|
||||
|
||||
ปรับค่าแรง 300 บาททำพิษ อัตราคนว่างงานพุ่ง เหตุ SMEs ปิดกิจการ Shareปรับค่าแรง 300 บาททำพิษ อัตราคนว่างงานพุ่ง เหตุตกงานจากโรงงานรายกลาง-เล็ก ขณะที่โรงงานขนาดใหญ่ "ซีพี-ทียูเอฟ-ไทยซัมมิท" พร้อมตั้งโต๊ะรับสมัครกวาดคนเข้าสต๊อก ธุรกิจเอสเอ็มอีโดนหนักปรับตัวไม่ได้ ตามด้วยธุรกิจบริการ-โรงแรม ปลดแรงงานอื้อ ขณะที่อุตฯรถยนต์-โรงงานอาหาร ตีปีกรับประโยชน์ภาษีนิติบุคคลการปรับ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทใน 7 จังหวัดนำร่อง ประกอบด้วยกรุงเทพมหานคร (กทม.) นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ภูเก็ต และนครปฐม ส่วนที่เหลืออีก 69 จังหวัดขึ้นค่าแรงจากเดิมโดยเฉลี่ยอีก 40% ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา แม้จะเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมหลากหลายสาขา โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถแบกรับภาระที่เพิ่มขึ้นได้ แต่สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ต่างขานรับและได้รับประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว เพียงแต่เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพัฒนายกระดับคุณภาพฝีมือแรง งานเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ สอท.หวั่น 300 บ.แค่หนังตัวอย่าง ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าว ว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมของไทย เนื่องจาก 70% ต้องพึ่งพาแรงงานจำนวนมาก ค่าแรงที่ขึ้นจึงทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเฉลี่ย 4.5% ทั้ง ๆ ที่ผลกำไรสุทธิของภาคอุตสาหกรรมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5% เท่านั้น เท่ากับโรงงานถูกบีบให้กำไรเหลือน้อยลง ทั้งนี้ตนยังขอยืนยันข้อมูลจากการศึกษาผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วันล่าสุดว่า กระทบอุตสาหกรรมสิ่งทอ 7%, อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ 8-10%, อุตสาหกรรมเครื่องประดับตกแต่งบ้าน 10%, อุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง 5-6%, อุตสาหกรรมกระเป๋า 4-5%, เครื่องจักร 2% ส่วนอุตสาหกรรมรถยนต์ได้รับผลกระทบต่ำกว่า 1% ขณะที่อุตสาหกรรมบริการ เช่น การขนส่งกระทบ 8%, โรงแรม 12% และบริการอื่น ๆ 15% โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ในอีก 2 ไตรมาส นอกจากนี้ผู้ประกอบ การไทยจะได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างมาก เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่จะเข้ามาแย่งตลาด ได้ จะมีคนเจ็บตัว อย่างไรก็ตาม ทางออกของภาคอุตสาหกรรมยังพอมีอยู่บ้างคือ การปรับระบบสต๊อก ซึ่งถือเป็นวิธีที่แก้ปัญหาต้นทุนเพิ่มค่าแรงได้ดีที่สุด เพราะสต๊อกเป็นต้นทุนราวครึ่งหนึ่งของโลจิสติกส์ โดยปกติต้นทุนโลจิสติกส์คิดเป็น 12% ของต้นทุน หากผู้ประกอบการลดสต๊อกได้ก็เท่ากับลดได้ 6% พอจะแบ่งเบาภาระจากการถูกเพิ่มต้นทุนได้ เนื่องจากเป็น 1 ใน 3 ของการใช้เงินหมุนเวียนในการทำธุรกิจ แต่ตรงนี้ไม่ใช่ทุกโรงงานจะทำได้ เพราะต้องมีซัพพลายเชนที่สนับสนุนได้ทั้งระบบ แต่ใช่ว่าการขึ้นค่า แรงจะมีแต่ผลทางด้านลบทั้งหมด จากกำลังการซื้อของผู้บริโภคที่เป็นแรงงาน 5.5 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นราวปีละ 160,000 ล้านบาท จะผลักดันให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งน่าจะช่วยได้ แต่รัฐต้องเข้าใจว่าต้องให้ผู้ประกอบการขึ้นราคา อย่าไปกดราคาสินค้า "โรงงานผลิตสินค้าจะแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ โรงงานผลิตสินค้าจำหน่ายในประเทศ กับโรงงานผลิตส่งออก ในส่วนแรกการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทจะส่งผลกระทบทันที หากผู้ประกอบการไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้า จากต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้นได้ ในขณะที่โรงงานผลิตส่งออก รายเล็กกับรายกลางโดยเฉพาะอย่างยิ่ง SMEs จะลำบากจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่โรงงานใหญ่ที่มีการบริหารจัดการดี มีสายป่านยาว อาจจะอยู่รอด ด้วยการปรับตัวออกไปตั้งโรงงานในประเทศที่มีค่าแรงถูก แต่ไม่ได้ไปกันได้ทุกโรงงาน เพราะราคาสินค้าส่งออกถูกกำหนดโดยผู้ซื้อต่างประเทศ เนื่องจากการไปเริ่มใหม่ต้องใช้ทุนสูง ต้องรู้จักการถ่ายทอดเทคโนโลยีความรู้ให้แก่แรงงานด้วย ดังนั้นรายใหญ่น่าจะไปได้ แต่ไม่น่าจะถึง 5% แต่การไปแล้วจะกระทบจนถึงขึ้นมีคนตกงานนั้น ผมว่าจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน" อย่าง ไรก็ตาม การขึ้นค่าแรง 300 บาท/วันในขณะนี้ถือเป็น "หนังตัวอย่าง" ที่สำคัญคือค่าจ้างถูกจะไม่มีอีกแล้ว "ผมภาวนาว่ารัฐบาลชุดนี้จะอยู่ครบเทอม เพราะนี่แค่หนังตัวอย่าง หากต้องเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา ก็จะนำประเด็นเรื่องค่าแรง มาหาเสียงและเอาอย่างบ้าง มีการใช้การขึ้นค่าแรงเป็นประเด็นการเมือง ช่วยให้พรรคตนเองชนะ ค่าแรงจะปรับเพิ่มขึ้นอีกซึ่งเป็นการขึ้นค่าแรงที่ผิดกลไก" ดร.ธนิตกล่าว รถยนต์-อาหารดูดแรงงานตกงาน นายถาวร ชลัษเฐียร โฆษกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (TAPMA) และรองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า แม้จะมีภาระเพิ่มขึ้นบ้าง แต่นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะส่งผลดีทำให้บริษัทขนาดใหญ่ได้รับประโยชน์ ไม่เฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เท่านั้น แต่เชื่อว่าจะเป็นเช่นเดียวกันทุกอุตสาหกรรม เนื่องจากมาตรการปรับ ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล หลังขึ้นค่าแรงจะทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ประโยชน์ ภาระการจ่ายภาษีลดลง 7% จาก 30% เหลือ 23% ซึ่งพอแข่งขันได้ในอุตสาหกรรม ขณะที่บริษัทเล็กและ SMEs อาจจะไม่สามารถแข่งขันต่อไปได้ จนไม่มีกำไรในการดำเนินธุรกิจ ผู้ประกอบการรายใหญ่ก็จะได้ประโยชน์จากที่แรงงานบางส่วนเคลื่อนย้ายเข้ามาทำ งานในโรงงานขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นด้วย สอดคล้องกับความเห็นของผู้ประกอบการระดับบริหารในวงการอุตสาหกรรมยาน ยนต์อีกหลายราย ที่มองว่ากลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนคือ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ผู้ผลิตจะต้องพยายามปรับตัวก็คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และหาทางปรับลดค่าใช้จ่าย ขณะที่ค่ายรถยนต์ต่างตอบเป็นเสียงเดียวกัน ว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมยานยนต์จ่ายค่าแรงในอัตราใกล้เคียงหรือมากกว่าค่าแรงขั้น ต่ำที่รัฐบาลประกาศ จึงพร้อมปฏิบัติตามเงื่อนไขของรัฐบาล ในขณะที่ค่ายรถยนต์ต้องการก็คือ การเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพในการทำงานและการดำเนินธุรกิจเพื่อให้ เเข่งขันได้ เช่นเดียวกับมุมมองของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธาน บริษัท ไทยซัมมิท ออโต้ พาร์ท จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ที่ระบุว่า แม้เฉลี่ยแล้วต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้นอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับภาระภาษี