เอกชนวอนรัฐบาลทยอยเก็บภาษีสรรพสามิต
น้ำมันดีเซล หวั่นขึ้นพรวดเดียว 5.31 บาทต่อลิตร
ทำตลาดช็อกผู้ประกอบการรับไม่ไหวพร้อมใจขึ้นราคาสินค้า ชี้ปัจจุบัน
ผู้ค้ายังผจญ กับปัจจัยลบหลายด้านทั้งค่าแรง 300 บาท
รวมทั้งแนวโน้มดอกเบี้ยที่ส่อเค้าขาขึ้น
ล้วนเป็นตัวซ้ำเติมต้นทุนการผลิตให้สูงขึ้น
ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยว่า
หากรัฐบาลไม่ต่ออายุมาตรการยกเว้นการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5.31
บาทต่อลิตร ซึ่งจะสิ้นสุดมาตรการวันที่ 31 มกราคม 2555 นี้
ก็จะทำให้ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวสูงขึ้นอีก 7-8 บาทต่อลิตร หรือ แตะระดับ
39 บาทต่อลิตร ก็จะส่งผลกระทบ ต่อต้นทุนราคาสินค้าต้องปรับตัวเพิ่มขึ้น
4-5% จึงต้องการให้รัฐบาลทยอยเก็บภาษีสรรพสามิต ดีเซล
หรือต่ออายุมาตรการออกไปก่อน
นอกจากนี้ วันที่ 1 เมษายน 2555 นี้ จะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300
บาทต่อวัน นำร่องใน 7 จังหวัด
ก็จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กระทบต้นทุนการผลิตสินค้าประมาณ 10%
และผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่จะ
ปรับตัวสูงขึ้น
จากการที่รัฐบาลจะผลักดันหนี้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1.14
ล้านบาท ให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)รับผิดชอบ
ล้วนแล้วแต่เป็นการซ้ำเติมต้นทุนการผลิตและมีผลต่อราคาสินค้าอย่างแน่นอน
"รัฐบาลควรทยอยเก็บภาษีสรรพสามิต น้ำมันดีเซล
เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสปรับตัวด้านต้นทุนการผลิตสินค้า
ไม่ใช่กลับมาเก็บตูม คราวเดียว 5 บาทต่อลิตรเลย ผู้ประกอบการก็คงช็อก
และราคาขายปลีกดีเซลคงเพิ่มถึงระดับ 39 บาทต่อลิตร
ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า 4-5%
รวมทั้งการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็จะเป็นปัจจัยที่กดดันให้ผู้ประกอบการคงพร้อม
ใจกันขึ้นราคาสินค้าแน่นอน แต่ถ้าน้ำมันดีเซลปรับขึ้นแค่ 1-2 บาทต่อลิตร
คงไม่มี ผู้ผลิตรายใดปรับขึ้น
เพราะส่วนหนึ่งกลไกตลาดก็มีการแข่งขันที่รุนแรงกำลังซื้อผู้บริโภค
ก็ยังไม่ดีมากนัก" ดร.ธนิต กล่าว
สำหรับแนวโน้มสินค้าที่อาจปรับราคาขึ้นในช่วงนี้ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง
สินค้าอุตสาหกรรมอย่างเหล็กต้นน้ำ
สินค้าที่กึ่งผูกขาดและนำเข้าจากต่างประเทศเพราะมีการจ่ายค่าระวางเรือ
(เฟส) เพราะเมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกขึ้น ค่าเฟสเหล่านี้ ก็จะปรับขึ้นทันที
ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคแม้จะยังไม่ปรับราคาสินค้าขึ้นตอนนี้
แต่จะต้องจับตาดูอีกครั้ง เมื่อมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 1 เมษายนนี้
เพราะยังมีบางอุตสาหกรรมที่กังวลในเรื่องนี้
"ต้องจับตาดูราคาสินค้าหลังวันที่ 1 เมษายนนี้
ที่จะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ใน 7 จังหวัด
เพราะขณะนี้ผู้ประกอบการ หลายส่วนมีความกังวลกันมาก
สินค้าบางรายการผลิตไปมีกำไร 5-10% แต่ค่าแรงขึ้นทีมีผลต่อต้นทุนประมาณ 10%
ซึ่งโดยปกติหากต้นทุนขึ้นแค่ 7% ผู้ผลิตถ้าไม่ปรับราคาขึ้นก็ตาย
แต่พอปรับขึ้นก็เหมือนไปตายเอาดาบหน้า เพราะของแพงผู้บริโภคก็ซื้อน้อยลง
แต่ยังไงก็ต้องเลือกปรับขึ้นไปตายเอาดาบหน้าดีกว่าตายเลยในวันนี้" นายธนิต
กล่าว
ดร.ธนิตกล่าวอีกว่า จากการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน
ยังกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในการส่งออกไปยังตลาดต่าง
ประเทศด้วย เพราะมีแค่ต้นทุนของไทยที่เพิ่ม
ขณะที่ประเทศอื่นยังมีต้นทุนเท่าเดิม
และสภาพเศรษฐกิจในยุโรปที่ถดถอยยังทำให้ตลาดส่งออกชะลอตัว
แทนที่ไทยจะลดราคาไปแข่งขันในตลาดโลกได้
แต่ค่าแรงเพิ่มกลับทำให้ราคาสินค้าส่งออกพุ่งขึ้นทันที
ที่มา: แนวหน้า
|