เศรษฐกิจ ปี 55ล้มแล้วลุก! ‘V-เชฟ’ร่วงเร็วฟื้นเร็ว/ลงทุน-ส่งออกหนุน Share


เป็นที่รู้กันปี 2554 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจของประเทศไทยต้องเผชิญกับปัจจัยลบสารพัด ปัจจัยภายนอกจากหนี้ยุโรปที่กำลังเขย่าโลก และความถดถอยของสหรัฐฯ ขณะที่ปัญหาภายในประเทศ ทั้งน้ำท่วมที่กำลังสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้ กับรัฐบาล จนหน่วยงานรัฐฟันธงตัวเลขเศรษฐกิจ ปีที่ผ่านมาหายวับเหลือเพียง 1.5% ส่วนปี 2555 ยังมั่นอกมั่นใจโตแน่ๆ 4.5%...

อย่างไรก็ตาม ในปี 2555 นี้ หลายฝ่าย คาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวเร็ว แบบ วี (V) เชฟ แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยง ในการกดดันการฟื้นตัว ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงความไม่มั่นใจในการแก้ ปัญหาอุทกภัย ซึ่งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่น และแผนการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนได้

ธุรกิจลอจิสติกส์บูมรับ ศก.อาเซียน ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมลอจิสติกส์ เปิดเผย “สยาม ธุรกิจ” ถึงทิศทางของธุรกิจลอจิสติกส์ในปี 2555 ว่า ธุรกิจลอจิสติกส์มีการขับ เคลื่อนในทิศทางที่ดี โดยจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2555 หลังจากที่ติดลบมา ตั้งแต่เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2554

“เดือนธันวาคมน้ำเริ่มลด เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว มีการกระจายสินค้ามากขึ้น บริษัทขนส่งสินค้าต่างๆ มีงานเต็มมือ ดังนั้นเชื่อว่าในไตรมาสแรกแนวโน้มธุรกิจลอจิสติกส์มีทิศทางที่ดี ส่วนไตรมาส 2 การ ส่งออกก็ดีขึ้น ประกอบกับงบกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลลงไปแล้ว ซึ่งมีประมาณ 3 แสนล้านบาท ที่จะเข้ามาในระบบเรื่องค่าแรง 300 บาท ก็เริ่มแล้ว คนก็จะมีแรงซื้อมากขึ้น ขณะนี้คลังสินค้าต่างๆ ก็กระจายออกไปมากขึ้น มีสินค้าเต็มพื้นที่ งานขนส่งสินค้าก็มีมากขึ้น ลอจิสติกส์ก็จะดีขึ้นตามไปด้วย” ดร.ธนิต กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงคือ เรื่องการปรับราคาก๊าซ NGV และ LPG ซึ่งจะกระทบกับภาคธุรกิจขนส่งสินค้าทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 6-8% ถึงแม้ว่าต้นทุนจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังถูกกว่าน้ำมันดีเซล สิ่งที่ผู้ประกอบการกังวลคือ เรื่องราคาน้ำมันดีเซลหากมีการ ปรับตัวสูงขึ้นก็จะกระทบทั้งระบบ เนื่องจากต้นทุนน้ำมันคิดเป็นสัดส่วน 30% ของค่าใช้จ่ายรวม

ดร.ธนิต กล่าวต่อว่า สิ่งหนึ่งที่ต้อง การให้รัฐบาลผลักดันคือ เรื่องยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์ เนื่องจากยุทธศาสตร์ที่ใช้กันอยู่ได้สิ้นสุดลงเมื่อปี 2553 และขณะนี้ยังไม่มียุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน จึงต้องการให้รัฐบาลเร่งพิจารณาและกำหนดยุทธศาสตร์ ลอจิสติกส์แห่งชาติ

