โรงงานนอกเขตน้ำท่วมจุก ต่างชาติสั่งลดออเดอร์ Share


 เมื่อวันที่ 9 พ.ย. ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ โรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ถูกน้ำท่วมได้รับผลกระทบคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) หดตัวลงเพราะคู่ค้าไม่กล้าสั่งซื้อสินค้าจากไทย เนื่องจากขาดความเชื่อมั่นอย่างมากว่า ผู้ ผลิตไทยอาจส่งสินค้าให้ไม่ทันตามกำหนด โดยภาวะดังกล่าวเป็นผลจากโรงงานอุตสาหกรรม ไทยจำนวนมากที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม ทั้ง 7 แห่ง ถูกน้ำท่วมเสียหาย 

 ตช.ไม่เชื่อมั่นลดสั่งออเดอร์รง.ไทย 

 น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบ แค่เฉพาะ 800 โรงงานอุตสาหกรรม ที่อยู่ใน นิคมอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่ง ที่ถูกน้ำท่วมไป แต่ยังส่งผลกระทบต่อโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศที่มีอยู่ประมาณ 20,000 แห่ง ด้วย เนื่องจากยังไม่สามารถเก็บเงินในช่วงนี้ได้ ซึ่ง จะส่งผลกระทบต่อเป็นลูกโซ่ นายธนิต กล่าว 

 รองประธานสอท. กล่าวว่า สัญญาณ ออเดอร์ได้เริ่มหดตัวลงต่อเนื่อง หลังพบสัญญาณในเดือนต.ค. ที่ผ่านมา ยอดออเดอร์ จากต่างประเทศลดลงประมาณ 10% จากเดือนก่อนหน้า และคาดการณ์จะทำให้การ ส่งออกในช่วง 3 เดือนสุดท้าย มีการขยายตัว ไม่มากนัก 

 พิษน้ำท่วมส่งออก-นำเข้าลดฮวบ 

 อย่างไรก็ตาม ถือว่าไทยยังโชคดี ที่ช่วง 9 เดือนแรก ยอดส่งออกโตถึง 25% จึงทำให้ภาพรวมยอดส่งออกปีนี้น่าจะยังอยู่ที่ระดับ 19-20% ที่มูลค่า 220,000 ล้านบาทได้ แต่หากสถานการณ์ส่งออกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ต้องติดลบ ก็คงต้องมาทบทวน ตัวเลขส่งออกปีนี้ใหม่ว่า จะเป็นไปในทิศทางใด ขยายตัวมากน้อยแค่ไหน และจากน้ำท่วมครั้งนี้ ก็ทำให้การน้ำเข้าปรับตัวลดลงด้วย 16% 

 นายธนิต กล่าวอีกว่า เอกชนมีความเป็นห่วงสถานการณ์น้ำที่อาจลุกลามไปถึงนิคมอุตสาหกรรมฝั่งตะวันตก เช่น นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาครและนิคมอุตสาหกรรม สินสาคร ก็จะยิ่งทำให้การแก้ปัญหาของ ภาคอุตสาหกรรม ทำได้ยากลำบากขึ้น เพราะ โรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่ฝั่งตะวันตก ของกรุงเทพฯส่วนใหญ่ เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยล้วนๆ และส่วนใหญ่ยังเป็น โรงงานอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูป และอุตสาหกรรมสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม และแม้ว่ามูลค่าเงินลงทุนจะมีมูลค่าน้อยกว่านิคมอุตสาหกรรมในฝั่งตะวันออก แต่หากตรงนี้โดนน้ำท่วมก็อาจทำให้เกิดปัญหาขาดแคลน ได้ เพราะเป็นแหล่งสำรองอาหารส่งออกของประเทศ 

 รัฐจ่ายชดเชยคนน้ำท่วมแล้ว2.2พันล. 

 ด้านนายยงยุทธ ตะริโย รองผู้อำนวยการ อาวุโส ธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ขณะนี้ออมสินได้สำรองจ่ายชดเชยน้ำท่วมครอบครัว ละ 5,000 บาท ไปแล้ว 4.4 แสนราย จากรายชื่อที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ส่งมาให้ทั้งสิ้น 4.7 แสนราย โดยคิดเป็นเงินที่จ่ายชดเชยไปแล้ว 2,200 ล้านบาท ซึ่งถือว่ายังไม่มาก เพราะยังไม่ได้เริ่มจ่ายชดเชย ให้กับคนใน กทม.เพราะเพิ่งผ่านความเห็นชอบ จากคณะรัฐมนตรี(ครม.)ไปเมื่อ 8 พ.ย. โดยขณะนี้สำนักงานเขตต่างๆ ที่ถูกน้ำท่วมกำลังรวบรวมตัวเลขบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย จากน้ำท่วมเพื่อส่งมาให้ออมสิน 

