นักวิชาการตอกย้ำ ไทยต้องเร่งปรับเปลี่ยนนโยบายด้านการต่างประเทศกับเมียนมาร์ ชี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หลังรัฐบาลทหารยอมผ่อนคลายทางการเมืองมากขึ้น ต้องเตรียมพร้อมหลังชาติตะวันตกการยกเลิกการคว่ำบาตร เกรงคว่ำโอกาสทางการค้าการลงทุนไม่ทันสิงคโปร์-มาเลเซียที่รุกเข้าไปก่อน แล้ว
นายดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงแนวนโยบายด้านการต่างประเทศของไทยที่มีต่อเมียนมาร์ว่า สิ่งที่นักการทูตไทยกำลังวิตกในขณะนี้ก็คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจและอำนาจการต่อรองที่เพิ่มขึ้นในเวทีระหว่างประเทศของ เมียนมาร์ กับปัญหาเรื่องเขตแดนระหว่างไทย-เมียนมาร์ ที่มีความคล้ายคลึงกับปัญหาเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา
ทั้งนี้ การเลือกตั้งซ่อมจำนวน 45 ที่นั่ง เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา โดยมีนางออง ซาน ซู จี ผู้นำพรรคเอ็นแอลดี (NLD) ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยนั้น ถือเป็นความหวังทั้งของนางซู จี และรัฐบาลเมียนมาร์ ที่จะให้ชาติตะวันตก "ผ่อนคลาย" การคว่ำบาตรเมียนมาร์ที่ดำเนินมาอย่างนาน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกระบวนการปรองดองบนเส้นทางประชาธิปไตยแบบที่กองทัพคุม สภาพได้ตาม road map ที่วางเอาไว้
เมื่อสถานการณ์ในเมียนมาร์มี พัฒนาการที่ดีขึ้น ยุทธศาสตร์การทูตของไทยจึงมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง "ขณะนี้นโยบายต่างประเทศของไทยที่มีต่อเมียนมาร์ ผมว่าค่อนข้างมีปัญหา เป็นภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกในการวางตำแหน่งที่เรามีต่อเมียนมาร์ เพราะต้องให้เราสามารถแข่งขันได้ ขณะเดียวกันก็มีความสัมพันธ์ดีกับเมียนมาร์ด้วย"
แต่ในทางกลับกัน ยุทธศาสตร์การทูตของเมียนมาร์กำลังมีความได้เปรียบ เนื่องจากการผ่อนคลายและเปิดกว้างทางการเมืองที่เกิดขึ้น ด้วยการยอมให้นางออง ซาน ซู จี ลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อมเพื่อที่จะเข้ามาทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภานั้น ปรากฏชาติตะวันตกไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ สหภาพยุโรป จีน อินเดีย รัสเซีย และเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นพันธมิตรการทูตที่มาจากหลายขั้วต่างก็ให้การสนับสนุน ซึ่งในจำนวนนี้มีกลุ่มประเทศที่ไทยไม่คุ้นเคยอยู่ด้วย เช่น รัสเซีย เกาหลีเหนือ "ปัญหาก็คือ ไทยมีวงการทูตจำกัดอยู่ในโลกตะวันตกเป็นหลัก เราต้องปรับนโยบายทางการทูตใหม่ แต่การปรับใหม่ต้องขึ้นอยู่กับความมั่นคงทางการเมืองของไทยด้วย"
ส่วน โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึกทวาย ถือเป็นอู่ยุทธศาสตร์ของประเทศไทย เพราะประเทศไทยหาทางออกหรือสายเดินเรือฟากอันดามันมานานแล้ว "ที่ผ่านมาไทยต้องเดินเรือผ่านอ่าวไทย หรือช่องแคบมะละกา ดังนั้นการเกิดขึ้นของโครงการนี้จะเป็นใบเบิกทางสำคัญ หากไทยช้าเรื่องท่าเรือทวายก็จะเสียประโยชน์ แต่ไทยต้องไม่ละเลยว่าไม่ควรพึ่งเมียนมาร์มากเกินไป เผื่อในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น เรื่องเขตแดนที่อาจเป็นปัญหาได้ทุกเมื่อ เราต้องกระจายความสัมพันธ์ไปสู่ประเทศอื่น ๆ ด้วย อย่าไปเทให้เมียนมาร์มาก แต่ก็ทิ้งไม่ได้เช่นกัน"
ด้านนายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และรองประธานสภาธุรกิจไทย-พม่า กล่าวถึงก้าวในความสัมพันธ์ระหว่างไทย-เมียนมาร์ ในจังหวะที่เมียนมาร์เปิดประเทศมากขึ้นว่า ไทยต้องเร่งด้านวิเทศสัมพันธ์ เพราะไทยมีเขตแดนติดเมียนมาร์มากกว่า 2,000 กม. แต่มีการปักปันเขตแดนในสัดส่วนที่น้อยอยู่
นโยบายการต่างประเทศสำคัญ และต้องครอบคลุมเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อย การประสานความร่วมมือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน เนื่องจากขณะนี้นานาชาติต่างต้องการเข้าไปในเมียนมาร์ ทั้งสหภาพยุโรป อเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ชาติอื่น ๆ ในอาเซียน
"ขณะนี้แม้ ว่าไทยจะมีตัวเลขการเข้าไปลงทุนในเมียนมาร์สูง เพราะเราลงทุนในด้านพลังงานและแก๊สเป็นหลัก แต่ในความเป็นจริงเราเป็นรองสิงคโปร์และมาเลเซียอยู่มาก สิงคโปร์เข้าไปสร้างท่าเรือทิวาลาในย่างกุ้ง ส่วนมาเลเซียเข้าไปสร้างโรงงานแปรรูปอาหารในเมืองมะริดแล้ว" นายธนิตกล่าว
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลล่าสุดจากสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมเมียนมาร์พบว่า ประเทศไทยมีการลงทุนในเมียนมาร์เป็นอันดับ 2 ของมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) หรือคิดเป็นมูลค่า 9,568.09 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่สิงคโปร์อยู่อันดับ 6 มูลค่า 1,818.61 ล้านเหรียญสหรัฐ และมาเลเซียอยู่ในอันดับ 7 มูลค่า 977.46 ล้านเหรียญสหรัฐ
ที่มา : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1334049292&grpid=09&catid=&subcatid=