เอกชนจี้ปรับโครงสร้างประเทศลดขัดแย้งภายในก่อนรีแบรนด์ Share





กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2555
ส.อ.ท.เสนอรัฐปรับโครงสร้างประเทศก่อนรีแบรนด์
ยกระดับการท่องเที่ยว การลงทุนและสินค้าไทย แนะสร้างความปรองดอง
ลดขัดแย้งทางการเมือง ย้ำการรีแบรนด์ไม่ใช่แค่การโฆษณา
ควรดึงทุกภาคส่วนของสังคมเข้าร่วม นักโฆษณาจี้แก้ปัญหา ขัดแย้ง-คอร์รัปชัน
ก่อนใช้งบรีแบรนด์ประเทศ แนะยกเครื่องการสร้างแบรนด์ แบบบูรณาการสื่อสารทุกหน่วยงาน
ชูจุดเด่นทรัพยากร-บุคลากรความสามารถสูง
นายธนิต โสรัตน์
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า
ภาคเอกชนเห็นด้วยกับการรีแบรนด์ประเทศไทย แต่ต้องกำหนดประเด็นให้ชัดเจน
ต้องมีแผนปรับปรุงส่วนต่างๆ ของประเทศ การรีแบรนด์ไม่ใช่การโฆษณาอย่างเดียว
ถ้าไม่ปรับปรุงโครงสร้างภายในประเทศจะทำให้มีผลระยะสั้น
รัฐบาลจะเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์
ขณะนี้รัฐบาลเริ่มมีแผนลงทุนเพื่อรองรับการบริหารจัดการน้ำแล้ว 3.5 แสนล้านบาท
แต่ต้องปรับส่วนอื่นๆ ทั้งประเทศจึงจะทำให้ต่างชาติเชื่อมั่นแบรนด์ใหม่

แนะรีแบรนด์ควรมอง 4 ด้าน

การปรับโครงสร้างเพื่อรีแบรนด์ประเทศควรมอง 4 ด้าน คือ
1.ด้านการท่องเที่ยวต้องฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวที่เสื่อมโทรม
ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวเพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ
2.การลงทุนต้องปรับสิทธิประโยชน์ให้จูงใจกำหนดแนวทางส่งเสริมให้ชัดเจน
กำหนดประเภทกิจการที่จะส่งเสริมให้ชัด
และส่งเสริมการลงทุนกิจการที่จะทำให้อุตสาหกรรมไทยพัฒนาอย่างยั่งยืน
3.ส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าไทย ตราสัญลักษณ์ไทยแลนด์แบรนด์ของกระทรวงพาณิชย์
ควรส่งเสริมให้เป็นที่รู้จัก
รู้กันเฉพาะผู้ให้กับผู้รับตราไทยแลนด์แบรนด์ก็ไร้ประโยชน์
อาจต้องแบ่งระดับตราไทยแลนด์แบรนด์เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการพัฒนาสินค้าให้ดีขึ้น
กำหนดให้ตรวจสอบคุณภาพทุกๆ 2 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการรักษามาตรฐานไว้

4.การสร้างความปรองดองและความสงบในประเทศ
ที่ผ่านมาไทยมีภาพลักษณ์การเมืองที่ขัดแย้ง มีการชุมนุมที่รุนแรง เช่น
การเผาอาคารในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด การวางระเบิดทั้งในกรุงเทพฯ
และจังหวัดชายแดนใต้
ถ้าไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ก็เป็นเรื่องยากที่จะเชื่อแบรนด์ประเทศไทย
ความขัดแย้งในประเทศต้องปรองดองที่แท้จริง
เหมือนพม่าสร้างความปรองดองระหว่างกลุ่มต่างๆ ทำให้ต่างชาติเชื่อมั่นพม่ามากขึ้น

นายธนิต กล่าวว่า
ในเอเชียมีหลายประเทศที่พัฒนาแบรนด์ประเทศให้เป็นที่รู้จัก
อย่างมาเลเซียสร้างภาพลักษณ์ให้ต่างชาติเห็นทั้งการท่องเที่ยวและการลงทุน
โดยส่งเสริมภาพลักษณ์แหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เพื่อให้แข่งขันกับประเทศอื่นในเอเชียได้
เช่น แหล่งท่องเที่ยวทางทะเล
รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์การเป็นแหล่งรองรับการลงทุนสินค้าที่มีเทคโนโลยี
ต้องการเป็นฐานการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของโลกและสร้างแบรนด์รถยนต์ของมาเลเซียให้ต่างชาติเห็นศักยภาพของประเทศในการเป็นฐานการผลิตสินค้าเทคโนโลยี

