เจโทร เผยผลสำรวจ
ความคิดเห็นนักลงทุนญี่ปุ่นในไทย ส่วนใหญ่กังวลเรื่องต้นทุน
ทั้งจากราคาวัตถุดิบและค่าแรง วอนรัฐบาลใหม่ชะลอการปรับขึ้น
ชี้ผลกระทบจาก"สึนามิ" ยังไม่จาง หากเจอกระแทกอีกคงไม่ไหว ด้าน สอท.
ชี้หากรัฐขึ้นค่าแรงทันที ทุนญี่ปุ่นเผ่นแน่ ขณะที่เวียดนาม อินโดนีเซีย
อ้าแขนรับ ด้าน ส.ค้าปลีก ย้ำปัญหาค่าแรง จะทำธุรกิจทรุด
นายเซอิยะ สุเคกาว่า รองประธานและการวิจัยทางเศรษฐศาสตร์อาวุโส
(ภูมิภาคเอเชีย)
องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่นประจำกรุงเทพ (เจโทร)
เปิดเผยผลสำรวจแนวโน้มทาง เศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศ
ประจำครึ่งปีแรก 2554 พบว่า บริษัทส่วนใหญ่ในขณะนี้กำลังปรับตัวดีขึ้น42 %
และพบว่า บางบริษัทมีสภาพที่ปรับตัวลดลงมากถถึง 38 %
โดยหากพิจารณาในแต่ละอุตสาหกรรม จะพบว่า
มีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่เป็นลบกลุ่ม อาทิ
อุตสาหกรรมเครื่องจักรที่ใช้ในการขนส่ง อุตสาหกรรมเคมี
ส่วนอุตสาหกรรมอื่นที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งคาดว่า
จะปรับตัวในทิศทางที่หดตัวในทุกประเภทอุตสาหกรรม
ส่วนแนวผลสำรวจโน้มเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังของปี 2554 พบว่า
สภาพธุรกิจจะดีขึ้น 69% และสภาพธุรกิจจะแย่ลง 10 %
และหากพิจารณาในแต่ละอุตสาหกรรม
คาดว่าอุตสาหกรรมการผลิตแม้จะปรับตัวในทิศทางที่หดตัวในอุตสาหกรรมอาหาร
และสิ่งทอ แต่ในอุตสาหกรรมอื่นคาดจะปรับตัวดีขึ้น
ส่วนอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การผลิตคาดว่า
จะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นทุกประเภทอุตสาหกรรม
"เป็นไปได้ว่า เหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ญี่ปุ่น
ทำให้บริษัทส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ กำลังการผลิตจะลดลง
เมื่อเทียบจากปีที่ผ่านมา ส่วนผลกำไรทั้งปี 2554 อาจจะลดลงเช่นกัน"
นายเซอิยะ กล่าวอีกว่า จากการสำรวจครั้งนี้ยังพบว่า
นักลงทุนญี่ปุ่นมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยคือ
ต้องการให้รัฐบาลไทยรักษาความมั่นคง และเสถียรภาพทางการเมือง
รวมทั้งความปลอดภัยของสถานการณ์บ้านเมือง 64 %
พัฒนาและปรับเปลี่ยนการใช้งานที่เกี่ยวข้องกับระบบภาษีศุลากร 48%
ผ่อนปรนกฎระเบียบให้กับผู้ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 28%
นอกจากนี้ ต้องการให้รัฐบาลไทยหลีกเลี่ยงความล่าช้า
และอำนวยความสะดวกในขั้นตอนพิธีศุลกากร 40 %
เลื่อนกำหนดเวลาในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 37 %
มาตรการป้องกันความเสียหายอันจะเกิดจากข่าวลือ อาทิ
เรื่องความปลอดภัยอาหารญี่ปุ่น 30 %
"ที่ต้องการให้รัฐบาลไทยเลื่อนกำหนดในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำออกไปนั้น
เนื่องจากนักลงทุนญี่ปุ่นบางรายได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติ
จึงยังไม่ต้องการให้รัฐบาลไทยปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวันในทันที
เนื่องจากนักลงทุนกังวลในเรื่องของต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น
รวมทั้งต้นทุนเรื่องของค่าแรงด้วย
ส่วนนักลงทุนญี่ปุ่นจะย้ายการลงทุนจากไทยไปประเทศอื่นหรือไม่นั้น ยืนยันว่า
ขณะนี้ยังไม่มีความต้องการจะย้ายไป เนื่องจากยังเห็นศักยภาพของประเทศไทย"
สอท.ชี้ทุนญี่ปุ่นเผ่นแน่
ด้าน ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
เปิดเผยในงานเสวนา "เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง...มุมมองภาคเอกชน" ว่า
หลังจากองค์การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่นประจำกรุงเทพฯ (เจโทร)
และหอการค้าญี่ปุ่นประจำประเทศไทย (เจซีซี)ได้สอบ
ถาม ผลกระทบต่อนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300
บาทต่อวันทั่วประเทศของรัฐบาลใหม่พบว่า มีความกังวลว่า
จะทำให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น และหากปรับขึ้นทันที
อาจทำให้ญี่ปุ่นลดน้ำหนักการลงทุนในประเทศไทย
โดยย้ายไปประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียและเวียดนามแทน
"ขณะนี้ญี่ปุ่นไม่ได้มองว่า ประเทศไทยน่าเข้ามาลงทุนเป็นอันดับ 1
ในภูมิภาคแล้ว แต่มอง อินโดนีเซียน่าลงทุนมากกว่าไทย รองลงมาคือเวียดนาม
และมองไทยเป็นอันดับ 3" ดร.ธนิต กล่าว
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน ได้แก่
นโยบายประชานิยมของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ทั้งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300
บาทต่อวัน และนโยบายอื่นๆ ล้วนส่งผลให้ภาวะเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น
โดยคาดว่า อาจจะทะลุกรอบ 4.2-4.5 % ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง
อัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ฌน่าจะขยับขึ้นเป็น 3.75%
ภายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งก็จะกลายเป็นภาระเพิ่มขึ้นไปอีก
ด้านนางผุสดี กำปั่นทอง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า
หากรัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน
จะเป็นการเร่งอัตราเงินเฟ้อให้ปรับตัวสูงขึ้นเป็น 4 % จากที่คาดว่า
จะอยู่ระดับ 3.2-3.7% ภายใต้สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบที่ระดับ 100
เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และค่าเงินบาทอยู่ที่ 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ
ด้านนางสาวบุษบา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า
สำหรับนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300
บาทเชื่อว่าจะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจอย่างแน่นอน โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก
แต่ต้องขอระยะเวลาในการปรับตัวรวมทั้งต้องมีการตั้งกองทุนขึ้นมาช่วยเหลือ
ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอีกทางหนึ่ง
ที่มา: แนวหน้า
|