'ธนิต' ชง7มาตรการช่วยผู้ส่งออกถูกกระทบจากบาทแข็ง Share


นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 30 เม.ย.2556 นี้ จะส่งหนังสือถึง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง

และ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อขอให้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกจากผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่า รวม 7 ข้อ ประกอบด้วย 1.ขอให้ ธปท.ดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวน สอดคล้องกับภูมิภาค 2.ให้ธปท.และกระทรวงการคลังสนับสนุนให้เอสเอ็มอี รวมกลุ่มเพื่อ ขอทำประกันความเสี่ยงส่งออกและลดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมกับสถาบันการเงิน ให้ถูกลง

3.ให้ผู้ส่งออกสามารถสำรองตั๋วเงินเป็นสกุลเงินบาท เพื่อใช้ในการค้าระหว่างประเทศได้ 4.ให้กระทรวงพาณิชย์ตั้ง กองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก โดยรับภาระค่าใช้จ่ายในการพาผู้ส่งออกหาตลาดใหม่ ค่าตั๋วเครื่องบิน และงานเอ็กซิบิชั่นต่างๆ ในต่างประเทศ 5.ให้คลังตั้งกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มีปัญหาสภาพคล่อง 6.ให้คลังและธปท.ออกมาตรการสกัดเงินทุน ไหลเข้ามาเก็งกำไรในระยะสั้นและ 7.ให้คลังทบทวนอัตราชดเชยภาษีผู้ส่งออก (มุมน้ำเงิน) เพิ่มขึ้น

นายพิสิทธิ์ พัวพัน ผู้อำนวยการส่วนวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวในงานเสวนา “ทิศทาง การแข็งค่าเงินบาท และกรณีศึกษาการแก้ปัญหาของผู้ประกอบการส่งออก” ที่จัดโดย ส.อ.ท.ว่า ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือ ผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากบาทแข็ง ขณะนี้ คลังและธปท.อยู่ระหว่างดำเนินการ คงต้องพิจารณาให้รอบคอบ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าแนวโน้มค่าเงินบาทจะแข็งค่าตลอดช่วง 3 ปีจากนี้ จึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องเร่งสนับสนุนให้นักลงทุนไทยไป ลงทุนต่างประเทศ เร่งคืนหนี้สกุลเงินต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจ และเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ที่มีการนำ เข้าวัสดุกว่า 40% เพื่อลดแรงกดดันค่าเงินบาท

น.ส.พัดชา วุฒิพันธุ์ นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่อยากให้ทุกฝ่ายโยนบาปไปให้กับ ธปท. เพราะการกำหนดนโยบายการเงิน หรือ การลด อัตราดอกเบี้ย จะต้องพิจารณาอย่างระมัดระวัง เพราะจะเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในภาพรวมทั้งหมด โดยที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ ก็ตื่นตัวกับเรื่องนี้ มีการเรียกหารือกับภาคเอกชน และออกมาตรการช่วยเหลือหลายๆโครงการ เช่น โครงการจัดหาตลาดใหม่ โดยเพิ่มงบประมาณจาก 15 ล้านบาท เป็น 300 ล้านบาท รวมถึงมาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และลดต้นทุนให้ กับผู้ประกอบการ เป็นต้น

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าแตะระดับ 29.40 บาทใน ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือว่ายังไม่สิ้นสุด เป็นเรื่องที่ผู้ส่งออกอาจจะสบายใจได้ชั่วคราว โดยสาเหตุที่อ่อนค่าลงเนื่องจาก นัก ลงทุนมองว่า อาจจะมีการออกมาตรการยาแรงจากภาครัฐ รวมถึงข่าวลือเรื่องการแทรกแซงค่าเงิน ทำให้เงินบาทอ่อนค่ากลับมา เล็กน้อย แต่ถ้ามองในช่วง 2-3 ปีจากนี้ ภายใต้ภูมิภาคเอเชีย และอาเซียนที่ยังคงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงสภาพ คล่องที่ล้นระบบ จากสหรัฐและญี่ปุ่น ก็จะส่งผลผลให้มีเงินทุนไหลกลับมาเพื่อเก็งกำไร

"ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ธปท.ยังไม่ได้เข้าไปแทรกแซงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเต็มที่ สะท้อนให้เห็นจาก ทุนสำรองระหว่างประเทศในช่วงดังกล่าวมีแนวโน้มทรงๆ ตัวหรือปรับลดลง ขณะที่ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง ซึ่งธปท.ควรจะแทรกแซงในขณะนี้ เพราะจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงล่าสุด สวนทางกับภูมิภาคที่เริ่มแข็งค่าขึ้น หากจะมีการแทรกแซงค่าบาทให้แข็งค่าระดับเดียวกับภูมิภาคในช่วงดังกล่าว ก็จะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก"

นายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังสี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยสายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบี กล่าวว่า มองว่า สถานการณ์ในขณะนี้ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจไม่ใช่ทางออกทั้งหมด ซึ่งเชื่อว่าแม้ว่าจะมีการลดลงอีก 1% ก็ไม่สามารถ ช่วยได้ และถ้าหากลดถึง 2% เหลือ 0.75% ก็จะส่งผลกระทบเกิดปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ และหนี้สินครัวเรือน กลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจอื่นๆตามมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 30 เม.ย. นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท.จะเข้าพบผู้ว่า ธปท.ในเวลา 13.00 น. ที่สำนักงานใหญ่ ธปท.เพื่อหารือและเสนอแนะมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ หลังจากที่เงินบาทแข็งค่่อย่างต่อเนื่องใน 5 มาตรการหลัก


ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ




อ่าน : 1709 ครั้ง
วันที่ : 30/04/2013

Contact : V-SERVE GROUP 709/54-55 ถ.สุขุมวิท 77 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง  กทม. 10250 โทรศัพท์. 0 2332 3940-9 โทรสาร. 0 2332 0754
E-mail: tanit@v-servegroup.com