1ปีผลงาน'ปู'แค่ตอบโจทย์ระยะสั้น Share


1ปีผลงาน'ปู'แค่ตอบโจทย์ระยะสั้น


1 ปี ผลงาน 'ปู' แค่ตอบโจทย์ระยะสั้น เอกชนหวังแผนพัฒนาศก.ระยะยาว - ยั่งยืน : รายงานพิเศษ : โดย ... อนัญชนา สาระคู


          ครบ 1 ปีพอดิบพอดีกับการเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาล ภายใต้การกุมบังเหียนของนายกรัฐมนตรี "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" หลายคนเฝ้ามอง ติดตามการทำงานที่ว่า เมื่อผ่านมาแล้ว 1 ปี รัฐบาลมีผลงานใดเด่นชัดบ้าง ซึ่งคำตอบที่ได้นอกจากนโยบายด้านประชานิยมที่เดินหน้ามาอย่างเต็มกำลัง และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องน้ำท่วมที่สามารถฟื้นกลับขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วแล้ว อีกคำตอบที่ชัดเจนในขณะนี้คือ รัฐบาลยังไม่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในระยะยาว ผลงานจึงได้แค่ "สอบผ่าน"


จี้ทำแผนพัฒนาประเทศระยะยาว


          นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลทำแต่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้ในภาพใหญ่รัฐบาลยังไม่แสดงผลงานที่เด่นชัดออกมา ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลควรทำแต่ยังไม่ได้ทำคือ การกำหนดแผนเศรษฐกิจของชาติในระยะยาว ว่าต่อไปนี้เศรษฐกิจของไทยจะเดินหน้าไปอย่างไร และรัฐบาลจะให้ความสำคัญกับเรื่องใดก่อนและหลัง ซึ่งมองว่ารัฐบาลสามารถกำหนดแผนระยะยาวที่ว่านี้ได้ เพราะถือว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและยังได้รับคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น


          ทั้งนี้ ในแผนระยะยาวทางด้านเศรษฐกิจที่รัฐบาลควรทำคือ การปรับโครงสร้างเกษตรกรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในโลกยุคใหม่จะทำอย่างไร ซึ่งจะมีโจทย์เรื่องของภาวะโลกร้อนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทำให้จำเป็นจะต้องมีแผนเพื่อว่าเราจะปลูกข้าวปีละกว่า 30 ล้านตันอย่างนี้ต่อไป หรือส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานชนิดอื่นให้มากขึ้น ส่วนโครงสร้างของสินค้าอุตสาหกรรมก็ควรเลือกสนับสนุนเป็นรายสินค้า หรือสนับสนุนการไปลงทุนในอาเซียนเพื่อรองรับกับการเปิดประชาชนเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ซึ่งจำเป็นจะต้องคำนึงถึงปัญหาค่าจ้าง และแรงงาน เป็นต้น


          "อย่างแผน เออีซี ยังไม่มีการเจรจาเปิดเสรีทางการค้า (เอฟทีเอ)  ไทย-อียู ก็ควรกำหนดเป็นแผนออกมาว่ารัฐบาลจะเดินหน้าไปอย่างไร ก่อนการเจรจารัฐควรต้องมีแผนในการพูดคุยกับกลุ่มเอ็นจีโอ ไม่ใช่เพียงแค่ว่า เมื่อการส่งออกตกวูบจากเป้าหมายเติบโต 15% ในปีนี้ อาจจะเหลือ 7-8% ก็จะมีคิดเพียงว่าจะต้องเร่งเจรจาเอฟทีเอไทยอียูโดยไม่มีการวางแผนล่วงหน้า หรือกรณีระบบการอุดหนุนจะทำอย่างไรต่อไป ทั้งเรื่องของฟู้ด ซีเคียวริตี้ จะทำอย่างไร" นายพรศิลป์กล่าว


          ทั้งนี้ ในแง่ของผลงานด้านเศรษฐกิจในความจริงแล้วน่าจะให้สอบตก แต่เห็นใจที่รัฐบาลต้องรับภาระหนักในเรื่องน้ำท่วมที่จำเป็นต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จึงให้ 5 คะแนน เต็ม 10 ส่วนด้านสังคม รัฐบาลมีความพยายามในการช่วยเหลือเกษตรกร แรงงาน และสาธารณสุข ซึ่งถือเป็นส่วนที่ดี แต่ก็จำเป็นต้องมีแผนระยะยาวเพื่อเชื่อมโยงกัน ด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติด มีการพูดกันมากหากรัฐบาลพยายามที่จะทำอย่างจริงจังถือเป็นเรื่องที่ดี ส่วนการเมือง หากมองในแง่ที่ว่าไม่มีการชุมนุมทางการเมืองหรือความวุ่นวายเกิดขึ้นก็ทำให้สบายใจได้


