4 องค์กรธุรกิจอีสาน ย้ำ ค่าแรง 300 ทำอุตฯ ไทยล่ม เตรียมรับปัญหาคนว่างงานเกลื่อนเมือง Share



      4 องค์กรธุรกิจภาคเอกชนในอีสาน เปิดเวทีถกค่าแรง 300 เศรษฐกิจจะวอดวายหรือไปโลด ย้ำ ผลเสียมากกว่าผลดี ภาคอุตสาหกรรมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ นักลงทุนเตรียมย้ายหนีเข้าเวียดนาม-กัมพูชา โรงงานกระจุกตัวแต่ใน กทม.-ปริมณฑล การกระจายรายได้ไม่ถึง ตจว. เอสเอ็มอี ปิดตัว คนว่างงานเกลื่อนถนน ปัญหาสังคมตามมารอบด้าน ย้ำนโยบายค่าแรงขั้นต่ำขาดการวางแผน หวังแค่หาเสียง

      เมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่โรงแรมโฆษะ ขอนแก่น 4 องค์กรธุรกิจ ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น, สมาคมโรงแรมไทยภาคอีสาน, สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดขอนแก่นและสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการ วิสาหกิจไทย (สสวท.) จังหวัดขอนแก่น ได้ร่วมกันเปิดเวทีเสวนาในประเด็น “ค่าแรง 300 เศรษฐกิจจะวอดวายหรือไปโลด”
       
       นโยบายประชานิยมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยนั้น ได้ถูกตั้งธงเอาไว้แล้วว่าตั้งแต่มกราคม 2555 ใน 7 จังหวัดนำร่องต้องปรับขึ้นทันที ขณะที่อีก 70 จังหวัดที่เหลือให้ทยอยปรับขึ้นตามความพร้อมของผู้ประกอบการแต่ละพื้นที่ และเมื่อถึงสิ้นปีทุกจังหวัดต้องสนองนโยบายปรับให้เท่ากันในอัตรา 300 บาททั่วประเทศ ซึ่งกรอบปฏิบัติดังกล่าวได้สร้างความวิตกกังวลต่อผู้ประกอบการภาคธุรกิจเป็น อย่างมาก ว่า
       
       การดันทุรังของรัฐบาลจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยถึงคราวเปลี่ยนแปลง ครั้งใหญ่ ภาวะการลงทุนชะงักงัน โรงงานใหญ่ๆเตรียมย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ที่ต้นทุนค่าแรงต่ำกว่า แรงงานจำนวนมากจะถูกเลิกจ้างเพื่อลดภาระต้นทุนของผู้ประกอบการ และธุรกิจกลุ่ม SMEsจะเลิกกิจการ ที่สำคัญจะเกิดวิกฤตการว่างงานครั้งใหญ่
       
       นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทนั้น ในแต่ละภาคส่วนธุรกิจไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับต้นทุนค่าจ้างแรงงาน เช่นธุรกิจบริการต้นทุนส่วนนี้อยู่ที่ประมาณ 30-40%, อุตสาหกรรมรถยนต์ 1%, การ์เมนท์ 20%, โรงงานรับจ้างทำของ 50-60%, โรงงานผลิตอาหารทะเล 20%, ธุรกิจเพชรพลอย 6-10%, ขนส่ง 6% แต่เมื่อเฉลี่ยผลกระทบโดยภาพรวมแล้ว จะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นรวม 3% และจะทำให้กำไรเฉลี่ยลดลงในภาพรวมประมาณ 3% เช่นกัน
       
       นอกจากนี้ การปรับค่าแรงงานให้เท่ากันทั่วประเทศ จะทำให้อุตสาหกรรมกระจุกตัวอยู่ในเฉพาะเขตที่การคมนาคมขนส่งสะดวกเท่านั้น ส่วนเขตรอบนอกหรือเขตที่ห่างไกลท่าเรือ จะไม่มีอุตสาหกรรมเข้าไปตั้งโรงงาน เพราะจะทำให้ต้นทุนแพงขึ้นอีกจากค่าขนส่ง เมื่ออุตสาหกรรมกระจุกตัวเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล ชาวต่างจังหวัดจะเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจมากขึ้นเป็นเท่าตัว การกระจายความเจริญจะทำได้หรือไม่
       