>>นิด้า คาดศก.ไทยปีมังกรทองโต 5%

“สยามธุรกิจ” รวบรวมความเห็นนักวิชาการตลอดจนผู้ประกอบการถึงแนวโน้มการดำเนินธุรกิจใน “ปีมังกรทอง” ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด เริ่มจาก รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผอ.หลักสูตร MPA คณะรัฐประศาสนศาสตร์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาร ศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2555 เชื่อว่าจะสามารถขยายตัวอยู่ในกรอบไม่เกิน 5% โดยภาครัฐยังเป็น กลไกสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จากนโยบายการใช้งบฟื้นฟูประเทศที่มุ่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความ เสียหายจากน้ำท่วม ตลอดจนการดูแลกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งผลดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งระบบ ตั้งแต่การบริโภค ภาคการลงทุน ภาคการค้าระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ การขับเคลื่อนนโยบายบัตรเครดิตชาวนา การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ 15,000 บาท นโยบายบ้านหลังแรกและรถยนต์คันแรก ล้วนเป็นนโยบายที่มุ่งกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศและการ ใช้จ่ายของประชาชน เพื่อผลักดันการเติบโต ทางเศรษฐกิจชดเชยการส่งออกในปี 2555 อย่างไรก็ตาม การใช้นโยบายกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ ภายในประเทศ ที่คาดว่าในปี 2555 จะสูงขึ้น มาอยู่ที่ระดับ 4.0 และมีทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ร้อยละ 3

>>ธปท.ยาหอมธุรกิจปรับตัวดีจี้รัฐทำแผนป้องกันปัญหาน้ำระยะยาว

นายทรงธรรม ปิ่นโต สำนักเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท. ได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯ คือ นิคมอุตสาหกรรมไฮเทคและบางปะอิน จ.พระนคร ศรีอยุธยา และนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จ.ปทุมธานี ซึ่งได้รับความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมาเมื่อสัปดาห์ก่อน พบว่าโรงงานต่างๆ ได้รับความเสียหาย แต่ผู้ประกอบการในหลายธุรกิจมีความตั้งใจในการฟื้นฟูกิจการและพยายามการปรับ ตัว เพื่อ ให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนส่วนใหญ่เห็นว่าสิ่งสำคัญที่สุดในขณะนี้ คือแผนระยะยาวของทางการในการแก้ไขปัญหาต้องมีความชัดเจนมาเป็นอันดับแรก เพื่อสร้างความมั่นใจในระยะต่อไป

>>ทำนายปีงูใหญ่ GDP โต 4.0% เงินเฟ้อ 3.7% ตลาดหุ้น 1,200 จุด

ขณะที่ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 30 แห่ง จำนวน 78 คน เรื่อง “คาดการณ์เศรษฐกิจปี 2555” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 7-15 ธ.ค. 54 ที่ผ่านมาพบว่านักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวร้อยละ 3.3 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 4.0 ราคาน้ำมันดิบ (WTI) จะอยู่ที่ 100 ดอลลาร์ สหรัฐ ต่อบาร์เรล อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 3.7 ในส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ร้อยละ 55.1 เชื่อว่า ธปท. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับปัจจุบันที่ร้อยละ 3.25 ไปสู่ระดับร้อยละ 2.75 ภายในสิ้นปี 2555 ส่วนค่าเงินบาทคาดว่าจะอยู่ที่ 30.62 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐและการส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 13.2

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยปี 2555 คือ อันดับ 1 เศรษฐกิจโลกในภาพรวม (ร้อยละ 73.1) อันดับ 2 ปัญหาการเมือง/การชุมนุมประท้วง/เสถียรภาพของรัฐบาล (ร้อยละ 65.4) อันดับ 3 หนี้ สาธารณะของประเทศสหรัฐอเมริกาและกลุ่ม ยูโรโซน (ร้อยละ 64.1)

>>การค้า-ลงทุนวาดเป้า 7.4 ล้านล้าน

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ มั่นใจว่าเศรษฐกิจ ปี 2555 จะขยายตัวในระดับ 7% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายของรัฐบาลที่เน้นใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ การกระจายรายได้ การเพิ่มราคาสินค้าเกษตร และนโยบายการเพิ่มค่าแรง 300 บาทที่จะเริ่มนำร่อง 7 จังหวัด กรุงเทพฯ และปริมณฑล ตั้งแต่ 1 เม.ย.2555 สำหรับในภาคการส่งออกยังคงเป้าหมายการ ขยายตัวของมูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการไทยไว้ที่ 15% หรือคิดเป็นมูลค่า 2.24 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 6.72 ล้าน ล้านบาท โดยคาดว่าการส่งออกจะกลับมาฟื้นตัวได้ในไตรมาสแรกของปีนี้ นอกจากนี้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศให้กลับมา ขณะเดียวกันคาดว่าอัตรา ดอกเบี้ยที่ทรงตัว และการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ผันผวนจะเป็นแรงหนุนเพิ่มเติม

