พม่าเปิดประเทศ แรงงานกลับบ้าน จุดเริ่มต้นไทยเข้ายุค..ขาดแคลน Share


 "ช่วงนี้ผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่างเร่งลงทุนจำนวนมาก เพราะเห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศเริ่มดีขึ้น  และภาครัฐเองก็ออกมาสร้างความมั่นใจจะไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมขึ้นอีก ทำให้ผู้ประกอบการกลับมาลงทุนใหม่อีกครั้ง และคนที่อยากซ่อมบ้านก็เร่งซ่อมบ้านใหม่ แต่กลับเจอปัญหาแรงงานมีไม่เพียงพอ หากประเทศพม่าเปิดประเทศเต็มที่ ประเทศไทยอาจต้องเจอปัญหาแรงงานขาดอย่างหนัก"
 

    หลังจากวิกฤติน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา หลายหน่วยงานออกมาแสดงความเป็นห่วงว่าพนักงานที่ทำงานอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมอาจถูกลอยแพ เพราะหลังน้ำลดโรงงานที่ถูกน้ำท่วมก็ต้องทำการปรับปรุงโรงงานกว่าจะปรับปรุงโรงงานแล้วเสร็จ เรียกพนักงานกลับเข้ามาทำงานได้ คงต้องใช้ระยะเวลาพักใหญ่ และเนื่องจากมีโรงงานบางแห่งอาจต้องปิดกิจการ เพราะเงินไม่หนาพอที่จะกลับมาฟื้นฟูโรงงาน และบางแห่งก็อาจจะถูกย้ายฐานการผลิตไปที่อื่น
    ล้วนเป็นสิ่งที่น่ากลัวหลังน้ำลด
    แต่หลังจากสถานการณ์น้ำท่วมได้คลี่คลายกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ สิ่งที่หวั่นเกรงว่าจะเกิดขึ้นกับบรรดาแรงงานทั้งไทยและต่างด้าวกลับเปลี่ยนไป จากที่กลัวว่าแรงงานจะตกงาน ตอนนี้กลับกลายเป็นว่าแรงงานไม่เพียงพอกับความต้องการของบรรดาผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรม หรือธุรกิจก่อสร้าง ซึ่งต่างต้องใช้แรงงานคนเป็นหลัก 
    ยิ่งแรงงานไทยไม่ต้องพูดถึง เพราะแทบไม่มีให้เห็นแล้ว ยิ่งพืชผลทางการเกษตรมีราคาสูงขึ้น แรงงานต่างจังหวัดที่เคยทิ้งบ้านเรือนมาขายแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม หรือสถานที่ก่อสร้าง ต่างปรับแผนขอไปทำไร่ทำนา เนื่องจากได้ผลตอบแทนสูงกว่า
    ด้วยเหตุนี้ หลายธุรกิจจึงหันไปใช้แรงงานต่างด้าวที่มาจากพม่า กัมพูชา หรือลาว แต่ด้วยเหตุน้ำท่วมที่เกิดขึ้น ประกอบกับประเทศไทยมีความเข้มงวดในการตรวจสอบสัญชาติ จึงทำให้แรงงานต่างด้าวส่วนหนึ่งหนีกลับประเทศตัวเอง
    นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ และผู้จัดการ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การขาดแคลนแรงงานต่างด้าวในช่วงนี้ น่าจะเป็นเพียงแค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ โดยเฉพาะแรงงานจากประเทศพม่า เพราะการเข้ามาขายแรงงานในไทย มีรายได้ดีกว่าการขายแรงงานในประเทศตัวเองในช่วงนี้
    สาเหตุที่พม่าเดินทางกลับประเทศเป็นจำนวนมากในช่วงนี้ ส่วนหนึ่งต่อเนื่องมาจากน้ำท่วมช่วงปลายปีที่ผ่านมา และมีกระแสข่าวออกมาว่าจะเกิดน้ำท่วมใหญ่กับประเทศไทยอีกครั้ง นอกจากนี้ ยังมีกระแสข่าวว่าประเทศไทยจะเกิดสึนามิ จึงทำให้แรงงานพม่าเดินทางกลับบ้าน
    "พม่ามีความเชื่อเรื่องพายุ เพราะก่อนหน้านี้มีพายุพัดเข้าถล่มเมืองอิระวดี ทำให้ประชาชนพม่าล้มตายเป็นจำนวนมาก พ่อแม่ของแรงงานพม่าที่เข้ามาใช้แรงงานในไทย จึงเรียกลูกหลานให้กลับบ้านไปก่อน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการพิสูจน์สัญชาติที่แรงงานพม่ากลัวเรื่องนี้มาก โดยเฉพาะแรงงานที่เข้ามาแบบผิดกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ แรงงานส่วนหนึ่งจึงต้องเดินทางกลับประเทศ เพื่อไปพิสูจน์สัญชาติที่ชายแดนให้ถูกต้องตามกฎหมายก่อนเข้ามาทำงานในประเทศไทย"