 คาดชดเชยทั่วปท.1.4หมื่นล้าน 

 นายยงยุทธกล่าวว่า สำหรับการชดเชยความเสียหายจากน้ำท่วม 5,000 บาท ครม.ประเมินว่าในปีนี้จะต้องจ่ายชดเชยทั้งประเทศประมาณ 62 จังหวัด รวมภาคใต้ด้วย ประมาณ 3.4 ล้านราย แบ่งเป็นต่างจังหวัด 2.7 ล้านราย ที่เหลือเป็นกทม. ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะต้องใช้เงินชดเชยทั้งสิ้น 14,000 ล้านบาท โดยออมสินพร้อมจะดำเนินการ และยืนยันว่าไม่มีปัญหาด้านสภาพคล่อง 

 ออมสินยันสภาพคล่องเพียงพอ 

 ทั้งนี้ในส่วนของการปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือน้ำท่วมตามมติ ครม.นั้น ในส่วนของออมสินต้องรับภาระ 6.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อเคหะ 1 หมื่นล้านบาท ช่วยเหลือ รายย่อยและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 3 หมื่นล้านบาท ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำร่วมกับธนาคารพาณิชย์ 2 หมื่นล้านบาท และปล่อยกู้นิคมไปสร้างเขื่อนกั้นน้ำ 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้ออมสินได้เตรียมเงินไว้พร้อมแล้ว ยืนยันสภาพคล่องของธนาคารมีเพียงพอกับ นโยบายต่างๆ ของรัฐ โดยเงินที่จะชดเชยน้ำท่วมนั้นไม่ได้ใช้ทั้งหมดทีเดียว เป็นการทยอยจ่าย จึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร 

 ฟาร์มเร่งขายหมูหนีน้ำล้นตลาด 

 ขณะที่นายประวิทย์ อัศนธรรม นายกสมาคมผู้ค้าเนื้อสุกรชำแหละไทย เปิดเผยถึง สถานการณ์ราคาหมูเป็นในขณะนี้ถือว่าเป็นผลดีต่อพ่อค้าชำแหละเป็นอย่างมาก เนื่องจาก ผู้ประกอบการหมูเป็นเร่งขายหมูเป็นเพื่อหนีน้ำท่วมส่งผลให้ราคาขายถูกลงและทำให้ ราคาบางพื้นที่มีการจำหน่ายในราคา 40 บาท ต่อกก. หรือ 50 บาทต่อกก. ส่วนราคาหมูเนื้อแดงขณะนี้ขายส่งในราคา 100 บาทต่อ กก. และขายปลีกอยู่ที่ราคา 120-130 บาทต่อกก. ภาพรวมหมูเป็นและหมูเนื้อแดง ในตอนนี้เริ่มล้นตลาดมากขึ้นทำให้คาดว่าช่วงเดือนม.ค. 2555 หมูอาจจะขาดตลาดได้ 

 แนะรัฐแก้ปัญหาห่วงหมูขาดตลาด 

 นายประวิทย์กล่าวว่า ผลจากการที่ผู้ประกอบการหมูเป็นเร่งขายหมูออกสู่ตลาด ส่งผลให้หมูชำแหละเริ่มล้นตลาดมากขึ้น คาดว่า ในอนาคตหมูเป็นและหมูชำแหละอาจ ขาดตลาดส่วนจะมากหรือน้อยแค่ไหนต้องดู นโยบายของรัฐบาลประกอบด้วย โดยเฉพาะ การส่งออกหมูไปต่างประเทศซึ่งหากรัฐบาลควบคุมการส่งออกในปริมาณที่เหมาะสม หมู ก็จะขาดตลาดไม่มากโดยเฉพาะในเขตพื้นที่ที่มีปัญหาน้ำท่วม แต่ภาพรวมทั้งประเทศหมูคงจะ ขาดตลาดไม่รุนแรงนัก ทั้งนี้ปัญหาน้ำท่วม ยังส่งผลให้โรงงานชำแหละหมูปิดการดำเนินงาน ไปบ้าง อีกทั้งการขนส่งก็มีปัญหาแต่ภาพรวม เนื้อหมูก็ยังมีพอต่อความต้องการของประชาชน ส่วนเรื่องที่หมูจะขาด ตลาดตนมองว่ารัฐบาล ก็คงต้องเข้ามาแก้ไขไม่ให้หมูขาดตลาดได้ 