ขณะที่ภาพรวมการลงทุน สำนักงานส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอเผยยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนของเดือน มกราคม-พฤศจิกายน 2554 มีมูลค่าเงินลงทุนถึง 6.15 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 5 แสน ล้านบาท โดยจำนวนคำขอรับส่งเสริมในเดือน พฤศจิกายนเดือนเดียว สูงถึง 177 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมคือ 1.35 แสนล้านบาท สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่มีต่อประเทศไทย

น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สิ่งที่เกิดขึ้น ตอกย้ำว่านักลงทุนทั้งไทยและจากต่างประเทศยังมั่นใจว่า ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่มีศักยภาพและมีความพร้อม แม้จะเป็นช่วงที่ประเทศไทย ประสบกับวิกฤติอุทกภัยครั้งใหญ่

>>อสังหาฯ หนีกรุงขยายฐานออกภูธร

นายธำรง ปัญญาสกุลวงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวถึงแนวโน้มธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ ในปี 2555 ว่า อาจจะยังไม่ฟื้นตัวในช่วงระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี โดย เฉพาะบริเวณที่เกิดน้ำท่วมหนัก กว่าผู้บริโภค จะกลับมาซื้อคาดว่าต้องใช้เวลานานพอสมควร เบื้องต้นในส่วนของคอนโดฯ น่าจะมีการทิ้งดาวน์อย่างน้อย 5% และเชื่อว่าคนซื้อคอนโดฯ จะขอคืนเงินดาวน์ประมาณ 5% และ มีประมาณ 30-40% ที่ต้องการชะลอการโอนอย่างน้อย 3-4 เดือน เนื่องจากการโอนคอนโดฯ ต้องใช้เงินมากกว่าการโอนบ้านแนวราบ โดยบ้านแนวราบใช้เงินในการโอนประมาณ 7% ของราคาขาย ในขณะที่ คอนโดฯ ต้องใช้เงินโอนสูงถึง 18% ของมูลค่าที่ซื้อทำให้อสังหาฯ ทั้งระบบจะชะลอตัวไปอย่างน้อย 1 ปี

นายอิสระ บุญยัง นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า จากวิกฤติอุทกภัยที่ผ่าน มาได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจบ้านจัดสรรเป็นอย่างมาก ดังนั้น 3 สมาคมอสังหาฯ เตรียม ทำหนังสือไปยังรัฐบาลใน 3 เรื่องหลักได้แก่ นโยบายแผนงานที่ชัดเจนในการบริหารจัด การน้ำทั้งระบบ, ควบคุมธนาคารเฉพาะกิจและธนาคารในกำกับดูแลของรัฐให้ปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ซื้อ บ้านในพื้นที่น้ำท่วมในเกณฑ์ปกติและขอกรมธนารักษ์ เลื่อนประกาศการใช้ราคาประเมินใหม่รอบปีบัญชี 2555-2558 เป็น 1 ม.ค. 2556 แทนที่จะเริ่มใช้ปีหน้าเลยทันที เพื่อลดภาระในการจ่ายค่าธรรมเนียมการโอนต่างๆ ของผู้ซื้อบ้านใหม่ ซึ่ง 3 สมาคม ภาคอสังหาริมทรัพย์ เห็นว่าเป็นแนวทางช่วยเหลือระยะสั้นที่เร่งดำเนินการได้

นอกจากนี้ รัฐบาลควรเร่งประกาศนโยบายแผนงานที่ชัดเจนในการบริหารจัด การน้ำทั้งระบบของประเทศ รวมถึงกรอบระยะเวลาในการดำเนินการ เพื่อเอกชนได้วาง แผนป้องกันตนเอง ซึ่งการทำระบบป้องกันอุทกภัยนั้นจะทำเฉพาะกทม.ไม่ได้ แต่รัฐต้องทำแบบมหภาคที่มองไปถึงอนาคตในอีก 50 ปีข้างหน้า

