สภาที่ปรึกษาฯ เสนอ 11 มาตรการรับมือผลกระทบวิกฤติยุโรป Share


สภาที่ปรึกษาฯ เสนอ 11 มาตรการรับมือผลกระทบวิกฤติยุโรป

กรุงเทพฯ 19 ก.ค. - นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานคณะทำงานเศรฐษกิจมหภาคการเงิน การคลัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การที่สหภาพยุโรป (อียู) ประสบปัญหาเศรษฐกิจ ส่งผลให้ใช้มาตรการรัดเข็มขัด ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยเป็นลูกโซ่ และปัญหาเศรษฐกิจดังกล่าวมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น อาจส่งผลกระทบวงกว้าง แม้ไทยส่งออกไปอียูเพียง 690,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10.6 ของการส่งออกในภาพรวมของประเทศไทย ซึ่งเป็นสัดส่วนไม่มากนัก เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาผู้ส่งออกไทยพยายามหาตลาดใหม่โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชีย จึงลดการพึ่งพาตลาดยุโรปลง อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวไม่ควรวางใจ เพราะอียูมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และมีปัญหาซับซ้อน เพราะโครงสร้างทางเศรษฐกิจแตกต่างกัน แต่อียูยังเป็นคู่ค้าสำคัญของภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นคู่ค้าใหญ่ของเอเชียด้วย ดังนั้น สภาที่ปรึกษาจะจัดทำข้อสรุปให้เสร็จในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในเร็วๆ นี้

ด้านนายธนิต โสรัตน์ รองประธานคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค การเงิน การคลัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า คณะทำงานฯ มีข้อเสนอแนะและมาตรการเบื้องต้น 11 ข้อ ได้แก่ ปัญหาเฉพาะหน้าต้องดูแลสภาพคล่องของกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดยให้ธนาคารของรัฐเข้ามาปล่อยสินเชื่อแบบผ่อนปรน นอกจากนี้ต้องดูแลเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ผันผวนและสนับสนุนให้ใช้เงินสุกลต่างประเทศในการชำระค่าระวางเรือ และร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 3 หรือต่ำกว่านี้ไปจนถึงสิ้นปี ปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าส่งออก ขอให้กรมสรรพากรพิจารณาการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ส่งเสริมการส่งออกกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งให้มีระบบสินเชื่อให้กับคู่ค้า เพื่อเพิ่มปริมาณและมูลค่าส่งออก ส่งเสริมการส่งออกทดแทนตลาดหลัก ส่งเสริมให้มีการจัดหาวัตถุดิบซึ่งขาดแคลนเพื่อผลิตและส่งออก ให้มีการเจรจาขอสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) กลับคืนมาทั้งจากสหรัฐและอียู หรือชะลอการตัดสิทธิออกไป ให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน การส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศให้มีความชัดเจนโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน และสุดท้ายรัฐบาลควรกำหนดเป้าหมายการส่งออกให้สอดคล้องกับความจริง

นายสมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวในการสัมมนาเรื่อง “ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ EU ผลกระทบส่งออกของไทย” จัดโดยคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค การเงิน การคลัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ว่า ยูโรโซน 17 ที่สมาชิกประเทศและเริ่มใช้เงินสกุลเดียวตั้งแต่ปี 1999 เป็นต้นมา ท่ามกลางความหลากหลายโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่สูงมาก ตลอดจนมีความหลากหลายของระบบการเมือง อีกทั้งมีความหลากหลายทางสังคม วัฒนธรรม นำสู่การดำเนินนโยบายหลากหลาย จึงไม่มีเอกภาพทางการเมืองในการประกาศนโยบาย ได้กลายเป็นข้อจำกัดในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในที่สุดผลกระทบต่อประเทศไทย การแกว่งของตลาดเงินตลาดทุนในประเทศไทย ทั้งอัตราแลกเปลี่ยนกระทบบริหารธุรกรรมระหว่างประเทศ กระทบต่อตลาดทุน ตลาดพันธบัตร ผลต่อภาคธุรกิจที่แท้จริง เช่น การนำเข้าส่งออก-ส่งออกไปยูโรโซน ค่าเงินยูโรจะอ่อนค่าลงมากกว่านี้ กำไรผู้ส่งออกไทยจะลดลงจากค่าเงินยูโรที่อ่อนค่าลง ตลาดท่องเที่ยวไทยจะได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวยุโรปที่ลดลง ผลกระทบทางอ้อมอาจไม่กระทบไทยโดยตรง เช่น กระทบต่อประเทศอื่นก่อนกระทบไทย ดังนั้นต้องวิเคราะห์ภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชีย เพราะหากกระทบจะกระทบกับไทยด้วย จากการวิเคราะห์ประเทศที่มีโอกาสได้รับกระทบมากที่สุด คือ อินเดีย ส่วนฮ่องกงและสิงคโปร์จะต้องระมัดระวังผลกระทบเช่นกันในกรณีมีเงินทุนไหลกลับไปยุโรป แต่ทั้งฮ่องกงและสิงคโปร์มีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสูง หากเข้าเวียดนามเข้าจีเอ็มเอส เข้าอินโดนีเซียเข้าอาเซียน

นายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังสี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐ ยุโรป และจีน เข้าสู่ภาวะหดตัวพร้อมกัน ดังนั้นจากนี้ไปจะเข้าสู่ช่วงเศรษฐกิจโตช้า ส่วนประเทศไทยยังโชคดีธนาคารยุโรปในไทยมีน้อย จึงมีการให้สินเชื่อในไทยน้อย จึงไม่กระทบไทย และประเทศไทยมีภูมิคุ้มกันสูง มีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสูงมาก ธนาคารไทยมีเอ็นพีแอลเพียงร้อยละ 2 ภาคธุรกิจหนี้ต่ำ ซึ่งเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบในระดับไม่มากนัก ดังนั้นต้องลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่มีเงื่อนไขอย่าคอร์รัปชั่นมากเกินไป และอาเซียนจะต้องเร่งเปิดเสรีการค้ามากขึ้น เร่งเปิดเสรีธุรกิจบริการมากขึ้น สำหรับอียูเปรียบเหมือนรถไฟวิ่งลงเหว หากเกิดการดึงเงินกลับยุโรปจะทำให้เงินบาทอ่อนค่า ราคาน้ำมันลดลง ส่วนค่าแรงที่ปรับขึ้น 300 บาทยังไม่ส่งผลกระทบปีนี้ แต่ปีหน้าจะส่งผลกระทบมากกว่านี้ เพราะจะมีการปรับขึ้นจังหวัดที่เหลืออีก. - สำนักข่าวไทย

 

ที่มา : http://www.mcot.net/cfcustom/cache_page/390557.html



อ่าน : 1868 ครั้ง
วันที่ : 20/07/2012

Contact : V-SERVE GROUP 709/54-55 ถ.สุขุมวิท 77 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง  กทม. 10250 โทรศัพท์. 0 2332 3940-9 โทรสาร. 0 2332 0754
E-mail: tanit@v-servegroup.com