|
||||
|
||||
เอกชนจี้รัฐเร่งฟื้นความเชื่อมั่นหลังน้ำลด Shareหลังจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานครเริ่มคลี่คลายลง เริ่มเกิดคำถามตามมาว่า มูลค่าความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วมในรอบนี้เท่าไหร่กันแน่ และรัฐบาลจะมีมาตรการฟื้นฟู เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งประชาชน ธุรกิจสาขาต่างๆ อย่างไร เพื่อเรียกความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยกลับคืนมาโดยเร็ว ซึ่งมีข้อเสนอจาก "นายธนิต โสรัตน์" รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท.ที่น่าสนใจ และรัฐบาลควรรับฟังและนำไปปฏิบัติ ๐ เศรษฐกิจหลังน้ำท่วมจะเป็นอย่างไร ตอนนี้ยังเร็วไปที่จะพูดเรื่องการฟื้นฟูหลังน้ำลด เพราะน้ำยังลดไม่หมด ยังต้องใช้เวลาอีกนาน อย่างในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร และนิคมอุตสาหกรรมบางกะดี คาดว่ากว่าจะดูดน้ำออกหมดก็ช่วงกลางเดือน ธ.ค.นี้ ถึงกลางเดือน ม.ค.2555 ถึงจะเข้าไปกู้ได้ แต่ก่อนที่จะมาพูดเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ก็ต้องมาดูหลังน้ำลด ที่จะมีปัญหาเกิดขึ้นหลักๆ 2 เรื่อง คือ 1.การเคลมประกันภัยที่ขณะนี้ยังไม่ลงตัว เพราะมีโรงงานอุตสาหกรรมทั้งในและนอกนิคมฯ ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้รวม 10,000 ราย โดยจำนวนนี้เป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่อยู่ในนิคมฯ 800-900 ราย ที่เหลือเป็นโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็ก และเฉพาะโรงงานขนาดใหญ่ที่ทำประกันภัยไว้ก็มีมูลค่าทุนประกันรวมกันสูงถึง 200,000 ล้านบาท ๐ 200,000 ล้านบาทนี่เฉพาะแค่ทุนประกันของบริษัทรายใหญ่ๆ เท่านั้นใช่ไหม ใช่ครับ เพราะรายเล็กๆ ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำประกันภัย และส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ทำครอบคลุมไว้ ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการตีความว่า คำว่าภัยพิบัติหรืออุทกภัยจะเข้าข่ายหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการสำรวจและเจรจาความเสียหายด้วย เพราะเจ้าของบริษัทประกันภัยกับผู้เสียหายไม่ได้คุยกันโดยตรง แต่มีการเจรจาผ่านผู้ประเมินเหมือนประกันภัยรถยนต์ ซึ่งก็เห็นด้วยกับแนวคิดรัฐบาลที่จะให้เด็กอาชีวะมาช่วยในการสำรวจและ ประเมินความเสียหายเบื้องต้น แต่ผู้ประเมินความเสียหายนี้ควรต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นมีมูลค่าเยอะ ซึ่งอาจต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะต้องมีการส่งใบการันตีไปยังบริษัทแม่ในต่างประเทศด้วย ขั้นตอนการเคลมประกันกว่าจะเรียบร้อยก็ต้องใช้เวลานานเป็นเดือน หรือบางรายอาจเป็นปีได้ เพราะครั้งนี้มีโรงงานที่ได้รับความเสียหายเยอะ และเกิดพร้อมกัน จึงทำให้ผู้เชี่ยวชาญในการประเมินอาจไม่พอและทำไม่ทำ และที่สำคัญทุนจดทะเบียนประกันภัยในประเทศไทย รวมทุกประเภทขณะนี้มีแค่ 90,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งก็ไม่รู้ว่าบริษัทประกันภัยไทยจะมีเงินจ่ายหรือเปล่า ปัญหาที่ 2 คือ ความเร็วในการฟื้นฟูขึ้นอยู่กับมาตรการที่ดูดีของภาครัฐ มองว่าการใช้มาตรการด้านการเงินในช่วงต้นจะดีกว่าการใช้มาตรการด้านการคลัง เพราะมาตรการด้านการคลังส่วนใหญ่เป็นเรื่องของสิทธิประโยชน์และภาษีต่างๆ ซึ่งยังอีกไกล อย่างน้อยก็อีก 1-2 ปีกว่าจะต้องการใช้ โดยตอนนี้ภาครัฐต้องใช้มาตรการด้านการเงิน คือการเอาเงินใส่เข้าไปในระบบผ่านโครงการของภาครัฐ 3.5 แสนล้านบาท และสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อให้เอกชนมีเงินพอที่จะตั้งตัวได้ ซึ่งจะต่างจากที่ผ่านมา ที่ภาครัฐเอาเงินกระจายใส่เฉพาะรากหญ้าเท่านั้น ๐ แล้วจะแก้อย่างไร ใช่ นี่ไงฟังดูเหมือนแก้ง่ายแต่ทำยาก แต่ทำได้โดยรัฐบาลควรคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทยให้ช่วยลดหย่อนมาตรการต่างๆ ในการปล่อยสินเชื่อ เช่น ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ในการคำประกัน หรือการปล่อยสินเชื่อแบบพิเศษ โดยรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกันให้ หรือ PSA เหมือนตอนเกิดสึนามิ ผ่านธนาคารของรัฐทั้ง 3 แห่ง คือ ธนาคารออมสิน ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือเอสเอ็มอี แบงก์ ๐ แต่ดูเหมือนว่าความเสียหายครั้งนี้จะมากกว่าที่ผ่านมา ก็ใช่ไง โดยเฉพาะรายเล็กที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงิน ซึ่งมีอยู่ในซัพพลายเชนอีกเยอะ จึงคิดว่าวงเงินที่จะใช้ปล่อยกู้ผ่านธนาคารรัฐทั้ง 3 แห่งนั้นน่าจะมีวงเงินเบื้องต้นประมาณ 10,000 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายขึ้น ส่วนบริษัทขนาดใหญ่ที่มีบริษัทแม่อยู่ต่างประเทศ มองว่ากลุ่มนี้ไม่น่ามีปัญหา น่าจะฟื้นตัวได้เร็ว แต่ก็มีบริษัทรายใหญ่ที่เป็นของคนไทยอยู่ไม่น้อย ซึ่งกลุ่มนี้มีศักยภาพพอที่จะฟื้นตัวได้ แต่เบื้องต้นอาจต้องการเงินทุนไปหมุนเวียน ดังนั้นจึงควรเพิ่มสัดส่วนการลงทุนของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาด ย่อมหรือ บสย. เป็น 80,000-100,000 ล้านบาท ๐ แล้วมีข้อแนะนำไหมว่าจะทำอย่างไรให้เงินมันเข้าไปกระตุ้นระบบมากขึ้น ก็อย่างที่บอก คือ รายเล็กก็ปล่อยกู้ผ่านธนาคารรัฐวงเงิน 10,000 ล้านบาท ส่วนรายใหญ่ ถ้าจะให้ฟื้นเร็ว รัฐบาลต้องไปให้วงเงินกับ ธปท.