เตือนรัฐไม่ใช่แค่การโฆษณา
นายวัลลภ วิตนากร
รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า
การรีแบรนด์ประเทศเป็นเรื่องใหญ่ ต้องร่วมแรงร่วมใจทั้งประเทศ
เมื่อมีแผนงานออกมาแล้วส่วนสำคัญอยู่ที่การทำให้ต่างชาติเชื่อ
การรีแบรนด์ไม่ใช่การโฆษณาแต่เป็นการพัฒนาหรือแก้ปัญหาให้ดีขึ้น
รัฐบาลต้องกำหนดแผนแม่บทด้านต่างๆ ที่จะยกระดับให้ดีขึ้น
ดำเนินการให้เห็นผลก่อนจะประชาสัมพันธ์ออกไป
ส่วนเอกชนจะเริ่มตั้งแต่การปรับโครงสร้างภายในองค์กร
เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น
การยกระดับผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น
การผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การสร้างนวัตกรรมใหม่

ก่อนจะกำหนดแผนแม่บทต้องรู้ว่าภาพลักษณ์ประเทศไทยที่ไม่ดีในสายตาต่างชาติอยู่ที่ไหน
ที่ผ่านมาต่างชาติมองเห็นปัญหาการเมืองขัดแย้งกัน ความไม่สงบในประเทศ การคอร์รัปชัน
การก่อการร้ายและการเป็นแหล่งฟอกเงิน
ซึ่งภาพลักษณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการกล่าวหาของต่างชาติ
แต่เป็นปัญหาที่เกิดจากโครงสร้างภายในที่มีปัญหาจริง
การรีแบรนด์ต้องเริ่มจากการปรับโครงสร้างส่วนต่างๆ ของสังคมให้ดีขึ้น
ถ้าแก้ปัญหาให้ความขัดแย้งทางการเมืองลดลง
เกิดความปรองดองจะทำให้ภาพลักษณ์ประเทศดีขึ้นเอง
การรีแบรนด์ประเทศเป็นเรื่องระยะยาว ต้องใช้เวลาเปลี่ยนความเชื่อของคน

นักโฆษณาจี้ลดขัดแย้ง-คอร์รัปชัน
นายพจน์ ใจชาญสุขกิจ
นายกสมาคมประชาสัมพันธ์ไทย กล่าวว่า นโยบายสร้างแบรนด์ประเทศไทยของรัฐบาล
จะต้องเริ่มที่การแก้ปัญหาภายในประเทศเป็นลำดับแรก ซึ่งพบว่าเรื่องหลักๆ
ที่กระทบต่อความเชื่อมั่นประเทศไทย คือ ความขัดแย้งทางการเมือง
ที่ยังพบความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ในขณะนี้,
ภัยก่อการร้ายที่ขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น, การรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ อย่างรวดเร็ว
และการสร้างความพร้อมในการลงทุนระดับโลก ไม่เฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียนเท่านั้น

รัฐบาลจะต้องรณรงค์แคมเปญการสื่อสาร
เรื่องการสร้างความปรองดองในประเทศ
เพื่อให้ทุกคนยึดหลักผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นตัวนำ
ไม่ใช่ยึดหลักผลประโยชน์ส่วนบุคคล เมื่อคนในประเทศพร้อมที่จะปรองดอง ลดความขัดแย้ง
จึงมุ่งสื่อสารกับต่างชาติเพื่อเรียกความเชื่อมั่นประเทศไทยกลับมาอีกครั้ง นายพจน์
กล่าว
ทั้งนี้ การกำหนดแผนการสื่อสารผ่านการสร้างแบรนด์ประเทศไทย
จะต้องวิจัยและสำรวจทั้งคนไทยและต่างประเทศ ถึงความต้องการต่างๆ จากประเทศไทย
เพื่อใช้เป็นข้อมูลกำหนดตำแหน่งการแข่งขัน
ให้ประเทศไทยใหม่
จี้รัฐเร่งแก้ขัดแย้ง-คอร์รัปชัน

