|
||||
|
||||
จวกนโยบายแรงงานแค่ขายฝัน ฟันธงต้นทุนบาน-สินค้าราคาพุ่ง Shareสภาอุตฯ-แรงงาน-นักวิชาการ ชี้ นโยบายแรงงานพรรคการเมืองแค่ขายฝัน ปฏิบัติจริงยาก กระทบวงกว้าง ทั้งภาคธุรกิจ-แรงงาน อ่วมถ้วนหน้า ทั้งต้นทุนส่งออก-สินค้าแพงขึ้น แนะควรปรับค่าแรงรายปีไม่ต่ำกว่าเงินเฟ้อ เน้นรัฐปรับเงินเดือนข้าราชการใหม่ให้ได้ 1.5 หมื่น/เดือนก่อน จากกรณีที่พรรคการเมืองต่างๆ ประกาศนโยบายด้านแรงงาน เช่น พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 25% ภายใน 2 ปี และลดค่าครองชีพ พรรคเพื่อไทย (พท.) มีนโยบายว่าจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และเพิ่มเงินเดือนผู้จบปริญญาตรีเป็น 1.5 หมื่นบาท พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ชูเรื่องกองทุนจ้างงาน 1 ล้านคน มีงานทำ พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน (ชพน.) เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 350 บาท ภายใน 3 ปีนั้น วันนี้ (30 พ.ค.) ที่กระทรวงแรงงาน นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงนโยบายด้านแรงงานของพรรคการเมือง ว่า พรรคการเมืองต่างๆ ใช้นโยบายประชานิยม ซึ่งจากการประเมินพบว่า หากปรับค่าแรงงานขั้นต่ำตามนโยบายของพรรค พท.จะทำให้ภาคเอกชนต้องใช้เงินเพิ่มขึ้น 1.5 หมื่นล้านบาทต่อเดือน นโยบายพรรค ปชป.ใช้เงินเพิ่มขึ้น 4-5 พันล้านบาทต่อเดือน นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างกับภาคธุรกิจและแรงงาน เพราะทำให้ต้นทุนการส่งออกและการผลิตเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งยังทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้น และราคาสินค้าแพงขึ้น การที่พรรคการเมืองต่างๆ มีนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำ ปรับเงินเดือนผู้จบปริญญาตรีแบบก้าวกระโดดเช่นนี้ ทำให้ภาคเอกชนปรับตัวไม่ทัน จะเกิดผลกระทบต่อภาคธุรกิจและแรงงาน ไม่ช่วยแก้ปัญหาระยะยาว ถ้าจะแก้ปัญหาจริงๆ ในการปรับค่าแรงขั้นต่ำควรจะกำหนดค่าแรงงานขั้นต่ำแบบรายปีในอัตราที่ไม่ต่ำ กว่าเงินเฟ้อ และสนับสนุนแรงงานที่มีฝีมือให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานฝีมือแรงงาน รวมทั้งหากจะปรับเงินเดือนผู้จบปริญญาตรีเป็น 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน ภาครัฐควรจะเริ่มบรรจุข้าราชการใหม่ในอัตราเงินเดือนนี้ก่อน และภาคเอกชนก็จะปฏิบัติตาม นายธนิต กล่าว นายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า นโยบาย ด้านแรงงานของพรรคการเมืองต่างๆ เป็นเพียงการหาเสียงเท่านั้น ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาแรงงานในภาพรวม ซึ่งปัจจุบันยังมีความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจ และรายได้ระหว่างคนจนและคนรวยอยู่มาก สิ่งที่พรรคการเมืองควรจะทำ อย่างน้อยควรให้แรงงานมีรายได้เพียงพอที่จะดูแลคนในครอบครัวอย่างน้อย 3 คน จัดทำโครงสร้างเงินเดือนและการขึ้นเงินเดือนประจำปี จะทำให้แรงงานได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ผศ.ดร.วิชัย โถสุวรรณจินดา อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ในฐานะนักวิชาการด้านแรงงาน กล่าวว่า นโยบายต่างๆ ที่ออกมาเป็นการบังคับนายจ้างให้ต้องปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และเงินเดือนของผู้ที่จบปริญญาตรี ซึ่งน่าเป็นห่วงว่านโยบายปรับเงินเดือนดังกล่าวจะทำให้ผู้ที่จบปริญญาตรี ว่างงานมากขึ้น เพราะขณะนี้ภาคเอกชนต้องการแรงงานที่จบปริญญาตรีจำนวนน้อย แต่ต้องการผู้ที่มีวุฒิต่ำกว่า เช่น ช่างฝีมือสาขาต่างๆ เป็นจำนวนมาก หากจะมีการปรับเงินเดือนผู้ที่จบ ปริญญาตรีเป็น 1.5 หมื่นบาท รัฐบาลจะต้องเป็นฝ่ายเริ่มก่อน โดยสำรวจจำนวนลูกจ้าง หรือพนักงานที่ขาดแคลนในหน่วยงานราชการต่างๆ แล้วสนับสนุนให้บัณฑิตว่างงาน เข้ามาทำงานเป็นลูกจ้างหรือพนักงานรัฐ ขณะเดียวกันก็เร่งผลิตช่างฝีมือสาขาขาดแคลนป้อนเข้าสู่ภาคเอกชน ผศ.ดร.วิชัย กล่าว อ่าน : 1886 ครั้ง วันที่ : 02/06/2011 |
||||
|