       การขึ้นค่าแรงงขั้นต่ำนั้น ไม่ใช่ว่าผู้ประกอบการไม่เห็นด้วย เพียงแต่ต้องการให้รัฐบาลวางแผนรองรับให้รอบคอบ เป็นขั้นเป็นตอน รัฐบาลจะต้องสร้างสาธารณูปโภครองรับให้พร้อม และ กำหนดระยะเวลาที่จะปรับขึ้นจะต้องค่อยเป็นค่อยไป เช่นอาจจะกำหนดกรอบในระยะเวลา 3 ปี, 5 ปี ไม่ใช่เพิ่มขึ้นทีเดียวเท่ากันหมดในอีก 3 เดือนข้างหน้านี้ ควรให้โอกาสผู้ประกอบการได้ปรับตัว
       
       ซึ่งในเวลานี้ไม่ใช่เวลาที่จะมาพูดถึงความเหมาะสมว่าจะต้องขึ้นค่า แรงหรือไม่ เพราะอย่างไรเสีย รัฐบาลจะต้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท อย่างที่หาเสียงไว้แน่นอน แต่สิ่งที่ควรจะพูดคือ ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวอย่างไรจึงจะเอาตัวรอดจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ให้ได้ เพราะการปรับค่าแรงงานครั้งนี้ เป็นการเปลี่ยนประเทศไทยไปอีกระดับหนึ่ง ซึ่งหมายถึงไทยจะต้องผลิตสินค้าที่มีระดับ ราคาแพงเท่านั้น จึงจะอยู่ได้ ซึ่งเปรียบเสมือน ไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่ ต้นไม้ที่แข็งแรงเท่านั้นที่จะอยู่รอด
       
       นายธนิต กล่าวย้ำว่า ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีของไทย ซึ่งมีประมาณ 80% ของประเทศ เกือบทั้งหมดยังไม่แข็งแรงพอจะต้องได้รับผลกระทบหนัก การปิดกิจการ การปลดพนักงานจะต้องเกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลไปถึงการเกิดหนี้เสียในระบบสถาบันการเงิน การขึ้นราคาสินค้าจะส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ และจะลามไปถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงิน และจะวนไปยังการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต ผลกระทบจะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจของชาติทั้งระบบ
       
       สำหรับมาตรการช่วยเหลือของรัฐที่อ้างว่าจะลดภาษีรายได้นิติบุคคล เหลือ 23% หรือการฝึกอบรมแรงงานให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มให้นั้น ถือว่าแก้ปัญหาไม่ตรงประเด็น เพราะหากผู้ประกอบการประสบปัญหาแล้ว จะให้เอาภาษีรายได้ที่ไหนมาลด อย่าลืมว่าธุรกิจเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ เป็นธุรกิจครอบครัว ผลกำไรรายได้ไม่ได้มากมาย แค่พอเลี้ยงตัว
       
       ดังนั้น ทางออกที่ผู้ประกอบการจะทำได้เพื่อให้กิจการอยู่รอดเฉพาะหน้า คือ การลดพนักงานลง การขึ้นราคาสินค้า เมื่อทั้งสองอย่างนี้เกิดขึ้น การว่างงานจะเพิ่มขึ้น การขึ้นราคาสินค้า ก็จะส่งผลทำให้ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นอีกเช่นกัน ซึ่งการขึ้นค่าแรงงานก็จะไม่มีผลในแง่บวกมากเท่าด้านลบ
       
       นายวิฑูรย์ กมลนฤเมธ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น กล่าวยอมรับว่า เห็นด้วยกับนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาล แต่การเพิ่มขึ้นในอัตรา 300 บาท เท่ากันทั่วประเทศนั้น เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากประการแรก การขึ้นค่าแรงของรัฐบาลเป็นการทำเพื่อหาเสียง ไม่มีการวางแผนที่ดี ผลกระทบที่ตามมามากมาย นโยบายดังกล่าวแทนที่จะเกิดประโยชน์ แต่กลับส่งผลเสียต่อภาพรวมภาคอุตสาหกรรมของประเทศ นักลงทุนที่เตรียมย้ายฐานเข้ามาลงทุนในไทยจะเปลี่ยนไปลงทุนในประเทศเพื่อน บ้านแทน เช่น เวียดนาม และกัมพูชาเป็นต้น
       