มากขึ้น และเพิ่มพอร์ทเงินลงทุนของ บสย. เพราะดูแล้วไม่น่าจะทำให้เงินสูญ เพราะตลาดในประเทศยังมีดีมานด์อยู่ แต่ซัพพลายมีน้อย หรือเกิดหนี้เสียได้ หรือถ้าเกิดก็ไม่เกิน 10% จากปัจจุบันที่อยู่ระดับ 3% และกว่าจะเห็นก็อีก 2-3 ปีข้างหน้า แต่ขณะเดียวกันก็จะเป็นตัวกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็ว เพราะหากภาคอุตสาหกรรมฟื้น ภาคอื่นๆ ก็จะฟื้นตาม ทั้งนี้ จากน้ำท่วมประเมินว่าความเสียหายทางต่อภาคเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม เบื้องต้นคาดว่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,124,163 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10.5% ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยแบ่งเป็นความเสียหายทางภาคอุตสาหกรรม 474,750 ล้านบาท โดยนิคมฯ ทั้ง 7 แห่ง จำนวน 838 โรงงาน มูลค่าความเสียหาย 237,340 ล้านบาท และอุตสาหกรรมนอกนิคมฯ จำนวน 9,021 แห่ง มูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท และกระทบต่ออุตสาหกรรมเอสเอ็มอีจำนวน 285,000 ราย มูลค่ากว่า 24,000 ล้านบาท ความเสียหายที่เกิดขึ้น ทำให้คาดว่าปีนี้จีดีพีโตแค่ 1.5% และกว่าจะไปฟื้นตัวได้ก็คงเข้าไตรมาส 2 ปีหน้า แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่บอกว่าจะเกิดการว่างงาน 600,000-700,000 คน หรือมีอัตราการว่างงานเพิ่มเป็น 1.8-2% จากปัจจุบันที่มีอัตราว่างงานอยู่แค่ 0.7-0.9% เพราะตัวเลขว่างงานจากน้ำท่วมครั้งนี้จริงๆ มีไม่เกิน 5,000-6,000 คน เพราะโรงงานส่วนใหญ่ยังจ่ายเงินเดือนอยู่ ๐ ทำไมข้อมูลต่างกันขนาดนี้ อาจเป็นเพราะเขาประเมินจากจำนวนแรงงานที่มีอยู่ทั้งหมดในนิคมอุตสาหกรรมเลย แต่ความจริงแล้วยังมีการจ่ายค่าจ้างอยู่ แต่ที่ว่างงานจริงๆ น่าจะเป็นพวกแรงงานต่างด้าวที่มีกฎหมายบีโอไอค้ำอยู่ว่าห้ามใช้แรงงาน ต่างด้าว ตรงกันข้าม ภาคเอกชนกลับเป็นห่วงว่าจะเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานขึ้นมากกว่า เพราะตอนนี้แรงงานต่างด้าวทั้งกัมพูชาและพม่าก็พากันกลับบ้านไปหมดแล้ว และเมื่อดูจากฐานเดิมของภาคอุตสาหกรรมก็ยังขาดแคลนแรงงานอยู่แล้ว ตัวเลขว่างงานเป็นแสนคนที่ออกมาจึงไม่ค่อยห่วง ไม่งั้นมีคดี โวยวายออกมาแล้ว คนว่างงานไม่มีเงินเดือนกิน 2-3 เดือนต้องออกมาโวยวายแล้ว ๐ กระแสข่าวว่านักลงทุนต่างชาติจะย้ายฐานการลงทุนหนีจากไทยไปประเทศเพื่อนบ้าน ยังเชื่อว่านักลงทุนที่มีฐานการลงทุนอยู่ในไทยอยู่แล้ว คงไม่ย้ายหนีไปไหนหรอก โดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่น แต่สำหรับโครงการลงทุนที่เป็นส่วนขยายและการลงทุนใหม่ที่จะเข้ามา อาจจะหายไป โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานเข้มข้น เพราะตอนนี้เราไม่มีแรงจูงใจในเรื่องของแรงงาน เนื่องจากเจอทั้งปัญหาขาดแคลนแรงงานและค่าแรงที่สูงขึ้น การขยายลงทุนและกลุ่มที่ยังลังเลอยู่ว่าจะเข้ามาลงทุนในไทยดีหรือไม่ พอเจอเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันทันที ก็ทำให้พวกนี้ตัดสินใจไปเขมร พม่าทันที เพราะเขาเองก็มีทางเลือก และไม่เพียงแต่ทุนต่างชาติเท่านั้นที่จะหนีไปประเทศเพื่อนบ้าน