กกร.ย้ำกฎหมายฟอกเงินต้องเสร็จก่อน ก.พ.ปีหน้า Share


ตามที่คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินการมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน หรือ FATF ประกาศรายชื่อประเทศไทยอยู่ในประเทศกลุ่มเสี่ยง เพราะยังไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการสกัดกั้นการฟอกเงิน เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ขอให้รัฐบาลไทยเร่งดำเนินการออกกฎหมาย 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปรามปราบการฟอกเงิน และร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก โดยร่าง พ.ร.บ.กฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ได้ผ่านการพิจารณาจากสภาฯ วาระที่ 1 ไปแล้ว อยู่ระหว่างรอเข้าสู่การพิจารณาวาระที่ 2 และ 3

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ยังคงมีปัญหาความเห็นของ ส.ส.ที่แตกต่างกันในประเด็นการจัดทำประกาศรายชื่อบุคคล องค์กร นิติบุคคล ที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย หรือ UN SANCTION LIST ซึ่งทุกสถาบันการเงินต้องนำไปปฏิบัติตามโดยห้ามไม่ให้รับเปิดบัญชีกับผู้มี รายชื่อในบัญชี และห้ามทำธุรกรรมการเงินเด็ดขาด โดย ส.ส.หลายคนยังมีความเห็นต่างกัน โดยเห็นว่าอาจมีการเปิดช่องให้มีการกลั่นแกล้งเกิดขึ้น และประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำให้ร่าง พ.ร.บ.ปัจจุบัน การจัดทำประกาศรายชื่อ ยังไม่สามารถเป็นไปอย่างรวดเร็วได้ จึงไม่เป็นไปตามมาตรฐานของ FATF

ดังนั้น การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กกร.จึงต้องการให้คณะกรรมาธิการวิสามัญเร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยหาทางแก้ไขให้ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นไปตามมาตรฐานของ FATF โดยไม่เปิดช่องให้มีการกลั่นแกล้งและไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และสามารถดำเนินการได้รวดเร็ว โดยร่าง พ.ร.บ.นี้ต้องผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเสร็จสิ้นทั้ง 3 วาระให้ทันภายในเดือนกุมภาพันธ์ปี 56 เพื่อให้ทันกับการประชุม FATF ในครั้งต่อไปที่จะจัดขึ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ 56 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ฉะนั้นจะต้องติดตามการประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญที่เกี่ยวข้องกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ที่จะประชุมวันพุธที่ 3 ตุลาคม 55 ว่าจะดำเนินการได้คืบหน้ามากน้อยเพียงใด

ทั้งนี้ หากกฎหมายฉบับนี้ไม่สามารถผ่านการพิจารณาของสภาฯ ได้ทันการประชุมคณะกรรมการ FATF กกร.เชื่อว่าจะส่งผลกระทบกับประเทศไทยมาก เพราะปัจจุบันการส่งออกสินค้าของประเทศไทยมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 70 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และหากธุรกรรมทางการเงินไม่สามารถทำได้ จะกลายเป็นอุปสรรคในการนำเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ การซื้อตราสารนี้จะไม่สามารถทำได้ ย่อมส่งผลกระทบกับภาคธุรกิจอย่างมาก และสินค้าส่งออกของไทยจะส่งออกไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าทางการเกษตรและสินค้าอื่นๆ และในที่สุดจะทำให้นักลงทุนเมื่อเกิดความไม่สะดวกในการทำธุรกิจ จะมีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีความสะดวกมากกว่าแทน


นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย จะไม่สามารถผ่านการพิจารณาของสภาฯ ได้ทันกับการประชุมของคณะกรรมการ FATF ในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ดังนั้น จึงเสนอให้มีการตั้งคณะทำงานที่มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ร่าง พ.ร.บ.นี้จัดทำได้ตามมาตรฐานของ FATF และทันกับการประชุม FATF ในครั้งต่อไปที่จะมีขึ้นในเดือนมิถุนายนปี 56

นายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า แม้ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ถูกขึ้นบัญชีดำ แต่ถูกประกาศให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงในการสนับสนุนทางการเงินใน การก่อการร้าย แต่ขณะนี้สถาบันการเงินบางแห่งของฝรั่งเสศ คือ AFD งดการทำธุรกรรมกับไทยแล้ว ทั้งนี้ AFD ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนทางการเงินดอกเบี้ยต่ำช่วยเหลือประเทศ กำลังพัฒนา โดยเฉพาะโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สถานทูตบางแห่งไม่สามารถรับโอนเงินจากประเทศไทยได้ เพราะสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องเกรงว่า เมื่อถูกตรวจสอบจะไม่สามารถชี้แจงและจะถูกปรับได้

หากกฎหมายฉบับนี้ไม่ผ่านการพิจารณาของสภาฯ ได้ทันการประชุมคณะกรรมการ FATF เดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าจะกระทบเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง ซึ่งผลกระทบมี 3 ระดับคือ ระดับแรกสุดคือ ประเทศคู่ค้าก่อนโอนเงินค่าสินค้าให้ประเทศไทยจะขอข้อมูลว่าผู้รับเงินเป็น ใคร กรณีบริษัทจะถามว่าผู้ถือหุ้นหลักคือใคร จะได้ตรวจสอบว่าบุคคลนั้นเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน หรือสนับสนุนทางการเงินก่อการร้ายหรือไม่ ทำให้ค้าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นมาก และกว่าจะได้รับเงินใช้เวลานาน จะส่งผลกระทบการส่งออกอย่างรุนแรง ระดับที่ 2 ให้ประเทศไทยกำหนดมีระบบให้ข้อมูลทันที โดยส่งให้สถาบันการเงินในต่างประเทศโดยอัตโนมัติ เพื่อตรวจให้มีความชัดเจนจึงจะโอนเงินให้ ส่วนผลกระทบระดับที่ 3 สถาบันการเงินต่างประเทศจะไม่ให้ความเชื่อถือประเทศไทย และสั่งระงับการทำธุรกรรมทางการเงินกับไทย.-


ที่มา : สำนักข่าวไทย




อ่าน : 2200 ครั้ง
วันที่ : 11/10/2012

Contact : V-SERVE GROUP 709/54-55 ถ.สุขุมวิท 77 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง  กทม. 10250 โทรศัพท์. 0 2332 3940-9 โทรสาร. 0 2332 0754
E-mail: tanit@v-servegroup.com