นาย ธนิต โสรัตน์
เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
(เอสเอ็มอี) จำนวนมากเริ่มขาดสภาพคล่องอย่างหนัก หลังจากได้รับกระทบจากนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน การแข็งค่าของเงินบาทและการขายสินค้าได้ลำบาก ส่งผลให้เอสเอ็มอีไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ ทำให้ที่ผ่านมาเอสเอ็มอีบางกลุ่มต้องตั้งวงเล่นแชร์เพื่อนำเงินมาหมุนเวียน ในองค์กรในการจ่ายค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าและวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น เพราะหากไม่มีเงินหมุนเวียนอาจทำให้บริษัทเสี่ยงต่อการปิดกิจการสูง
สำหรับ การเล่นแชร์นั้นส่วนใหญ่ผู้ประกอบการที่สนิทสนมกันจะเล่นกันรายละ 100,000-1
ล้านบาท
บางรายเล่นกันหลายมือและหลายวงด้วย ซึ่งแต่ละวงจะมีประมาณ 10-20 คน
หากเล่นกันคนละ 100,000 บาท จำนวน 20 คน ได้เงินประมาณ 2 ล้านบาท ก็จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจเอสเอ็มอีพอประคองกิจการไปได้
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ามีผู้ประกอบการบางรายมีปัญหาเรื่องการส่งเงินในบางงวด ทำให้ถูกบริษัททวงหนี้ไล่ตามหนี้จนต้องหลบไปอยู่ที่อื่นจนกว่าจะหาเงินส่ง คืนให้กับเจ้ามือ
นายธนิตกล่าวว่า
ขณะนี้ ส.อ.ท. ได้ยื่นเรื่องปัญหาความเดือดร้อนของธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากค่า จ้าง 300 บาทให้นายกรัฐมนตรี กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม แล้ว เพื่อรอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตรการช่วยเหลือต่อไป เนื่องจากผลสำรวจในช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 (ม.ค.-มี.ค.2556)
พบว่ามีธุรกิจเอสเอ็มอีจำนวน
80% ประสบปัญหาการขาดทุน, ขาดสภาพคล่อง 23.33% และอยู่ระหว่างการพิจารณาการปิดกิจการ
10.42% หากรัฐบาลไม่มีมาตรการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรม ขั้นต่อไปธุรกิจจำนวนมากคงต้องพิจารณาลดปริมาณการผลิต
และเลิกจ้างพนักงาน เพื่อประคองกิจการต่อไป
นายทวีกิจ
จตุเจริญคุณ รองประธาน ส.อ.ท.และประธานกรรมการบริหาร
บริษัท ที.เค. กรุ๊ป กล่าวว่า ขณะนี้ทางกลุ่มที.เค.กรุ๊ป
ได้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมศรีโสภณอินดัสทรี้ ที่จ.ศรีโสภณ
ประเทศกัมพูชา ในพื้นที่ 400 ไร่ เพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการไทยที่ใช้แรงงานเข้มข้น
เช่น อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม, รองเท้า,
อิเล็กทรอนิกส์,
เฟอร์นิเจอร์
เป็นต้น เนื่องจากในกัมพูชามีค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยที่ 70-90
บาทต่อวัน และมีปริมาณแรงงานที่เพียงพอ
ที่มา : ข่าวสด