เอกชนเห็นโอกาสลงทุนในพม่า หลังเลือกตั้งซ่อม-ปฏิรูปการเมือง-เปิดประตูพัฒนาปท. Share


นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวในงานสัมนา"เปิดเส้นทางสู่พม่าโอกาสใหม่ของธุรกิจไทย"ว่า การเข้าลงทุนในประเทศพม่าถือเป็นช่วงรอยต่อของธุรกิจไทยที่ไทยกำลังขาดแคลนแรงงาน และการใช้พม่าเป็นฐานการส่งออกจากที่ไทยถูกตัดสิทธิจีเอสพี โดยอุตสาหกรรมที่เหมาะเข้าไปลงทุนจะต้องเป็นสินค้าราคาไม่สูงได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม, รองเท้า, อาหาร ด้านการเกษตร

อย่างไรก็ตาม ไม่ควรลงทุนตามกระแส แต่ต้องพิจารณาถึงกฎหมายการลงทุน อัตราแลกเปลี่ยน โครงสร้างพื้นฐาน และที่สำคัญเรื่องการเมืองในพม่า

นายธนิต มองว่า การเมืองจะไม่เปลี่ยนกลับไปเหมือนเดิม และการเลือกตั้งซ่อมคาดว่าพรรคของนางอองซาน ซูจีจะเป็นผู้ชนะ แต่จะได้ไปเพียง 40 กว่าที่นั่ง ซึ่งกว่า 80% ของที่นั่งในรัฐสภาก็ยังอยู่ในความควบคุมของรัฐบาลทหารพม่า

"การเลือกตั้งในวันที่ 1 เมษายนส่งผลดีต่อโครงการทวาย เพราะตอนนี้พม่าถูก sanction คิดว่าจะยกเลิกได้ในปีหน้า เพราะหากไม่ถูกเลิกในปีหน้าการพัฒนาก็ยากลำบาก...เพราะว่าทวายเกิดบนสมมติฐานว่าต้องยกเลิก sanction" นายธนิต กล่าว

นายอาคม เติมวิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ประเมินการเติบโตเศรษฐกิจของพม่าหลังจากเปิดประเทศจะโตได้ 7-8% หรืออาจจะมากกว่า 10% จากที่เติบโตปีละ 4-5% และยิ่งทำให้การพัฒนาการเมืองเห็นเป็นรูปธรรมตามที่ประกาศก่อนหน้า ซึ่งจะทำให้มีการลงทุนในพม่าอย่างชัดเจนและเพิ่มขึ้น และจะกลายเป็นประเทศที่มีแต้มต่อในกลุ่มประเทศอาเซียนจากการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน(AEC)

นอกจากนี้ โอกาสการค้าชายแดนไทย-พม่ายิ่งมีสูงขึ้น และโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายที่ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเม้นท์ (ITD) ได้สิทธิในการดำเนินการผ่านบริษัททวาย ดีเวลลอปเม้นท์ (DCC) จะมีนักลงทุนเข้ามาจำนวนมหาศาล ทั้งนี้รัฐบาลไทยควรเร่งจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมต่อไปพม่าที่จะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทยกับพม่า เช่น ถนน, รถไฟ เป็นต้น

ที่ผ่านมา ไทยมีมูลค่าการค้าชายแดนกับพม่าใหญ่เป็นอันดับสอง ขณะที่พม่าส่งออกมาไทยคิดเป็นสัดส่วนราว 40% ส่วนใหญ่เป็นก๊าซธรรมชาติ แต่จะนำเข้าสินค้าจากจีนมากที่สุด เพราะมีราคาถูก ส่วนของไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ

ด้านนายสุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์ คาดว่าพม่าจะไม่กลับไปใช้การปกครองแบบเก่า และคาดว่าการเลือกตั้งซ่อมในวันที่ 1เม.ย.นี้จะช่วยเพิ่มช่วยเสริมความมั่นคงทางการเมือง เพราะแม้พรรคของนางอองซานซูจีจะชนะแต่ก็ได้ที่นั่งจำนวนน้อยเพียง 48 ที่นั่ง ประกอบกับรัฐบาลพม่าเริ่มเห็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่เป็นปัจจัยอยู่รอดและพัฒนาประเทศ

"เชื่อว่าโอกาสย้อนกลับไปคงยาก เพราะได้เดินทางมาไกลพอสมควร และความมั่นคงทางเศรษฐกิจก็จะยิ่งมีความสำคัญและมีสัดส่วนมากขึ้น" นายสุเนตร กล่าว

น.ส.ทธาภา อมรวิวัฒน์ Chief Economist และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) กล่าวว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศพม่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในหลากหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเสรีการค้าการลงทุนและเพิ่มสิทธิพิเศษด้านภาษีให้แก่นักลงทุนต่างชาติ การปฏิรูประบบการเงินการธนาคารและสกุลเงินจ๊าดเพื่อมุ่งไปสู่ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว(Managed Float) การปรับปรุงตัวบทกฎหมายต่างๆ ให้มีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น หรือแม้แต่การเลือกตั้งซ่อมที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ซึ่งนับเป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่และมีส่วนช่วยให้ภาพลักษณ์ของพม่าในสายตาของนานาชาติปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ รวมทั้งทำให้พม่ากลายเป็นตลาดที่มีความโดดเด่นและได้รับความสนใจจากทั่วโลกมากขึ้น

ในแง่โอกาสสำหรับธุรกิจไทยนั้น พม่ายังเป็นประเทศที่ร่ำรวยไปด้วยทรัพยากรธรรมชาตินานาชนิด มีตลาดแรงงานราคาถูกจำนวนมาก และเป็นฐานตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่มีความน่าสนใจและมีศักยภาพในการเติบโตสูงในอนาคต ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เปรียบเสมือนแม่เหล็กดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้เป็นอย่างดี สะท้อนได้จากเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI) ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้ การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายซึ่งในอนาคตจะกลายเป็นเส้นทางเดินเรือและจุดยุทธศาสตร์สำคัญด้าน Logistics ของภูมิภาคอาเซียนและของโลก ก็เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่รัฐบาลไทยและพม่าให้ความสำคัญและมีศักยภาพที่จะเปิดโอกาสทางธุรกิจให้แก่ภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ และทำให้พม่าเป็นตลาดใหม่ที่นักลงทุนไทยจะต้องเร่งศึกษาและทำความเข้าใจเชิงลึกถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที

 



อ่าน : 2134 ครั้ง
วันที่ : 30/03/2012

Contact : V-SERVE GROUP 709/54-55 ถ.สุขุมวิท 77 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง  กทม. 10250 โทรศัพท์. 0 2332 3940-9 โทรสาร. 0 2332 0754
E-mail: tanit@v-servegroup.com