ดร.ธนิต โสรัตน์
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเยว่า
สอท.เตรียมสรุปแนวทางเกี่ยวกับนโยบายการขึ้นค่าแรงของพรรคการเมือง
เพื่อเสนอให้กับพรรคการเมืองต่างๆ ภายในวันที่ 20 มิถุนายนนี้
หลังพิจารณาเห็นว่าฐานค่าแรงในเขตกรุงเทพฯอยู่ที่ 210 บาทต่อวัน
หากมีการปรับขึ้นต้องสะท้อนกับอัตราเงินเฟ้อหรือปรับขึ้นค่าแรงอีกเพียง 11
บาทต่อวัน มาอยู่ที่ 221 บาทต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 6.2%
แต่หากพิจารณาตามคุณภาพชีวิตจะเพิ่มขึ้น 37 บาท มาอยู่ที่ 247 บาทต่อวัน
หรือเพิ่มขึ้น 17.6%
ทั้งนี้ภาคเอกชนเห็นว่า
การที่พรรคการเมืองชูนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน
ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะปรับขึ้นขนาดนั้น
ควรจะหาจุดสมดุลให้สามารถอยู่และรับได้ของทั้งลูกจ้างและนายจ้าง
โดยส่วนตัวเห็นว่าควรปรับขึ้นไม่เกิน 20 บาทต่อวัน หรือปรับขึ้นประมาณ 10%
เพื่อเป็นการพบกันตรงกลาง
เพราะยังยืนยันว่าการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำควรเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ
ไตรภาคี
"ไม่มีเหตุผลที่พรรคการเมืองจะปรับขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาทต่อวัน
และการพิจารณาค่าแรงควรเป็นเรื่องของคณะกรรมการไตรภาคี
ไม่ใช่การเมืองเข้ามาแทรกแซงเพื่อตอบสนองนโยบายประชานิยมของตัวเอง
โดยขณะนี้
สอท.ได้ส่งแบบสำรวจผลกระทบการปรับค่าแรงขั้นต่ำตามนโยบายพรรคการเมือง
ไปยังสมาชิก
สอท.หลังจากนั้นจะนำผลการสำรวจมารวบรวมเพื่อสรุปแนวทางดำเนินการในวันที่ 8
มิถุนายนนี้ ก่อนนำเสนอพรรคการเมืองในวันที่ 20 มิถุนายนนี้
เพื่อกำหนดเป็นนโยบายต่อไป"นายธนิต กล่าว
อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนไม่ได้คัดค้านเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
แต่จะต้องพิจารณาตัวเลขให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ
และความสามารถในการสั่งจ่ายของผู้ประกอบการด้วย
เพราะถ้ามีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสูงมากเกินไป
ก็อาจทำให้ผู้ประกอบการรับภาระไม่ไหว เพราะต้นทุนปรับตัวสูงขึ้น
จนต้องผลักภาระไปให้ประชาชน โดยการปรับขึ้นราคาสินค้า
หรือเป็นการบีบให้ผู้ประกอบการทำผิดกฎหมายแรงงาน
ด้วยการใช้แรงงานต่างด้าวที่มีค่าแรงต่ำกว่าแทนได้
ที่มา: แนวหน้า
|