เวทีเสวนาประชาคมอาเซียน Share


ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวในเวทีการเสวนาเรื่อง“ประชาคมอาเซียน: สานฝัน หรือ ของจริง?” ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า มุมมองต่อจากนี้ของอาเซียน จะเป็นภูมิภาคที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด ปัจจุบันมีอาเซียน+3 และ อาเซียน+6คาดว่าจะมีระดับเศรษฐกิจ 27 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีโลก และมีประชากรสูงถึง 49 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก คำถามคือเราจะใช้ประโยชน์จากตรงนี้ได้มากน้อยเพียงใด

 “ในอนาคต อาเซียนจะเป็นเส้นทางที่ทวีความสำคัญของโลก โดยจะเป็นแหล่งผลิตทางด้านการลงทุนที่สำคัญ เป็นโอกาสสำหรับย้ายฐานการผลิต เป็นแหล่งพลังงานสำคัญโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ และเป็นห่วงโซ่อุปทานในการผลิตทั่วโลก (Global Supply-Chain) ในทุกอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร”

ดร.ธนิตกล่าวว่า ช่องว่างในการพัฒนาเป็นปัญหาสำคัญ มีกลุ่มที่เข้าไม่ถึงการพัฒนา ทั้งด้านระดับของจีดีพี ความรู้ ทักษะการทำงาน อีกทั้ง ความเข้าใจที่แตกต่างกันยังมีอีกมากทั้งจากเวทีภาคประชาชน ธุรกิจ รัฐ เห็นได้ว่าภาคเกษตรต้องพึ่งพารัฐบาล ขณะที่หากเข้าสู่เออีซีรัฐบาลจะอุ้มไหวหรือไม่ยังเป็นคำถามสำคัญ ส่วนภาครัฐเป็นภาคที่เตรียมพร้อมน้อยที่สุด กฎหมายหลายฉบับยังล้าสมัย แม้แต่ผู้ว่าฯ ในแต่ละจังหวัดยังรู้น้อย ต่อไปคนที่มีความสามารถจะไม่เข้าสู่ระบบราชการและภาคการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเร่งปรับปรุง

ด้านนายประดาป พิบูลสงคราม ผู้แทนไทยในคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยเรื่องความเชื่อมโยงในภูมิภาค กล่าวว่า ปีนี้คนไทยเริ่มตื่นตัวมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อยู่ในภาวะซบเซาทั้งจากปัญหาน้ำท่วมและการเมือง

 “45 ปีที่ผ่านมาของอาเซียนจึงเชื่อว่าจะไปถึงการรวมตัวกันได้ภายในปี ค.ศ. 2015 โดยการเชื่อมโยงอาเซียนในด้านกายภาพโดยจัดทำแผนและกฎระเบียบต้องเอื้อ ประโยชน์ของชาติสมาชิกร่วมกัน แม้ที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าได้ผลในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ การสร้างอาเซียนไม่ใช่ฝันแต่เป็นความจริงได้บนพื้นฐานของความแตกต่าง”นาย ประดาปกล่าว

นายพรศิลป์  พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานคณะกรรมการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและ กรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า สถานการณ์ในประเทศไทยตอนนี้ ทั้งสามเสาต่างคนต่างเดิน ทั้งที่ควรนั่งคุยร่วมกัน โจทย์ใหญ่ตอนนี้คือทุกประเทศต้องมาคิดร่วมกันว่าจะเดินไปด้วยกันได้อย่างไร ขณะนี้ทุกฝ่ายพยายามรักษาผลประโยชน์ของตนเอง โดยเฉพาะภาคสังคม ภาคราชการ การเมือง และภาคธุรกิจไม่เดินไปด้วยกัน

ด้าน นายเกียรติชัย พงษ์พาณิชย์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์กล่าวว่า แนวคิดการรวมกลุ่มของ เกิดมาจากแนวคิดทางการเมืองที่กลัวลัทธิคอมมิวนิสต์และประเทศที่เกิดใหม่จาก การตกเป็นอาณานิคม นำมาสู่แนวคิดในการจัดตั้งกลุ่มอาเซียน เพื่อปิดล้อมการขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ จะเห็นว่าอาเซียนตั้งแต่เริ่มต้นให้ความสำคัญกับความมั่นคงมากกว่าเรื่องของ เศรษฐกิจและวัฒนธรรม

 

นายเกียรติชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมาอาเซียนเป็นของเล่นของชนชั้นนำ ถ้าไปดูกรอบข้อตกลงจะพบว่าเป็นเรื่องระหว่างผู้นำแทบทั้งสิ้นโดยไม่เคยถาม ความคิดของประชาชน เราจะเห็น “วิถีแห่งอาเซียน” ลักษณะดังกล่าวทำให้การรวมตัวในช่วง 30 ปีแรกเป็นการรวมตัวอย่างหลวม ๆ กว่าจะรวมกันเป็นอาเซียนปัจจุบันเกิดจากความแตกต่างกันในหลายด้าน

 

 1. การรวมตัวของทั้ง 10 ประเทศมีความแตกต่างมาก ทั้งวัฒนธรรม ภาษา ศาสนา ความแตกต่างเหล่านี้เป็นข้อท้าทายว่าจะรวมกันได้อย่างไร 2. ความบาดหมางทางประวัติศาสตร์ยังคงฝังรากลึกและกลายเป็นความขัดแย้งใน ปัจจุบัน 3. กลไกการแก้ไขความขัดแย้งในกลุ่มประเทศอาเซียนไม่ทำงานจึงต้องอาศัยกลไกอื่น ๆ เช่น ศาลโลก เข้ามาช่วย ประเด็นเหล่านี้กำลังท้าทายว่าอาเซียนจะเป็นความฝันหรือเป็นความจริง
 
“ประเทศ ไทยเรียกตัวเองว่าเป็นระบอบประชาธิปไตย สิงคโปร์เป็นประชาธิปไตยที่มีพรรคการเมืองพรรคเดียวผูกขาดการเข้ามามีอำนาจ อย่างเบ็ดเสร็จ บรูไนเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ขณะที่กัมพูชาระบอบการเมืองผูกขาดอยู่ที่สมเด็จฮุน เซน  ความแตกต่างของระบบการปกครองกำลังเป็นข้อท้าทายในการรวมกลุ่มของอาเซียนว่า จะเป็นไปได้จริงหรือไม่ เมื่อเทียบกับสหภาพยุโรป หรือ อียู ที่เป็นประชาธิปไตยทุกประเทศ” นายเกียรติชัยกล่าว

 

นายเกียรติชัยกล่าวว่า มีแต่การพูดถึงการรวมกลุ่ม ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แต่ในด้าน ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน  และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม กลับไม่มีการพูดถึง ทำอย่างไรจะสร้างสังคมและวัฒนธรรมระหว่างกัน การส่งเสริมสิ่งแวดล้อม สร้างความสัมพันธ์ของผู้คน มีแนวคิดอื่น ๆหรือไม่ที่จะร้อยรัดประชาคม สร้างสิ่งที่เป็นคุณค่าร่วมกัน เช่น ความเป็นประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน การลดความยากจน ยังเป็นประเด็นที่ต้องคิดร่วมกันต่อไป


ที่มา: มติชนออนไลน์




อ่าน : 2192 ครั้ง
วันที่ : 18/08/2012

Contact : V-SERVE GROUP 709/54-55 ถ.สุขุมวิท 77 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง  กทม. 10250 โทรศัพท์. 0 2332 3940-9 โทรสาร. 0 2332 0754
E-mail: tanit@v-servegroup.com