นายปารเมศร์ รัชไชยบุญ ประธานกิตติมศักดิ์ สมาคมโฆษณาธุรกิจประเทศไทย
กล่าวว่า หลังจากไทย ตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองนับตั้งแต่ปี 2549
ถึงปัจจุบันสถานการณ์การแตกแยกทางความคิด ยังเป็นปัญหาหลัก
ส่งผลต่อศักยภาพทางการแข่งขันในด้านต่างๆ ของประเทศ
ที่ผ่านมารัฐบาลทุกชุดที่เข้ามาบริหารประเทศนับตั้งแต่ปี 2549
มีความคิดเรื่องการทำแผน รีแบรนด์ ประเทศทั้งสิ้น

นอกจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ฝังรากลึกในสังคม
ยังมีปัญหาด้านคอร์รัปชันที่ยังไม่มีท่าทีดีขึ้น
ปลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยยังเผชิญปัญหาน้ำท่วมใหญ่
ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศ และล่าสุดการปรับขึ้นค่าแรง 40%
กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ทำให้ภาคการผลิตของไทยต้นทุนสูงขึ้น
ทั้งหมดล้วนเป็นปัญหาบั่นทอนศักยภาพการแข่งขันประเทศไทยทั้งสิ้น

ดังนั้น ก่อนที่รัฐบาลจะเริ่มนโยบายรีแบรนด์ประเทศไทย
ต้องสำรวจแบรนด์ประเทศไทย (Brand Health Check) เป็นลำดับแรกว่า ในสายตาต่างประเทศ
ทั้งกลุ่มนักลงทุนและทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้อง มองแบรนด์ประเทศไทยอย่างไร
ต้องเปรียบเทียบศักยภาพการแข่งขันของประเทศกับประเทศคู่แข่งทุกด้าน
เพื่อหาจุดเด่นของไทยที่จะสร้างภาพลักษณ์ในสายตานักลงทุนต่างชาติ

หลังจากได้ข้อมูลครบทุกด้านแล้ว จึงเริ่มกระบวนการกำหนดตำแหน่ง
(Positioning) ประเทศไทยว่าจะส่งเสริมภาพลักษณ์ผ่านการรีแบรนดิ้งไปในทิศทางใด
โดยประชาชนในประเทศต้องให้ความร่วมมือด้วย เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ จับต้อง ได้จริง
ไม่ใช่เพียงการใช้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์เท่านั้น
แนะแก้
ต้นตอปัญหา แทนรีแบรนด์
นายสรณ์ จงศรีจันทร์
ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กลุ่มบริษัท ยังก์แอนด์รูบิแคม แบรนด์ เอเยนซีโฆษณา
และนักการตลาด กล่าวว่า การรีแบรนด์ประเทศไทย
อาจไม่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาของประเทศนัก
เนื่องจากเป็นการไปแก้ไขที่ปลายน้ำด้วยการใช้เงินจำนวนมหาศาล
แต่ควรนำงบดังกล่าวมาแก้ไขที่ต้นตอปัญหา
โดยเฉพาะปัจจัยการเมือง ภัยธรรมชาติ ตลอดจนภัยก่อการร้าย
รวมทั้งปัญหาเรื่องปากท้องหรือส่งเสริมนโยบายการลงทุนอื่นๆ จะดีกว่า
เพราะแบรนด์จะสร้างขึ้นได้ต้องมีสินค้าที่ดี
ซึ่งในบริบทนี้ก็คือนโยบายแก้ไขปัญหาฐานรากของประเทศนั่นเอง

แบรนด์จะสร้างขึ้นได้ต้องมีสินค้าที่ดี
คือนโยบายแก้ไขปัญหาฐานรากของประเทศ


อ่าน : 2242 ครั้ง
วันที่ : 12/04/2012

Contact : V-SERVE GROUP 709/54-55 ถ.สุขุมวิท 77 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง  กทม. 10250 โทรศัพท์. 0 2332 3940-9 โทรสาร. 0 2332 0754
E-mail: tanit@v-servegroup.com