สอท.ยุรัฐเลิกอุ้มค่าไฟงวดพค. แนะทยอยขึ้นเหมือนก๊าซ ธปท.เพิ่มเป้ารับน้ำมันกระฉูด.. Share


กิตติรัตน์" แบะท่าคุมของแพงไม่อยู่ ชี้เศรษฐกิจแบบเปิด ราคาสินค้าต้องสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ขณะที่ ส.อ.ท.ยุรัฐเลิกอุ้ม ปล่อยให้ค่าเอฟทีขยับตามจริง เหมือนน้ำมัน-ก๊าซ แต่ขอให้ทยอยขึ้นทีละเดือน ด้าน ธปท.สุดอั้น เล็งปรับเป้าราคาน้ำมันปีนี้ เตือนมีผลให้เงินเฟ้อกระฉูด

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะค่าครองชีพสูงขึ้น เพราะไทยอยู่ในโลกเศรษฐกิจแบบเปิด ดังนั้นจะบังคับให้ราคาสินค้าต่ำลงไม่ได้ เพราะต้องสะท้อนตามกลไกของต้นทุน และในวันที่ 1 เมษายนนี้ ค่าแรงขั้นต่ำจะปรับเพิ่มเป็น 300 บาทต่อวัน ซึ่งค่าแรงดังกล่าวจะมารองรับกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า รัฐบาลควรปล่อยให้ราคาสินค้าเป็นไปตามต้นทุน คือ ราคาตามกลไกตลาด ทั้งนี้ หากควบคุมราคาสินค้าแต่ไม่สะท้อนต้นทุนผลิตอาจทำให้เกิดภาวะกักตุนสินค้า จนสร้างปัญหาต่อผู้บริโภค ดังนั้นการจะควบคุมราคาสินค้าต้องแยกควบคุมเป็นรายประเภทและดูความจำเป็นเป็นหลัก สำหรับค่าแรงขั้นต่ำที่จะเพิ่มขึ้น เชื่อว่าจะสอดคล้องกับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น

"ทราบว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้คำนวณราคาค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติหรือเอฟที งวดพฤษภาคม-สิงหาคม พบว่าค่าเอฟทีปรับเพิ่มขึ้น ดังนั้น อยากเสนอให้รัฐบาลเลิกอุดหนุนควรปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกเหมือนราคาน้ำมัน" นายพยุงศักดิ์กล่าว

นายธนิต โสรัตน์ รองประธาน ส.อ.ท. เปิดเผยว่า ต้นทุนการผลิตหลายส่วนที่ปรับขึ้น โดยเฉพาะค่าเอฟทีงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ที่ กฟผ.ระบุว่าจะปรับขึ้นอีก 25.51 สตางค์ต่อหน่วยนั้น หากดูตามกลไกตลาดแล้วควรปรับขึ้นเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง แต่ควรทยอยปรับทีละเดือนเหมือนขึ้นราคาก๊าซ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมปรับตัว

นอกจากนี้ ปัจจัยในการปรับขึ้นราคาวัตถุดิบทางการผลิต พบว่า 1.ประเทศไทยยังต้องแก้ปัญหาแรงงานที่ตกงานประมาณ 1 แสนคนจากผลกระทบอุทกภัยที่ผ่านมา 2.ปัจจัยด้านค่าแรงขั้นต่ำที่จะขึ้นเป็น 300 บาทในเดือนเมษายนนี้ โดยค่าแรงที่เพิ่มคิดเป็นต้นทุน 10-12% และคิดเป็นต้นทุนการผลิตประมาณ 6% ทำให้สินค้าที่ออกสู่ตลาดแพงขึ้น 3.ราคาน้ำมันที่ช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ปรับเพิ่มแล้วประมาณ 8% จาก 107 เหรียญต่อบาร์เรลเป็น 110 เหรียญต่อบาร์เรล 4.ราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ปรับขึ้นในภาคขนส่ง 5.เศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว โดยทั้งหมดจะเกิดขึ้นภายในเดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้

นายทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า มติคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐและยุโรปที่ไม่ซื้อน้ำมันจากอิหร่านจะมีผลให้ราคาน้ำมันโลกผันผวน และปรับตัวสูงขึ้นในระยะสั้น ทำให้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบ ที่ ธปท.เคยประเมินไว้ คงต้องมีการปรับประมาณการขึ้น เพราะมีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ

"เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกมีสัญญาณที่ดีขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นบวกเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ที่เป็นช่วงต่ำสุด โดยประมาณการจีดีพีปีนี้จะอยู่ที่ 4.9%"

สำหรับประมาณการราคาน้ำมันดิบดูไบที่ ธปท.ใช้อ้างอิงในการพิจารณาเงินเฟ้ออยู่ที่เฉลี่ย 103.3 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปีนี้ อยู่ที่ 122 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนกรอบเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.5-3%

ที่มา http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1331006062&grpid=&catid=05&subcatid=0505



อ่าน : 1915 ครั้ง
วันที่ : 06/03/2012

Contact : V-SERVE GROUP 709/54-55 ถ.สุขุมวิท 77 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง  กทม. 10250 โทรศัพท์. 0 2332 3940-9 โทรสาร. 0 2332 0754
E-mail: tanit@v-servegroup.com