    สิ่งที่รัฐบาลควรทำในขณะนี้คือ การสร้างความเชื่อมั่นในด้านของการป้องกันปัญหาน้ำท่วม และกล้าที่จะออกมารับประกันว่าปีนี้จะไม่เกิดน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทยอีก เพราะการออกมาประกาศดังกล่าว นอกจากจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนแล้ว ยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับบรรดาแรงงานต่างด้างด้วย
    กลุ่มธุรกิจที่เริ่มได้รับผลกระทบจากปัญหาแรงงานขาดแคลน ก็คือ อสังหาริมทรัพย์ เพราะบ้านแต่ละหลังกว่าจะสร้างเสร็จต้องเกิดจากแรงงานคน ซึ่งหลังจากแรงงานพม่าเลือกที่จะเดินทางกลับประเทศ ผลกระทบก็เริ่มส่งสัญญาณถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์     
    นายกิตติพล ปราโมช ณ อยุธยา นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ขณะนี้ตลาดอสังหาริมทรัพย์กำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานสำหรับก่อสร้างบ้าน และซ่อมแซมบ้านเรือนอย่างมาก ทำให้งานก่อสร้างบ้านในโครงการต่างๆ เริ่มมีความล่าช้าจากกำหนดไปประมาณ 1-2 เดือน
    สาเหตุหลักมาจากแรงงานก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นคนต่างประเทศ  โดยเฉพาะแรงงานจากพม่าที่มีการเข้ามาขายแรงงานมากที่สุด และเมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วมแรงงานก็เดินทางกลับบ้าน ประกอบกับเมื่อพม่าเปิดประเทศมากขึ้น แรงงานจึงเลือกที่จะทำงานบ้าน และไม่กลับเข้ามาทำงานในไทยอีก 
    "ช่วงนี้ผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่างเร่งลงทุนจำนวนมาก เพราะเห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศเริ่มดีขึ้น  และภาครัฐเองก็ออกมาสร้างความมั่นใจจะไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมขึ้นอีก ทำให้ผู้ประกอบการกลับมาลงทุนใหม่อีกครั้ง และคนที่อยากซ่อมบ้านก็เร่งซ่อมบ้านใหม่ แต่กลับเจอปัญหาแรงงานมีไม่เพียงพอ หากประเทศพม่าเปิดประเทศเต็มที่ ประเทศไทยอาจต้องเจอปัญหาแรงงานขาดอย่างหนัก"
    ขณะที่ภาคเอกชนกำลังหวั่นเกรงแรงงานขาดในช่วงนี้ ด้าน "นักวิชาการ" ขอมองยาวไปอีก 5 ปีข้างหน้าว่าจะเกิดขึ้นอะไรกับแรงงานไทย ซึ่งจากการวิเคราะห์สถานการณ์ถือว่าน่าวิตกกังวลมากเลยทีเดียว
    รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า ภายใน 5 ปีนับจากนี้ ภาคการผลิตแรงงานไทยในภาพรวมทั้งจากสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จะต้องเร่งดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาด้านวิชาชีพ เพื่อยกเครื่องแรงงานไทยอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากในปี 2558 จะมีการเปิดประเทศไปประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี 
    ปัจจุบันพบว่าแรงงานไทยในภาคระดับปริญญาตรีมีแนวโน้มตกงานราว 1 แสนคนต่อปี จากหลักสูตรที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ส่งผลให้ปัจจุบันแรงงานไทยจะอยู่ในสภาพขาดๆ เกินๆ ความต้องการก็ตาม เห็นได้จากการขาดแรงงานภาคบริการในกลุ่มครัวเรือน และแรงงานในภาคโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้ต้องมีการนำเข้าแรงงานมาจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทดแทน
    ขณะที่กลุ่มแรงงานระดับองค์กรก็มีปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่เป็นคนเก่ง หรือมีจำนวนไม่เพียงพอในสายนั้นๆ แต่กลับพบว่ามีสัดส่วนของแรงงานหรือพนักงานที่ขาดทักษะที่จำเป็นในแต่ละหน่วยงานแฝงอยู่จนเกินความต้องการขององค์กร
