|
การเลือกตั้งซ่อมในวันที่ 1 เมษายน ได้กลายเป็น "หมุดหมาย" สำคัญบนเส้นทางสู่ระบอบประชาธิปไตยของสหภาพเมียนมาร์ เมื่อ นางออง ซาน ซู จี ตัดสินใจทางการเมืองครั้งสำคัญลงสมัครรับเลือกตั้ง ท่ามกลางความเชื่อของทั้งอาเซียนและชาติตะวันตกที่ว่า เมียนมาร์กำลังเปิดประเทศด้วยการผ่อนคลายทางการเมือง เอื้อต่อบรรยากาศการค้าและการลงทุนที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้า
และเพื่อทำความเข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายในเมียนมาร์ เพื่อนบ้านที่มีแนวพรมแดนติดต่อกับประเทศไทยนับ 1,000 กม. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้จัดสัมมนา "เปิดเส้นทางสู่พม่า โอกาสใหม่ของธุรกิจไทย" มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
ยุทธศาสตร์ไทยกับทวาย
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ฉายภาพถึง "ยุทธศาสตร์ประเทศไทยกับโครงการทวาย" ว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เมียนมาร์และโครงการทวายถือว่า "ฮอต" มาต่อเนื่อง แม้ว่าระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานจะยังไม่สมบูรณ์นัก แต่เชื่อว่าต่อจากนี้ไปเศรษฐกิจของเมียนมาร์จะขยายตัวอีกร้อยละ 4-5 และในอนาคตมีโอกาสขยายตัวถึงร้อยละ 10 ปัจจุบันเมียนมาร์มีการส่งออกมาไทยมากถึงร้อยละ 40 ในรูปของก๊าซธรรมชาติ ในขณะเดียวกันก็นำเข้าสินค้าจากประเทศจีนมากที่สุด เพราะสินค้าราคาถูก
ในปี 2558 หลังการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC เมียนมาร์ยิ่งต้องพัฒนาหลายด้าน เช่น สร้างท่าเรือด้านใต้ของประเทศ การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่เน้นไปที่อุตสาหกรรมต้นน้ำ และเมื่อมีท่าเรือทวายแล้วประเทศไทยสามารถใช้ศักยภาพนี้ส่งสินค้าไปยังยุโรป ลดการพึ่งพาท่าเรือสิงคโปร์ที่เริ่มแออัดและมีปัญหาโจรสลัด โดยสภาพัฒน์มองว่า การส่งสินค้าออกผ่านท่าเรือทวายจะช่วยเพิ่ม GDP ของไทยให้โตขึ้นถึงร้อยละ 2
"สิ่งที่เราต้องทำเร่งด่วนคือ การปรับด่านพุน้ำร้อนให้สามารถขนส่งสินค้าได้ชั่วคราวก่อน ต่อจากนั้นต้องหาข้อยุติเรื่องการแบ่งเขตแดนไทย-พม่า ส่วนในระยะกลาง-ยาว ต้องมีการสร้างถนนเชื่อม 2 ประเทศ รวมไปถึงการพัฒนาด่านพุน้ำร้อนให้เป็นด่านถาวร ศึกษาโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาจังหวัดกาญจนบุรีให้สอดรับกับการลงทุน คาดว่าอุตสาหกรรมเหล็ก ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถยนต์ จะเกิดขึ้นในทวายแน่นอน"
ด้าน ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทวาย ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด ผู้บริหารโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึกทวาย มูลค่า 400,000 ล้านบาท กล่าวว่า
เมียนมาร์กำลังให้ความสำคัญกับการสร้างเมืองใหม่ รวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมถือเป็นเรื่องใหญ่ด้วย สิ่งที่นักลงทุนจะต้องมองก่อนเข้าไปลงทุนก็คือ กฎระเบียบต่าง ๆ อย่างกรณีทวายจะตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นมา
ไทย-เมียนมาร์ต้องเติบโตร่วมกัน
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มองว่า เมียนมาร์ได้เข้ามาเสริมรอยต่อของประเทศไทยในเรื่องของ 1) ปัญหาแรงงานไทยในภาวะติดลบ เพราะเมียนมาร์มีแรงงานที่พร้อมเข้าระบบอีกไม่ต่ำกว่า 30 ล้านคน 2) ที่ดินสำหรับรองรับอุตสาหกรรม เพราะไทยมีปัญหากับชุมชนรอบข้างอุตสาหกรรมในประเด็นสิ่งแวดล้อม 3) มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยที่สูงเทียบเท่ากับกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ได้กลายเป็นอุปสรรคให้กับการลงทุนในอุตสาหกรรมรองเท้า-
สิ่งทอ-อาหาร-ประมง และการเกษตร สามารถเคลื่อนย้ายเข้าไปลงทุนในเมียนมาร์ได้ ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่สูงมากนัก "หากจะลงทุนในพม่า การเมืองเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม อย่าไปตามกระแส ต้องศึกษาข้อกฎหมายอย่างละเอียด ต้องมองว่าเรามีจุดแข็งหรือไม่ด้านใด การมี partner ที่ดีมีความจำเป็น ที่สำคัญอย่าคิดไปเอาเปรียบเมียนมาร์"
นางโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ได้เล่าประสบการณ์ของบริษัทว่า เริ่มเข้าไปทำธุรกิจแบบซื้อมาขายไป (trading) ในเรื่องของสายส่ง สถานีไฟฟ้า แต่บริษัทมีพันธมิตรทางธุรกิจที่ดี ทำให้บริษัทกันกุลเอ็นจิเนียริ่ง ติด 1 ใน 5 ของการขายระบบไฟฟ้าให้เมียนมาร์ จนกระทั่งบริษัทมีโอกาสเข้าร่วมประมูลในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ซึ่งจากโครงการนี้จะนำไฟฟ้ากลับมาใช้ในประเทศไทยด้วย ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนต้องเตรียมความพร้อมไว้ก่อน เมื่อเมียนมาร์เปิดประเทศ ทุกอย่างจะ "ก้าวเร็ว" ยิ่งขึ้น ฉะนั้นหลังการเลือกตั้งนักลงทุนต้องพร้อม
นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวถึงการเข้าไปลงทุนใน
เมียนมาร์ว่า มาจากทรัพยากรธรรมชาติทั้งก๊าซและน้ำมัน ประกอบกับช่วงนั้นเมียนมาร์มีความต้องการการลงทุนจากภายนอก ปตท.สผ.จึงเข้าไปเจรจาเพื่อขอซื้อก๊าซ โดยจับมือไปกับบริษัทโททาล (TOTAL) ต้องสร้างความมั่นใจในแง่ของประโยชน์ทั้งที่ไทยและเมียนมาร์จะได้รับ ล่าสุด ปตท.สผ.ยังได้สัมปทานบนบกผ่านการประมูลและชนะได้มาถึง 2 แปลง เหตุผลที่ชนะก็คือ ปตท.สผ.มี local partner และมีการตอบแทนภาคสังคมให้กับเมียนมาร์มาอย่างต่อเนื่อง
"ประเทศไทยนั้นได้เปรียบและค่อนข้างมีโอกาส เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ แต่รัฐบาลควรมีบทบาทในการผลักดันให้มากกว่านี้ ควรพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะเชื่อมไทยรวมเข้ากับกลุ่มอินโดไชน่า และไทยจะเป็นตัวเหนี่ยวนำเศรษฐกิจเมียนมาร์ให้เติบโตเร็วขึ้น ช่วยปิดช่องว่างความรวยความจน ต้องมองความได้เปรียบให้เป็น และทำให้เมียนมาร์เจริญเติบโตควบคู่ไปกับไทย"
การปฏิรูปเงินจ๊าตสู่สากล
นายโมว เตต เลขาธิการสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมในเมียนมาร์ กล่าวแนะนักลงทุนไทยว่า ควรมุ่งไปที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจโรงแรม ส่วนด้านการเกษตร แนะนำให้นักลงทุนไทยพุ่งความสนใจไปทางตอนใต้ของเมียนมาร์ เพราะมีที่ดินขนาดใหญ่เหมาะแก่การลงทุน โดยเฉพาะน้ำมันปาล์ม นอกจากนี้อุตสาหกรรมอาหารก็เป็นที่ต้องการของเมียนมาร์มาก จากปัจจุบันที่มีการนำเข้าสินค้าประเภทนี้จากประเทศไทยอยู่แล้ว "ไทยเข้ามาลงทุนในเมียนมาร์มากเป็นอันดับ 2 รองจากจีน ในขณะที่เราโดนชาติตะวันตกแซงก์ชั่น ไทยกับจีนก็ยังคงอยู่กับเรา ตรงนี้ชัดเจนว่าเมียนมาร์วางไทยอยู่ในตำแหน่งคู่ค้าที่ดี เราหวังที่จะเพิ่มการให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุนไทยเพิ่มขึ้น"
ด้าน นายออง ซู ผู้อำนวยการแผนกการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงการปฏิรูปค่าเงินจ๊าต ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 เมษายนว่า ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมากของ
เมียนมาร์ เนื่องจากเมียนมาร์ถูกแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจหลายประการ ดังนั้น นโยบายทางการค้าจึงสำคัญอย่างยิ่งต่อการอยู่รอดของประเทศ ที่ผ่านมาเมียนมาร์อยู่รอดได้เพราะการค้าชายแดน จึงต้องขอขอบคุณเพื่อนบ้านอย่างจีน อินเดีย และประเทศไทย
"ที่ผ่านมาเรามีอัตราแลกเปลี่ยนถึง 2-3 อัตรา รัฐบาลจึงมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงด้านค่าเงิน เราร่วมมือกับ IMF ถึงที่สุดเมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบจัดการได้ในเมียนมาร์ โดยธนาคารกลางจะเป็นผู้ดูแลระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบใหม่ นี่เป็นข่าวดีที่ทุกฝ่ายรอคอย"
ที่มา : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1333338004&grpid=no&catid=04&subcatid=