ด้านนายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน ประเมินสถานการณ์ ตลาดรับสร้างบ้านในปี 2555 ว่า ในช่วง 1- 6 เดือนแรก โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล คาดว่าความต้องการสร้างบ้านจะยังชะลอตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้เกิดจากความไม่มั่นใจของผู้บริโภคเกี่ยวกับภัยธรรมชาติหรือภัยน้ำ ท่วม ส่วนในครึ่งปีหลังคงต้องประเมินอีกครั้ง ซึ่งเชื่อว่ากำลังซื้อจะกลับสู่ภาวะปกติ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าจะไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำขึ้นอีกในปีหน้า ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะอยู่รอดหรือจะล้มเหลวของธุรกิจรับสร้างบ้าน จึงมิใช่เพียงผู้ประกอบการจะปรับตัวฝ่ายเดียว หากแต่รัฐบาลจะต้องเร่งวางระบบป้องกันน้ำท่วมอย่างเร่งด่วนและจริงจัง เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและประชาชนกลับคืนมาโดยเร็ว



>>ยอดผลิตรถยนต์แตะ 2 ล้านคัน

นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ประธาน กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าภายในไตรมาสแรกของปี 2555 การผลิตรถยนต์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้ผลิตแต่ละรายในการจัดหาชิ้นส่วน แต่คาดว่าจากแนวทางการช่วยเหลือของภาครัฐและ ความสามารถของภาคเอกชน จะทำให้ยอดการผลิตรถยนต์รวมในปี 2555 เพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านคันแน่นอน เพราะนโยบายรถยนต์คันแรก ของรัฐบาล และความต้องการรถยนต์ทั้งตลาดในและต่างประเทศยังมีอีกมาก

นายวัลลภ เตียศิริ ผู้อำนวยการและประธานคณะกรรมการสถาบันยานยนต์ เปิด เผยว่าจะมีโรงงานประกอบรถยนต์ 3 ค่ายเปิดใหม่มาทดแทนตลาดที่หายไป โดยแต่ละค่ายจะมีกำลังการผลิตเฉลี่ยโรงงานละ 1-2 แสนคันต่อปี แต่ในปีแรกคงไม่สามารถผลิตรถได้เต็ม 100% ของกำลังผลิต แต่เมื่อทั้ง 3 โรงงานสามารถเดินเครื่องได้เต็ม 100% จะทำให้กำลังการผลิตรวมทั้งหมดเกินกว่า 3 ล้านคันต่อปี

>>ธุรกิจขายตรงปีมะโรงเฟื่อง

ดร.นพรุจ เวชกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท นีโอ ไลฟ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เปิดเผย “สยามธุรกิจ” ถึงแนวโน้มการ ตลาดของธุรกิจขายตรงในปี 55 ว่า “ตลาดขายตรงในปีนี้จะเป็นตลาดที่น่าจับตามองจากทุกภาคส่วน เพราะเมื่อมองไปที่ปัญหาในปีที่ผ่านมาในช่วงท้ายปี ทำให้โรงงานที่อยู่ในนิคมที่ถูกน้ำท่วม ต้องพักการจ้างงาน ซึ่งถึงแม้จะมีการจ่ายเงินเดือนที่ 75% เพื่อเป็นการช่วยเหลือก็ตาม แต่รายได้ก็ไม่เต็ม 100% ทำให้ผู้คนต้องหารายได้เสริมในทาง อื่น โดยธุรกิจขายตรงก็ถือเป็นตัวเลือกแรกๆ ในการตอบโจทย์”

“ธุรกิจขายตรงในปัจจุบันเป็นธุรกิจที่มีชื่อเสียงแพร่กระจาย ซึ่งบรรดาบริษัทพยายามใช้สื่อต่างๆ ในการสร้างแบรนด์ซึ่งในส่วนนี้จะทำให้ประชาชนผู้บริโภคเดินเข้าวงการเครือ ข่ายเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มีความต้องการใช้จ่ายเพิ่ม การหารายได้เสริมเป็นสิ่งที่พวกเขาคิดถึง การเติบโตของมูลค่าตลาดรวมขายตรงในปีหน้า มีโอกาสที่จะขยายตัวไม่น้อยกว่า 20%” ประธาน นีโอ ไลฟ์ฯ เผย

ทั้งนี้ เรื่องการแข่งขัน ดร.นพรุจ มองว่า ธุรกิจขายตรงจะเน้นเรื่องของการบริการเป็นสำคัญในการนำขึ้นมาเป็นอาวุธสร้าง ยอดขาย เพราะเรื่องของสินค้าและแผน ก็เป็นสิ่งที่หลายบริษัทใช้เป็นอาวุธมานานอยู่แล้ว ซึ่งการ บริการจึงเป็นอาวุธที่จะสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบของธุรกิจขายตรงใน อนาคต

อย่างไรก็ดีปัญหาที่อาจทำให้ธุรกิจขายตรงในปี 55 ดร.นพรุจ เผยว่า “น่าจะเป็น ในเรื่องของการขึ้นค่าแรงของรัฐบาล ซึ่งหากค่าแรงขึ้น บรรดาพนักงานอาจมีความพึงพอใจในรายได้ต่อเดือนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะกระทบกับธุรกิจขายตรง แต่หากมองในแง่ดี เมื่อผู้บริโภคมีรายได้เพิ่ม ก็จะมีกำลังในการซื้อเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน”

>>สมาร์ทโฟน-แท็บเล็ตเบียดโน้ตบุ๊ก

นายวีระ อิงค์ธเนศ กรรมการผู้จัด การบริษัท เอสวีโอเอ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิต และจำหน่ายคอมพิวเตอร์ไทย แบรนด์ “เอส วีโอเอ” เปิดเผยว่า ธุรกิจไอทีในปี 2555 ในภาพรวมจะได้รับผลกระทบจาก 3 ปัจจัยหลักคือ หนึ่งภาวะอุทกภัยที่เกิดขึ้นนั้นทำให้สินค้าขาดตลาด โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ ซึ่งเป็น องค์ประกอบที่สำคัญของคอมพิวเตอร์ ซึ่งน่าจะเข้าสู่สภาพปกติประมาณสิ้นไตรมาสที่ 1 ปัจจัยที่สองคือ การเติบโตของสินค้าประเภท สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ที่มีการแข่งขันกันสูงมากในปัจจุบัน ทำให้ความต้องการเครื่องคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊กน้อยลงไปบ้าง ปัจจัยที่สามคือนโยบายของภาครัฐ เช่นการที่จะแจกแท็บเล็ตโรงเรียน จะทำให้ผู้บริโภครอดูสถานการณ์และยังไม่ตัดสินใจที่จะซื้อ เพื่อรอแท็บเล็ตฟรี เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จะส่งผลกับตลาดโดยรวมในปี 2555

>>มั่นใจประกันภัยบวก 2 หลัก

นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ยังคงเชื่อว่าธุรกิจ ประกันภัยยังเติบโตเป็นเลข 2 หลักตามทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจ เทียบกับปี 2554 ที่น่าจะเติบโตประมาณ 12-13% โดยประกันวินาศภัย น่าจะเติบโตได้ดี กว่าประกันชีวิต

ด้านนายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัย กล่าวว่า ปี 2555 คาดว่าเบี้ยประกันวินาศภัยยังคงเติบโตไม่น่าจะต่ำกว่า 15% เมื่อเทียบกับปี 2554 โดย ปัจจัยหลักมาจากยอดขายรถยนต์ จากที่อั้นไว้นานตั้งแต่ช่วงสึนามิในญี่ปุ่น จนถึงน้ำท่วม ใหญ่ในไทย ทำให้การผลิตหยุดชะงักไป ส่วนประกันภัยทรัพย์สิน ทั้งประกันอัคคีภัย ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด (Industrial All Risk : IAR) จะถูกปรับเบี้ยขึ้นมาก โดย IAR น่าจะเพิ่มเป็น 3-4 เท่า เพราะต้องพึ่ง พาตลาดประกันภัยต่อมาก

นายสุทธิ รจิตรังสรรค์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า ประเมินว่าปี 2555 ธุรกิจประกันชีวิตจะเติบโตได้ 10-15% จากฐานต่ำในปีที่ผ่านมาที่คาดว่าจะเติบโต 10% ซึ่งเป็นการคาดการณ์ บนพื้นฐานของการเมือง ที่สงบนิ่ง ส่วนน้ำท่วมยังเป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก หากปี 2555 การบริหารจัดการน้ำ หรือการจัด Flood Way ไม่ดีพอ ก็จะทำให้เกิดปัญหา น้ำท่วมกระทบต่อธุรกิจต่างๆ


ที่มา : สยามธุรกิจ


อ่าน : 2039 ครั้ง
วันที่ : 09/01/2012

Contact : V-SERVE GROUP 709/54-55 ถ.สุขุมวิท 77 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง  กทม. 10250 โทรศัพท์. 0 2332 3940-9 โทรสาร. 0 2332 0754
E-mail: tanit@v-servegroup.com