          อย่างไรก็ตาม โดยเนื้อแท้ของการเมืองแล้วคือการจัดสรรผลประโยชน์ การจัดสรรทรัพยากร ที่จะต้องเป็นไปอย่างโปร่งใสและยุติธรรม แต่เมื่อพูดในเรื่องคอรัปชั่น พบว่าไม่ลดลงเลยและกลับมีเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ รัฐบาลจึงสอบตกในด้านนี้ เช่น กรณีโครงการจำนำข้าวที่มีการพูดถึงกันมากว่าเกิดการทุจริตคอรัปชั่นขึ้น รัฐบาลจะต้องสามารถพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่คนตั้งข้อกังขานั้นไม่มีจริง 


 


1ปีรัฐบาลได้คะแนนแค่สอบผ่าน


 


          นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การทำงานของรัฐบาลที่ผ่านมายังเป็นเพียงระยะสั้น แต่หลายเรื่องที่ตอบโจทย์ในระยะสั้นได้ถือว่าสอบผ่าน เช่น กรณีน้ำท่วมใหญ่แล้วประเทศไทยใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัว 6-9 เดือน และเศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ 5% ถือว่าสอบผ่าน, แรงงานไม่ตกงานหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วม อัตราการว่างงานเพียง 1% ถือว่าสอบผ่าน, ในด้านการดูแลราคาสินค้า โดยอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 3% ถือว่าสอบผ่าน ตลอดจนนโยบายด้านการกระจายรายได้ ซึ่งรัฐบาลก็เดินหน้า ส่วนแผนการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นแผนในระยะยาว รัฐบาลก็มีการจัดทำแผนชัดเจนตลอดจนการขุดคูคลองก็เกิดขึ้นจริง  


          นอกจากนี้ หลายเรื่องมีแนวคิดที่ดีแต่ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติ ทั้งการแจกแท็บเล็ต ซึ่งตนสนับสนุนในการแจก แต่การแจกให้เด็กนักเรียนในระดับ ป.1 ถือว่าเหมาะสมหรือไม่ และควรให้ใครมากกว่า, บัตรเครดิตชาวนาเป็นอีกนโยบายที่ดี แต่อาจจะยังมีปัญหาในรายละเอียด ส่วนบัตรเครดิตพลังงานยังมีคำถามว่า จะไปตอบโจทย์เฉพาะคนในเมืองทำไม ทำไมไม่ตอบโจทย์คนทั้งประเทศ ขณะที่แผนการบริหารจัดการน้ำก็เห็นว่ามีจริง เดินหน้าการขุดลอกคลองทำจริง แต่จะสามารถป้องกันน้ำได้จริงหรือไม่ ยังไม่สามารถตอบได้


          อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังไม่เห็นคือระยะยาว ทั้งการทำชลประทาน การก่อสร้างถนนหนทาง การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งโจทย์ในระยะยาวเห็นว่ารัฐบาลยังไม่ผ่าน ดังนั้นคะแนนของรัฐบาลในด้านเศรษฐกิจยังคงปริ่มๆ ถือว่าสอบผ่าน ซึ่งจะอยู่ในระดับคะแนน 6-7 จากคะแนนเต็ม 10 โดยการฝึกฝีมือแรงงานรัฐบาลยังไม่ทำ แต่มีนโยบายให้ขึ้นค่าแรงไปแล้ว ตลอดจนการปรับปรุงโครงสร้างการศึกษาก็ยังไม่ดำเนินการ รวมทั้งการสนับสนุนโครงการวิจัยก็น้อยมากเพียง 0.2-0.3% ของจีดีพี เท่านั้น จากที่รัฐบาลสัญญาจะให้มูลค่าถึง 2%


