เสนอตั้งสภาธุรกิจกัมพูชา-ไทย Share


สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ-ส.อ.ท.กรุยทางเอกชนขยายการค้าลงทุนไทย-กัมพูชา ชี้กัมพูชาศักยภาพสูงและพร้อมอ้าแขนรับทุนไทย เตรียมปัดฝุ่นศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานที่กรุงพนมเปญรองรับภาคผลิต ตั้งสภาธุรกิจกัมพูชา-ไทย ด้านเพาเวอร์ยูนิตี้ เล็งการณ์ไกลผุดลานมัน 500 ไร่ ผลิตมันเส้นป้อนจีน
 จากการที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)จะมีผลอย่างเป็นทางการในปี 2558 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า ขณะนี้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคือความเคลื่อนไหวของทุนชาติต่างๆ รวมทั้งทุนไทยหลั่งไหลลงทุนในประเทศภูมิภาคอินโดจีนโดยเฉพาะพม่าและกัมพูชา เพราะเป็นแหล่งลงทุนที่ยังมีค่าจ้างแรงงานที่ถูกและอนาคตจะมีตลาดอาเซียนที่มีกำลังซื้อ 600 ล้านคนรองรับ แต่สำหรับกัมพูชาพบว่าทุนไทยยังเข้าไปน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ทั้งที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทย เห็นได้จากสถิติการลงทุนในกัมพูชาปี 2554 (มกราคม-ตุลาคม) เกาหลีใต้ได้รับอนุมัติส่งเสริมลงทุนมากที่สุด 24 โครงการ รองลงมาไต้หวัน 20 โครงการ จีนกับฮ่องกง 16 โครงการเท่ากัน และช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีทุนไทยได้รับอนุมัติแม้แต่โครงการเดียว
 นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าเมื่อเร็วๆ นี้ได้เดินทางไปยัง กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชาเพื่อไปดูสภาพศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศของไทยจัดสร้างขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่ประเทศกัมพูชาตั้งแต่ประมาณปี 2540 หรือกว่า 10 ปีแล้ว โดยกระทรวงการต่างประเทศต้องการให้สภาอุตสาหกรรมเข้าไปช่วยดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาฝีมือแรงงานรองรับอุตสาหกรรมต่างๆในกัมพูชาที่กำลังมีการเติบโต
 "เท่าที่ไปดูเห็นว่าควรจะมีการฟื้นฟูปรับปรุงศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน ปัจจุบันมีการใช้งานอยู่แต่สภาพค่อนข้างทรุดโทรมมากควรจะมีการพัฒนาปรับปรุงศูนย์และพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อรองรับการเป็นฐานผลิตร่วม ที่ปัจจุบันมีนักลงทุนจำนวนมากรวมทั้งไทยเข้าไปลงทุนในกัมพูชาแต่แรงงานฝีมือที่จะรองรับยังไม่เพียงพอทั้งที่แรงงานในกัมพูชามีจำนวนมาก"
 นายธนิต กล่าวว่าจะได้นำหารือประธานสภาอุตสาหกรรมและสมาชิกอีกครั้งหนึ่งว่าจะมีแนวทางพัฒนาศูนย์อย่างไร มีความมั่นใจว่าเอกชนของไทยจะให้ความร่วมมือเพราะเวลานี้มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอ และอีกหลายๆอุตสาหกรรมของไทยเข้าไปลงทุน แต่ยังไม่มีแรงงานฝีมือรองรับเชื่อว่าเอกชนต้องให้การสนับสนุน
 สำหรับความต้องการเบื้องต้นที่ทางศูนย์ต้องการให้สนับสนุนคือเครื่องจักร เครื่องกล ที่ทันสมัยเพื่อใช้ประกอบการฝึกอบรม เนื่องจากเทคโนโลยีได้พัฒนาไปมากในช่วงที่ผ่านมาทำให้เครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องกลที่ใช้ฝึกอบรมล้าสมัยเป็นอุปสรรคต่อการฝึกทักษะแรงงานให้ตรงตามความต้องการของผู้ว่าจ้างแรงงาน ต้องการวิทยากรมาอบรมให้ครูผู้สอนและแรงงานผู้เข้ารับการอบรมชาวกัมพูชา จัดกิจกรรมดูภาคผลิตจริงในประเทศไทย เพื่อได้เห็นการปฏิบัติงานจริง และพัฒนาด้านทักษะภาษารองรับการย้ายฐานผลิตของผู้ประกอบการไทยที่ย้ายมากัมพูชา
 นายธนิต กล่าวด้วยว่าได้เสนอให้มีการจัดตั้งสภาธุรกิจกัมพูชา-ไทย จากปัจจุบันมีสภาธุรกิจไทย-กัมพูชาแล้ว ทั้งนี้เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานระหว่างภาคเอกชนกัมพูชา-ไทยในฝั่งกัมพูชา
