ขึ้นเงินเดือนหัวหน้างาน-ช่างฝีมือ เพิ่ม15-20%รับค่าแรง300 หนีระดับล่างสกัดปั่นป่วน Share


ภาคอุตสาหกรรม เตรียมปรับเพิ่มเงินเดือนระดับหัวหน้างาน ช่างฝีมือ ทำมานาน อีก 15-20% หวังเอาใจกลุ่มระดับบน 5 แสนถึง 1 ล้านคน หนีคนงานระดับล่าง ป้องกันความปั่นปวนหลังรัฐขึ้นค่าแรง 300 บาท เริ่ม 1 เม.ย.นี้ เผยนายจ้างต้องควักเพิ่ม 6 หมื่นล้านบาทต่อปี ดันสินค้าแพงขึ้น 3-6%
    นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า โรงงานอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างจัดทำแผนปรับฐานค่าจ้าง 15-20% แก่แรงงานระดับหัวหน้างาน ช่างฝีมือ และกลุ่มทำงานมานาน ซึ่งอยู่ในภาคอุตสาหกรรมประมาณ 5 แสน -1 ล้านคน เพื่อให้ฐานเงินเดือนของกลุ่มนี้ห่างจากแรงงานระดับล่าง หลังจากที่นโยบายปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 40% และนำร่องค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทใน 7 จังหวัดของรัฐบาล มีผลบังคับใช้วันที่ 1 เม.ย.2555
    “หากไม่มีฐานเงินเดือนให้กับหัวหน้างานหรือระดับช่างฝีมือ ก็จะทำให้แรงงานระดับล่างบางโรงงานมีค่าจ้างที่ใกล้เคียงหรือเท่ากัน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความปั่นป่วนในโรงงานได้ หากเป็นแบบนี้ ก็จะทำให้แรงงานฝีมืออาจย้ายไปอยู่โรงงานที่ให้ค่าจ้างสูงๆ มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม แรงงานกลุ่มนี้มีไม่มากเพียง 10-20% ของแรงงานภาคอุตสาหกรรมทั้งระบบที่มีอยู่ 5.5 ล้านคน” นายธนิต กล่าว
    นอกจากนี้ ผลการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องจ่ายค่าจ้างให้พนักงานเพิ่มอีกเฉลี่ยปีละ 60,000 ล้านบาท หรือจะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าในภาพรวมเพิ่ม 3-6% ซึ่งอาจทำให้ผู้ผลิตสินค้าในบางประเภทจำเป็นต้องปรับราคาเพิ่มอีก 3-6% เช่นกัน ยกเว้นสินค้าที่มีการแข่งขันสูง เพราะหากมีการปรับราคาอาจทำให้เสียเปรียบคู่แข่งได้
    นายธนิตกล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีบางรายยังรอความหวังแบบลมๆ แล้งๆ ว่า รัฐบาลอาจพิจารณาชะลอการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดออกไปก่อน เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสเตรียมพร้อมมากกว่านี้ ดังนั้น จึงอยากเตือนเอสเอ็มอีกลุ่มนี้ให้ยอมรับความจริงได้แล้ว เพราะภาคเอกชนก็ไม่สามารถไปสู้กับรัฐบาลในเรื่องนี้ได้ เนื่องจากเป็นการบังคับทางกฎหมายจึงจำเป็นต้องปฏิบัติตาม
    ทั้งนี้ ต้องการแนะนำให้เอสเอ็มอีเตรียมแผนในการรับมือกับการปรับขึ้นค่าจ้าง เช่น การลดปริมาณสต็อกสินค้าลงให้เหลือน้อยที่สุด เพราะหากเก็บสต็อกสินค้าเยอะ ก็จะทำให้โรงงานเสียค่าใช้จ่ายในการดูแล และการหาโกดังสินค้าใหญ่มากๆ ที่สำคัญหากขายไม่หมดก็ยิ่งขาดทุน
    “การฝึกอบรมให้พนักงานมีศักยภาพ ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากแรงงานมีศักยภาพตามค่าจ้างที่นายจ้างจ่ายไป ก็จะไม่เสียดาย แต่หากแรงงานไม่สามารถทำงานได้ตามที่รับมอบหมายได้ เชื่อว่านายจ้างก็คงเสียดายเงิน จึงต้องเตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้าน เพื่อช่วยลดภาระต้นทุนของโรงงานสำหรับผู้ประกอบการที่ไม่สามารถขยายกิจการไปในต่างประเทศได้” นายธนิต กล่าว
    นายธนิตกล่าวว่า ขณะนี้ ส.อ.ท.ได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่พอมีศักยภาพที่ไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อหาตลาดใหม่ๆ และต้นทุนจากค่าแรง วัตถุดิบในราคาที่ต่ำกว่าประเทศไทย เพราะการขยายกิจการไปยังเพื่อนบ้านนอกจากช่วยลดต้นทุนสินค้าแล้วยังได้เปรียบ หลังจากที่กลุ่มประเทศอาเซียนมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558.

ที่มา :http://www.thaipost.net/news/120312/53851



อ่าน : 1745 ครั้ง
วันที่ : 15/03/2012

Contact : V-SERVE GROUP 709/54-55 ถ.สุขุมวิท 77 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง  กทม. 10250 โทรศัพท์. 0 2332 3940-9 โทรสาร. 0 2332 0754
E-mail: tanit@v-servegroup.com