อีกหลายรายยังปรับตัวไม่ได้กับปัญหาต่าง ๆ จนบางส่วนต้องปิดกิจการ หรือ ขายกิจการให้กลุ่มทุนที่มั่นคงด้านการเงิน

ส่วนการลดราคาจำนำข้าว หากมองในแง่เศรษฐกิจ เท่ากับเงินในกระเป๋าชาวนาหายไปอีก เพราะแม้ว่าเดิมจะจำนำให้ตันละ 15,000 บาทแต่ชาวนาก็ได้รับจริงเพียง 8,000 บาท หากลดจำนำลงอีก เชื่อว่าจะทำให้เงินถึงมือชาวนาลดไปอีก ซึ่งแน่นอนว่าแรงซื้อกลุ่มนี้ก็จะหายไปเช่นกัน

“แรงซื้อที่ผ่านมาไม่ดีนั กโดยดูจากยอดค้าปลีก5 เดือนแรก ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 2% คาดว่าแรงซื้อปีนี้โตได้ 4.5% ก็เก่งแล้ว ซึ่งต่างจากปีที่แล้ว ที่กำลังซื้อขยายตัวสูงถึง 10% เพราะคนไทยเจอสินค้าราคาแพง ประกอบกับรัดเข็มขัดจากคนที่ซื้อรถคันแรกผสมกัน ขณะที่เศรษฐกิจโลกภาพรวมเองยังไม่สู้ดีนัก ทั้งจีน สหรัฐ ญี่ปุ่น ยุโรป ทำให้ภาพครึ่งปีหลัง ไม่มีเหตุผลที่แรงซื้อของคนไทยจะขยายตัวขึ้นได้เลย ยกเว้นแต่รัฐจะเร่งการใช้งบประมาณให้มากขึ้น”.

ที่มา : http://www.dailynews.co.th/businesss/214603



อ่าน : 1555 ครั้ง
วันที่ : 27/06/2013

Contact : V-SERVE GROUP 709/54-55 ถ.สุขุมวิท 77 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง  กทม. 10250 โทรศัพท์. 0 2332 3940-9 โทรสาร. 0 2332 0754
E-mail: tanit@v-servegroup.com