 ด้านนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค การเงิน การคลัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะทำงานเศรษฐกิจมหภาคได้มีการหารือกับนางสาวสิตา สุคุณทีรี อิง ประธานหอการค้าจังหวัดเสียมราฐและจังหวัดอุดรเมียนเจย ประเทศกัมพูชาถึงโอกาสการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับกัมพูชา ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับนักลงทุนของไทยมากเพราะขณะนี้รัฐบาลกัมพูชาเปิดกว้างให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในประเทศกัมพูชาโดยเฉพาะธุรกิจเกษตรยางพารา มันสำปะหลัง และธุรกิจต่อเนื่องจากภาคการเกษตรเช่นการกรีดยางพารา แปรรูปมันสำปะหลัง โรงสีข้าว เป็นต้น
 "ธุรกิจดังกล่าวเขามีความต้องการอย่างมาก เพราะเวลานี้ประเทศกัมพูชามีพื้นที่ปลูกยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่มีความรู้หรือเทคโนโลยีรองรับ เขามีพื้นที่ปลูกยางแต่ยังไม่มีความรู้เรื่องกรีดยางพารา มีพื้นที่ปลูกข้าว แต่ไม่มีโรงสีข้าวที่ได้มาตรฐานมารองรับ ธุรกิจเหล่านี้ประเทศไทยมีความได้เปรียบนักลงทุนชาติอื่นๆ เพราะมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว ที่สำคัญเป็นประเทศเพื่อนบ้านกัน การเปิดต้อนรับนักลงทุนต่างชาติของกัมพูชา นักธุรกิจไทยจึงควรให้ความสนใจ"
 ทั้งนี้นายอุทัย กล่าวว่าผลการหารือกับประธานหอการค้าเสียมราฐและอุดรเมียนเจย ทางคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค การเงิน การคลังฯ จะได้นำเสนอนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีต่อไป เพื่อให้พิจารณาว่ารัฐบาลไทยจะมีช่องทางสนับสนุนนักธุรกิจไทยขยายการค้าการลงทุนกับกัมพูชาอย่างไรบ้าง เพราะว่าเวลานี้หลายประเทศได้ให้ความสนใจเข้าไปลงทุนและทำการค้ากับกัมพูชา เพราะ1.การลงทุนในกัมพูชาหากส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป สามารถใช้สิทธิพิเศษภาษีศุลกากรได้ 2. ภายใน 3 ปีข้างหน้าอาเซียนจะรวมเป็นตลาดเดียวที่มีกำลังซื้อร่วม 600 ล้านคน ประเทศไทยจึงไม่ควรมองข้ามประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา
 ขณะที่นายรุ่งโรจน์ เหมันต์สุทธิกุล ประธานบริษัท เพาเวอร์ยูนิตี้ จำกัด เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัท เพาเวอร์ยูนิตี้ฯได้เล็งเห็นโอกาสธุรกิจมันสำปะหลังในประเทศกัมพูชา จากผลการศึกษาพบว่าพื้นที่ปลูกจะมีการขยายตัว 1,500% ในอีก 10 ปีข้างหน้า ผลผลิตจะเพิ่มขึ้น 1,300% ใน 10 ปีข้างหน้า จึงได้ดำเนินการจัดตั้งบริษัท เพาเวอร์ยูนิตี้ (แคมโบเดีย)อินเวสเม้นท์ จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่มบริษัท เพาเวอร์ยูนิตี้ กับเจ้าของอังกอร์ มาร์เก็ต จังหวัดเสียบราฐ เพื่อดำเนินธุรกิจลานมันผลิตมันสำปะหลังเส้นป้อนตลาดจีน
 ทั้งนี้บริษัท เพาเวอร์ยูนิตี้ (แคมโบเดีย) อินเวสเม้นท์ จำกัด ได้ใช้เงินลงทุนประมาณ 150 ล้านบาท ตั้งลานมันเส้น 5 แห่งในจังหวัดเสียมราฐ พระวิหาร อะลองเวง มาลัย คลองหาด จุดละ 1 แห่ง พื้นที่รวมกันประมาณ 500 ไร่ แต่ละแห่งติดตั้งเครื่องจักรสับชิ้นมันสำปะหลังขนาดกำลังผลิต 2,000 ตันต่อวัน โดยสินค้าจะส่งป้อนตลาดจีนทั้งหมด
 "กลุ่มเพาเวอร์ยูนิตี้ ใช้เวลาศึกษาการลงทุนในกัมพูชาไม่นาน หลังจากได้รับการเชิญชวนจากผู้ร่วมทุนทางกัมพูชาแล้วได้เข้าไปศึกษาศักยภาพและตั้งบริษัทเพื่อดำเนินการเมื่อเดือนตุลาคม 2554 ขณะนี้เริ่มรวบรวมหัวมันสดจากเกษตรกรเข้าสู่ลานมันเพื่อตากเป็นมันเส้นส่งตลาดจีน นอกจากนี้บริษัทยังได้วางแผนอนาคตจะไปทำธุรกิจการเกษตรที่เรียกว่าการเกษตรยุคที่3 ในกัมพูชาด้วยคือยุคที่เกษตรกร นายทุนอยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรม โดยบริษัทจะเข้าไปส่งเสริมปลูกมันสำปะหลัง ส่งเสริมอาชีพเสริมอื่นเช่นเลี้ยงไก่บ้าน ทำมินิมาร์ตเป็นแหล่งซื้อสินค้าของเกษตรกรที่เป็นสมาชิกบริษัท เป็นต้น"

 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,714   16-18  กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555



อ่าน : 2445 ครั้ง
วันที่ : 29/02/2012

Contact : V-SERVE GROUP 709/54-55 ถ.สุขุมวิท 77 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง  กทม. 10250 โทรศัพท์. 0 2332 3940-9 โทรสาร. 0 2332 0754
E-mail: tanit@v-servegroup.com