    "จากความขาดๆ เกินๆ ของแรงงานที่ประเทศไทยมีอยู่ เมื่อกลุ่มประเทศอาเซียนมีการเปิดประเทศ ก็อาจจะทำให้ไทยเสียเปรียบในด้านการแข่งขัน โดยเฉพาะประเทศค่าแรงงานถูกอย่างพม่า ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุนในขณะนี้ ด้วยเหตุนี้ อาจส่งผลให้แรงงานจากประเทศดังกล่าวหันกลับไปทำงานในประเทศของตนเอง ซึ่งประเทศไทยคงจำเป็นต้องหาจุดแข็งใหม่ทางด้านการผลิตสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพสูง เพื่อเป็นจุดขายใหม่ดึงดูดการลงทุน"
    นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า คงยังไม่เห็นแรงงานต่างด้าวหนีกลับบ้านอย่างเป็นล่ำเป็นสันตอนนี้ แต่ก็ยอมรับว่าอาจมีบ้าง เพราะเชื่อว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า กว่าจะเปิดประเทศได้จริง ก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปีในการเตรียมตัว โดยเฉพาะเรื่องการสร้างระบบอัตราแลกเปลี่ยน ระบบสาธารณูปโภค ทั้งถนน ไฟฟ้า และที่สำคัญต้องมีท่าเรือน้ำลึก ซึ่งโครงการพัฒนาพื้นที่ทวาย ขณะนี้ยังไม่เป็นรูปธรรม
    “อาจมีบ้างที่แรงงานต่างด้าวหนีกลับบ้าน แต่คงไม่เหมือนผึ้งแตกรัง เพราะเวลานี้ค่าจ้างของไทยยังสูงกว่าพม่าหลายเท่าตัว โดยค่าจ้างในไทยอยู่ที่วันละ 300 บาท ขณะที่พม่ามีค่าจ้างอยู่แค่ 70 บาทต่อวันเท่านั้น”
    ปัจจุบันแรงงานที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมมีอยู่ประมาณ 8.099 ล้านคน หรือประมาณ 20% ของแรงงานที่อยู่ในระบบทั้งหมด โดยในช่วงปีที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมประสบปัญหาแรงงานหายไปจากระบบประมาณ 700,000-800,000 คน ทำให้แรงงานภาคอุตสาหกรรมตึงตัวมาก
    โดยแรงงานส่วนใหญ่ที่หายออกไปจากระบบ ไหลไปอยู่ในภาคเกษตรกรแทน เพราะราคาพืชผลทางเกษตรดี ทั้งข้าว อ้อย และยางพารา เป็นต้น รวมทั้งแรงงานที่ถูกเลิกจ้างในช่วงน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 ก็ยังกลับเข้าระบบไม่ครบ เพราะแรงงานพวกนี้ยังได้เงินประกันการว่างงาน 180 วัน
    นายธนิต กล่าวว่า เมื่อเปิดเออีซีจะยิ่งเกิดปัญหาแรงงานขาดแคลนในทุกระดับชั้น ขนาดแรงงานยกของขึ้นตู้คอนเทรนเนอร์ที่จ่ายค่าจ้างให้วันละ 500 บาท ก็ยังไม่มีใครทำ และเด็กรุ่นใหม่ที่จบมา ก็ถามหาแต่เงินเดือน 15,000 บาท จึงทำให้โครงสร้างภาคอุตสาหกรรมของไทยบิดเบี้ยว เพราะเด็กรุ่นใหม่จะไม่เรียนอาชีวะ ทั้งๆ ที่โครงสร้างอุตสาหกรรมของไทยต้องการเด็กที่จบระดับอาชีวะมากกว่า ดังนั้น ในระหว่างนี้ ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัว ไม่ใช่ทอดเวลาออกไปจนสุดท้ายก็อยู่ไม่ได้
    อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมให้สมดุล โดยต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้แทนในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ต้องมีการส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศและต้องมีกฎหมายแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งกระทรวงแรงงานจะต้องปรับบทบาทตัวเองให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้วย
    ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต การปรับตัวให้สอดคลังกับสถานการณ์ และเพิ่มศักยภาพของแรงงานไทย และการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพที่สูงขึ้น จึงน่าจะเป็นจุดขายของไทยต่อไปได้ในอนาคต.

ที่มา : http://www.thaipost.net/news/190312/54220



อ่าน : 2130 ครั้ง
วันที่ : 20/03/2012

Contact : V-SERVE GROUP 709/54-55 ถ.สุขุมวิท 77 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง  กทม. 10250 โทรศัพท์. 0 2332 3940-9 โทรสาร. 0 2332 0754
E-mail: tanit@v-servegroup.com