       ส่วนผู้ประกอบการเดิมที่ทนแบกภาระต้นทุนไม่ไหวบางส่วนต้องเลิกจ้าง พนักงาน ลดกำลังการผลิตและบางส่วนจะย้ายฐานไปยังประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน โดยค่าแรงเวียดนามต่ำกว่าไทยมาก ราว 70-100 บาท/วัน กัมพูชาราว 70 บาท/วัน
       
       สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ได้ จะต้องปรับตัว เช่น การลดพนักงานลง เพิ่มราคาสินค้า ซึ่งหมายถึงการตกงานของแรงงานจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งไทยจะเปลี่ยนจากประเทศที่ขาดแคลนแรงงานเป็นประเทศที่มีคนว่างงานเพิ่ม ขึ้น นโยบายการขึ้นค่าแรงของรัฐบาล ถ้าจะเปรียบ ก็เปรียบเหมือนรัฐบาลบังคับให้ประชาชนสวมเสื้อไซส์เดียวกัน
       
       แต่รัฐบาลลืมไปว่า ขนาดตัวของประชาชนสูงใหญ่ไม่เท่ากัน หรือคิดง่ายๆ ค่าครองชีพที่จังหวัดกาฬสินธุ์กับภูเก็ต นั้นไม่เท่ากัน เพราะภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว ขณะที่กาฬสินธุ์เป็นจังหวัดที่ทำเกษตรกรรม ดังนั้นค่าจ้างแรงงานจะให้เหมือนกันก็คงเป็นไปไม่ได้
       
       นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล เลขาธิการ สสวท.ระบุอีกว่า นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลจะเห็นผลเชิงบวกในระยะสั้นเท่านั้น ขณะที่ในระยะยาวจะทำให้ชีวิตของแรงงานลำบาก ไม่ว่าจะเป็นการปลดพนักงานของผู้ประกอบการ การย้ายฐานการตั้งโรงงานของผู้ประกอบการ หากปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในอีก 1-2 ปีข้างหน้า เท่ากับย้ำให้เห็นว่านโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาท ขาดการวางแผนที่รอบคอบ
       
       ทั้งนี้ หากจะเปรียบเทียบกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กรณีของ สิงคโปร์นั้น รัฐบาลเขาได้ตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการขึ้นมาโดยเฉพาะ ที่สำคัญเป็นนโยบายที่ประกาศบังคับใช้เพื่อผลประโยชน์ของคนในชาติทุกภาคส่วน ไม่ได้มุ่งเอาใจคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
       
       ปัจจุบัน ธุรกิจเอสเอ็มอีไทย มีประมาณ 80% ของอุตสาหกรรมทั้งประเทศ ส่วนมูลค่าคิดเป็น 30-40% ของจีดีพีรวมของประเทศ ดังนั้น แรงงานที่อยู่ในส่วนนี้จึงมีจำนวนมาก แต่แน่นอนว่าสถานภาพของเอสเอ็มอีไทยไม่ค่อยแข็งแรงนัก และส่วนใหญ่ไม่กล้าวิจารณ์นโยบายดังกล่าวตรงๆ เพราะกลัวว่าสถาบันการเงินจะไม่ปล่อยสินเชื่อให้ จึงทำให้ทุกคนต้องพยายามรักษาภาพพจน์ไว้
       
       “หากรัฐบาลยังยืนยันที่จะขึ้นค่าแรง 300 บาทเท่ากันทั้งประเทศภายในสิ้นปีหน้า ปัญหาที่เกิดนอกจากวิกฤตว่างงาน หรือปัญหาทางเศรษฐกิจแล้ว ปัญหาทางสังคมอื่นๆก็จะตามมามากมาย เมื่อคนว่างงาน ก็ขาดรายได้จุนเจือครอบครัว ภาวะกดดันที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่อาชญากรรมปล้น จี้ทุกพื้นที่” นายสุวรรณชัย ให้ความเห็น

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์




อ่าน : 2236 ครั้ง
วันที่ : 27/09/2011

Contact : V-SERVE GROUP 709/54-55 ถ.สุขุมวิท 77 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง  กทม. 10250 โทรศัพท์. 0 2332 3940-9 โทรสาร. 0 2332 0754
E-mail: tanit@v-servegroup.com