แต่ขนาดนักลงทุนไทยเองก็ยังต้องหนีไปแล้ว ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีก็มีเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นแทน เพราะไทยได้เปรียบในเรื่องของระบบโลจิสติกส์ที่สุดในภูมิภาคนี้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเอกชนคัดค้านการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน เพราะที่ผ่านมาเอกชนหลายแห่งก็ให้ค่าแรงเกินอยู่แล้ว เพียงแต่อยากให้การปรับขึ้นค่าแรงเป็นไปตามระบบไตรภาคีที่เป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้เอกชนมีเวลาปรับตัว เพราะแค่ลำพังใช้ตามระบบไตรภาคีตอนนี้ค่าแรงขั้นต่ำก็เกือบ 300 บาทต่อวันอยู่แล้ว ดังนั้น รัฐบาลควรคิดเรื่องนี้ให้รอบคอบ เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้เสียโอกาสได้ ๐ หลังน้ำลด มีการฟื้นฟูนิคมฯ ต่างๆ แล้ว รัฐบาลควรทำอย่างไร หลังจากฟื้นฟูแล้ว ก็เป็นเรื่องของการสร้างความเชื่อมั่นการลงทุน ซึ่งก่อนอื่นรัฐบาลต้องหาคำตอบให้ได้ก่อนที่จะเดินทางไปโรดโชว์ต่างประเทศ เพราะนักลงทุนต่างชาติเหล่านี้ต่างก็มีข้อมูลอยู่แล้ว แต่หากผู้นำของเราไปพูดอะไรที่ไปคนละทาง ต่างจากข้อมูลที่นักลงทุนได้รับมา อันนั้นจะยิ่งแย่กว่า จึงไม่อยากให้รัฐบาลรีบร้อนตอนนี้ ก่อนไปชี้แจงต่างชาติรัฐบาลต้องตอบคำถามคนในประเทศเองให้ได้ก่อนว่า น้ำท่วมเกิดจากอะไร เป็นภัยธรรมชาติหรือเปล่า แล้วตัวเลขสถิติมาดูกัน รวมทั้งพยากรณ์อนาคตให้เห็น เช่น หากบอกว่าน้ำท่วมรอบนี้รุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี ก็แสดงว่าอีก 50 ปีจึงจะเกิดอีกครั้งหรือเปล่า ซึ่งคนไทยเองก็ยังไม่รู้คำตอบเลยว่าปีหน้าน้ำจะมาอีกไหม โดยจะต้องมีหน่วยงานที่น่าเชื่อถือที่ไม่ใช่ ศปภ.มาชี้แจง นอกจากความเชื่อถือแล้ว ยังต้องดูเรื่องการบริหารจัดการด้วยว่า ดีพอหรือยัง เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดปัญหา ตั้งแต่ ส.ค.มา ยังไม่มีใครทำอะไร หรือให้คำตอบได้เลย และมองว่าคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาตอนนี้ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงโจทย์ ๐ เศรษฐกิจปี 2555 มองว่าไทยยังมีอนาคตไหม ในมุมมองภาคเอกชนมองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2555 น่าจะกลับมาโตได้ที่ระดับ 4-5% จากปีนี้ที่คาดว่าอัตราการขยายตัวอยู่ที่ระดับ 1.5% เท่านั้น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะการฟื้นตัวของภาคก่อสร้างที่จะมีมากขึ้นหลังน้ำลด ซึ่งจะช่วยดึงจีดีพีให้โตได้ถึง 1% และเมื่อบวกกับมาตรการต่างๆ ของภาครัฐที่ใช้เงินหลายแสนล้านบาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หากสามารถขับเคลื่อนได้จริงก็จะทำให้เศรษฐกิจปีหน้าโตแน่นอน. ที่มา: ไทยโพสต์ อ่าน : 1762 ครั้ง วันที่ : 07/12/2011 |
||||
|