          "สิ่งที่รัฐบาลทำในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ภาควิชาการส่วนใหญ่ตั้งคำถามว่า ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยดีขึ้นจริงหรือไม่ รัฐบาลน่าจะทำอะไรที่จะสร้างประโยชน์ต่อจีดีพีในระยะยาวมากกว่านี้ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลตอบโจทย์ในระยะสั้นเกินไป ทำตามนโยบายหาเสียง ตามกระแสประชานิยม แต่ไม่ตอบในระยะยาว ทั้งสิ่งที่ควรทำคือความโปร่งใสของการใช้จ่ายของรัฐบาล ซึ่งเป็นสิ่งที่เอกชนเรียกร้อง แต่รัฐบาลก็กลับตอบโจทย์นี้ได้ไม่เร็ว" นายธนวรรธน์ กล่าว


 


กังวลประชานิยม-จี้เร่งปรองดอง


 


          นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) แสดงความคิดเห็นส่วนตัวว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ได้เห็นความตั้งใจจริงในการทำงานของรัฐบาล โดยเฉพาะมาตรการแก้ไขปัญหาหลังน้ำท่วม ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นถือว่าภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบหนักสุด แต่ก็สามารถพลิกฟื้นขึ้นมาได้เร็ว เห็นได้จากอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่กลับมาผลิตและส่งออก ซึ่งเติบโตได้ดี ส่วนนิคมอุตสาหกรรมมีการเตรียมพร้อมป้องกันน้ำกันเกือบพร้อมแล้ว 


          ด้านผลกระทบจากปัญหาวิกฤติหนี้ยุโรป (อียู) รัฐบาลมีความพยายามในการแก้ไขปัญหา โดยมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการหลายครั้ง ตลอดจนการจัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาหลายชุดเพื่อผลักดันการส่งออกในแต่ละด้าน ขณะเดียวกันรัฐบาลยังเชื่อมสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ส่งเสริมการค้าขายระหว่างกันทั้งกัมพูชา ลาว และพม่า ที่มีการเปิดด่าน ส่งเสริมการค้าขายให้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มีปัญหาปิดด่านชายแดน


          โดยให้คะแนนรัฐบาลจากความตั้งใจที่ 7 จากคะแนนเต็ม 10 แต่ยังไม่รวมถึงผลที่จะออกมาว่าเป็นอย่างไร และยังไม่รวมในประเด็นนโยบายด้านประชานิยมของรัฐบาล ซึ่งการใช้จ่ายในด้านนี้ของรัฐบาลก่อให้เกิดความวิตกกังวลในประเด็นการก่อหนี้สาธารณะ และการหารายได้ของรัฐบาล แต่ปัจจุบันหนี้สาธารณะยังถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก อยู่ในกรอบเพดานความปลอดภัย ขณะที่ตัวเลขภาคอุตสาหกรรมขยายตัวอย่างเห็นได้ชัดเจน และเศรษฐกิจเติบโตดีขึ้น ดังนั้นจะต้องดูกันอีกครั้งในปีหน้า


          นายธนิตกล่าวถึงนโยบายด้านสังคมว่า ประชาชนรากหญ้าจะถูกใจนโยบายของรัฐบาล ทั้งการปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท บ้านหลังแรก รถหลังแรก รวมทั้งโครงการจำนำ อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามถึงผลกระทบจากการใช้จ่ายของภาครัฐในนโยบายนี้จะเป็นอย่างไรในระยะยาว ส่วนการเมืองไม่น่าห่วงเพราะถือว่ารัฐบาลคุมเสียงข้างมาก แต่รัฐบาลควรเร่งการปรองดอง และสมานฉันท์ เพื่อไม่ให้ปัญหาการเมืองกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจอีก


 


"พัฒนาอาชีพชาวนา"เชื่อยั่งยืนกว่า


 


          นายชาญชัย รักษ์ธนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวถึงโครงการจำนำข้าวว่า รัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว ถือว่าสอบผ่าน ซึ่งการเปิดรับจำนำในราคาตันละ 15,000 บาท ก็ถือเป็นคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับเกษตรกร อย่างไรก็ตาม ในโครงการดังกล่าวยังมีจุดที่จะต้องแก้ไข โดยเฉพาะในด้านปริมาณการรับจำนำที่ควรต้องกำหนดเพดาน เช่น รายละไม่เกิน 5 แสนบาท ซึ่งการที่รัฐบาลประกาศรับจำนำข้าวทุกเม็ดถือเป็นเรื่องร้ายแรง ผู้ขายข้าวถุงเดือดร้อน ส่วนการระบายก็มีความชัดเจนแล้วว่าจะระบายตามราคาตลาด ซึ่งต้องยอมรับว่าไม่สามารถขายได้ตามราคารับจำนำที่สูงกว่า