เงินได้นิติบุคคลที่รัฐบาลจะปรับลดลงมา แต่เนื่องจากบริษัทได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม การลงทุน (BOI) ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง มองโดยภาพรวมของประเทศแล้ว นโยบายขึ้นค่าแรงจะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจมากกว่า ด้านนายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TUF กล่าวว่า ทุกอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบนี้ เพียงแต่จะมากหรือน้อย ในส่วนของไทยยูเนี่ยนฯ มีต้นทุนจากค่าแรงอยู่ที่ร้อยละ 10 แต่มองว่าเป็นเรื่องดี เพราะในช่วงที่ผ่านมาแรงงานในประเทศขาดแคลน ควรจะต้องบริหารจัดการให้แรงงานมีมูลค่าสูงสุด จะทำให้ค่าแรงอยู่ในระดับต่ำไม่ได้อีกต่อไปแล้ว และต่อจากนี้ไป เมื่อค่าแรงสูงขึ้น สินค้าที่ออกมาจากไลน์การผลิตจะต้องมีคุณภาพสามารถเพิ่มผลผลิต (productivities) อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ผู้ประกอบการเองจะต้องลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรต่าง ๆ ให้ดีขึ้นด้วย นับเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมที่มีความเด็ดขาดดี แต่การบริหารจัดการต้องดีตามด้วย "การปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท ผมไม่กลัวแรงงานขาดแคลน เพราะการปรับขึ้นค่าแรงครั้งนี้ จะเกิดเหตุการณ์ 2 อย่างกับผู้ประกอบการรายเล็กและรายกลางคือ โรงงานขนาดเล็กและขนาดกลางจะต้องควบรวมกิจการเข้าด้วยกันเพื่อความอยู่รอด กับโรงงานบางส่วนที่ไม่สามารถสู้กับต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น จะต้องปิดกิจการ ตรงนี้ถือเป็นโอกาสของโรงงานขนาดใหญ่ที่มีสายป่านยาว มีประสิทธิภาพในการผลิต มีการบริหารจัดการที่ดี พร้อมที่จะรองรับแรงงานเหล่านี้กลับเข้ามายังกระบวนการผลิตอีก นโยบายนี้ถือเป็นการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมโดยตรง ทุกคนจะต้องมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นจึงจะแข่งขันได้ เพราะแรงงานราคาถูกจะไม่มีต่อไปอีกแล้ว" นายธีรพงศ์กล่าว ดร.อาชว์ เตาลานนท์ รองประธานกรรมการเครือเจิญโภคภัณฑ์ (CP) กล่าวว่า แนวโน้มค่าแรงในแต่ละประเทศเพิ่มขึ้นแน่นอน ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย เพียงแต่จะเพิ่มช้าหรือเร็วเท่านั้น การที่รัฐบาลไทยมีมาตรการปรับค่าแรงขึ้น อาจจะทำให้บางธุรกิจมีปัญหา ตอนนี้เรามองเรื่องค่าแรงในมิติเดียว ซึ่งความจริงต้องมองในมิติผู้ใช้แรงงานด้วยว่า ถ้าไม่ปรับแล้วเขาอยู่ได้ไหม ทางออกในภาพรวมก็คือ เมื่อใครประสบปัญหาด้านนี้ต้องหาทางเพิ่มผลผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพ ต้องเอาประสิทธิภาพและผลผลิตเป็นที่ตั้ง ถ้าขีดความสามารถเราดีเราก็พัฒนาได้ พัฒนาเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขัน สร้างแบรนด์ของตัวเอง ไม่ใช่เพียงรับผลิตให้บริษัทต่างชาติ ยกตัวอย่าง ประเทศญี่ปุ่น ไม่มีค่าแรงขั้นต่ำ แต่เพิ่มค่าแรงตามความสามารถและประสิทธิภาพการผลิต ส่วนการเพิ่มค่าแรงของประเทศเพื่อนบ้านก็ต้องดูว่ารายรับรายจ่ายสอดคล้องกัน หรือไม่ ส่วนปรากฏการณ์แรงงานล้นตลาด ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและมีหลายธุรกิจรับไม่ไหวต้องปิดตัวไป CP พร้อมจะรับแรงงานเหล่านี้เข้ามาทำงานตามการขยายธุรกิจและการเติบโตของบริษัท "เราไม่มีนโยบายรับแรงงานเพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐบาลแต่อย่างใด" ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ อ่าน : 2607 ครั้ง วันที่ : 17/04/2012 |
||||
|