 ชาวบ้านแห่ร้องไข่-น้ำดื่มแพง 

 นายสุชาติ สินรัตน์ ผู้อำนวยการ กลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียนสายด่วนกรมการค้า ภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงการร้องเรียน ราคาสินค้าผ่านเบอร์ 1569 ขณะนี้ 30-40 รายต่อวัน ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องไข่ไก่ น้ำดื่มมีราคาแพง ส่วนผักสด บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง ร้องเรียนเข้ามาน้อยเนื่องจากความ ต้องการไม่มากกับไข่ไก่และน้ำดื่ม นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้เพิ่มจุดกระจายสินค้าธงฟ้าด้วย 

 จ่อคุมราคาวัสดุซ่อมบ้านหลังน้ำลด 

 นายสุชาติกล่าวว่า กรมการค้าภายในเตรียมที่จะเข้าไปดูแลในส่วนของปริมาณและ ราคาของสินค้าในกลุ่มวัสดุก่อสร้างที่จำเป็น ในการซ่อมแซม ปรับปรุงที่อยู่อาศัยหลังน้ำท่วม เช่น กระเบื้องปูพื้น น้ำยาขจัดคราบ สี โซดาไฟ ซึ่งอาจมีการฉวยโอกาสขึ้นราคา เพราะในช่วง ระยะเวลาดังกล่าวความต้องการสินค้าจะสูงและอาจเกิดภาวะสินค้าขาดแคลน ส่วนวัสดุ ก่อสร้างพวกอิฐบล็อก ทราย ที่มีการนำไปป้องกันน้ำท่วม ที่แรกๆก็มีการร้องเรียนมาบ้างว่าราคาแพง ขาดแคลน แต่พอผ่านไปสักระยะความต้องการก็ลดลงเพราะน้ำท่วม หมดแล้วไม่จำเป็นต้องป้องกันความต้องการ จึงลดลงรวมทั้งสินค้าอื่นๆ ก็ไม่ได้มีการ ร้องเรียนเข้ามาอย่างผิดปกติเพราะประชาชน ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้แล้ว 

 แรงงานพม่าหนีน้ำแห่หางานจ.ระนอง 

 นายนิตย์ อุ่ยเต็กเค่ง ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดระนอง และอดีตประธานหอการค้า จ.ระนอง เจ้าของ กิจการอู่ซ่อมรถ และธุรกิจประกันภัย เปิดเผย ว่า ผลกระทบที่เกิดจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ และท่วมขังเป็นเวลานาน ทั้งยังสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในเขตพื้นที่กทม. ที่มีแรงงานต่างด้าวทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก นั้นล่าสุดพบว่าแรงงานต่างด้าวที่โรงงาน ได้รับความเสียหาย และนายแจ้งหยุดกิจการ ไม่มีกำหนดได้เริ่มทยอยออกมาหางานในพื้นที่ต่างจังหวัด มากขึ้น โดยในเขตพื้นที่ จ.ระนอง ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนมีโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 80 โรงงาน มีการจ้างแรงงาน พม่าจำนวนตามตัวขึ้นทะเบียนรวม 55,000 คน พบว่าขณะนี้เริ่มมีแรงงานจำนวนมากประสาน ติดต่อผ่านมายังนายจ้าง ตัวแทนนายหน้า รวมถึงญาตที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการ ต่างๆ ในเขตพื้นที่ จ.ระนอง เพื่อขอสมัครงาน 

 ในขณะเดียวกันพบว่ามีนายจ้างหลายรายที่รับแรงงานที่หนีภัยน้ำท่วมจากพื้นที่ กทม.และภาคกลางเข้าทำงานแล้ว ไม่ต่ำกว่า 1,000 คน ในหลายกิจการเนื่องจาก พบว่าโรงงาน สถานประกอบการ และนายจ้าง ใน จ.ระนอง ยังต้องการแรงงานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากที่ผ่านมา เจอปัญหาการเคลื่อนย้าย สถานที่ทำงานของแรงงานจนสร้าง ปัญหาให้กับการดำเนินงานของสถานประกอบการ



ที่มา: แนวหน้า



อ่าน : 1991 ครั้ง
วันที่ : 12/11/2011

Contact : V-SERVE GROUP 709/54-55 ถ.สุขุมวิท 77 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง  กทม. 10250 โทรศัพท์. 0 2332 3940-9 โทรสาร. 0 2332 0754
E-mail: tanit@v-servegroup.com