          ด้านนายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า โครงการจำนำข้าวนั้น เมื่อมองในแง่ของราคาถือเป็นเรื่องที่ชาวนาพอใจ แต่หากมองในแง่ของระบบกลับพบว่ากระบวนการจำนำในปัจจุบันมีความเสียหาย เนื่องจากเกิดการคอรัปชั่นกันในทุกระดับ ทั้งการสวมสิทธิ์ การขึ้นทะเบียน โกดัง ไปจนถึงการระบาย เพราะเมื่อโครงการจำนำเดินหน้ามาในระดับหนึ่งแล้วทำให้มีการเข้าใจในกระบวนการและสามารถหาช่องทางทุจริตได้ 


          "สิ่งที่ว่านี้เกิดขึ้นแล้ว รัฐบาลจะแก้ไขปัญหาอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการทุจริตอีกหรือให้เกิดน้อยที่สุดก็ยังดี เพื่อโครงการจำนำจะสามารถเดินต่อไปได้โดยไม่ต้องใช้เงินจำนวนมากนัก" นายประสิทธิ์ กล่าว


          อย่างไรก็ตาม เห็นว่ารัฐบาลไม่จำเป็นต้องใช้โครงการจำนำข้าวให้เป็นโครงการที่ยั่งยืน แต่ให้ใช้เพื่อการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก็น่าจะเพียงพอ สิ่งสำคัญที่รัฐบาลควรทำคือ การพัฒนาชาวนา ปรับปรุงระบบชลประทาน พัฒนาพันธุ์ข้าว การตลาด สร้างความรู้ให้ชาวนา ส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้รักในอาชีพการทำนา รักท้องถิ่น เมื่อรัฐบาลสามารถพัฒนาสิ่งเหล่านี้ได้แล้วจะก่อให้เกิดความยั่งยืน ก็ไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายการจำนำข้าวอีกต่อไปก็ได้


 


--------------------


 


          พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล "1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลทำแต่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้ในภาพใหญ่รัฐบาลยังไม่แสดงผลงานที่เด่นชัดออกมา ซึ่งสิ่งที่ควรทำแต่ยังไม่ได้ทำคือ การกำหนดแผนเศรษฐกิจของชาติในระยะยาว"


 


          ธนวรรธน์ พลวิชัย "สิ่งที่รัฐบาลทำในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ภาควิชาการส่วนใหญ่ตั้งคำถามว่า ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยดีขึ้นจริงหรือไม่ รัฐบาลน่าจะทำอะไรที่จะสร้างประโยชน์ต่อจีดีพีในระยะยาวมากกว่านี้"


 


          ธนิต โสรัตน์ "ผมให้คะแนนรัฐบาลจากความตั้งใจ ยังไม่รวมเรื่องนโยบายประชานิยม ซึ่งการใช้จ่ายในด้านนี้ก่อให้เกิดความวิตกกังวลในประเด็นการก่อหนี้สาธารณะ และการหารายได้ของรัฐบาล"


 


          ประสิทธิ์ บุญเฉย "รัฐบาลไม่จำเป็นต้องใช้โครงการจำนำข้าวให้เป็นโครงการที่ยั่งยืน แต่ให้ใช้เพื่อการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก็เพียงพอ สิ่งสำคัญที่ควรทำคือการพัฒนาชาวนา ปรับปรุงระบบชลประทาน"


 


--------------------


(1 ปี ผลงาน 'ปู' แค่ตอบโจทย์ระยะสั้น เอกชนหวังแผนพัฒนาศก.ระยะยาว - ยั่งยืน : รายงานพิเศษ : โดย ... อนัญชนา สาระคู)

ที่มา :

คมชัดลึก



อ่าน : 2187 ครั้ง
วันที่ : 22/08/2012

Contact : V-SERVE GROUP 709/54-55 ถ.สุขุมวิท 77 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง  กทม. 10250 โทรศัพท์. 0 2332 3940-9 โทรสาร. 0 2332 0754
E-mail: tanit@v-servegroup.com