สภาอุตฯ ประเมินจีดีพีไตรมาสแรกโต 3.8% Share


ส.อ.ท. สรุปจีดีพีไตรมาส 1 ขยายตัว 3.8% คาดไตรมาส 2 โตต่อเนื่อง 3.8-4% รวมทั้งปีโต 4.5% เพราะส่งออกดี การเมืองกลับเข้าสู่ระบบการเลือกตั้ง

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายในงานเสวนา เรื่อง “รายงานเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2554 และทิศทางเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรก มุมมองภาคเอกชน” ว่า ในช่วงไตรมาสแรกอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี)ไทยยังขยายตัวได้ประมาณ 3.8% โดยมีการขับเคลื่อนจากภาคการส่งออก ที่ขยายตัว 21% มูลค่า 5.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การบริโภคของภาคเอกชนเติบโตที่ระดับ 4.1% และการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวได้ในระดับที่น่าพอใจที่ 9-9.5%

ทั้งนี้ แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 ส.อ.ท.คาดว่าจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยอาจจะขยายตัวได้มากกว่า 3.8-4% แม้ว่าจะมีปัญหาด้านเงินเฟ้อในระดับ 3.14-3.2% แต่ก็ยังคงสอดคล้องกับเงินเฟ้อของภูมิภาค และคาดการณ์ทั้งปีจีดีพีน่าจะเติบโตได้ที่ 4-4.5% โดยจะขึ้นอยู่กับความสัมฤทธิ์ผลของนโยบายกดดันเงินเฟ้อของรัฐบาล และความสามารถของรัฐบาลในการรักษาการณ์ช่วงสูญญากาศก่อนการเลือกตั้ง

สำหรับปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยมาจากสถานการณ์การส่งออกที่ยังเติบ โตได้ดี โดยในช่วงไตรมาสแรกยังมีการเติบโตในอัตรา 22 -24% มูลค่า 5.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยตลาดหลักยังขยายตัวได้ 21% ตลาดอาเซียนขยายตัว 17-18% และตลาดจีนขยายตัว 22% เนื่องจากการฟื้นตัวของสหรัฐอเมริกามีการฟื้นตัวดีกว่าที่คาดหมายไว้ ขณะที่การนำเข้าของญี่ปุ่นขยายตัวสูงถึง 34% โดยเหตุแผ่นดินไหวจากประเทศญี่ปุ่นจะไม่มีผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย ขณะที่การส่งสินค้าไปประเทศที่มีศักยภาพสูง และตลาดรองยังมีการเติบโตที่ดี ดังนั้นการส่งออกทั้งปีอาจขยายตัวได้ 15.5%

ขณะที่ทิศทางการเมืองในประเทศค่อนข้างมีความชัดเจนหลังจากที่รัฐบาลประชา ธิปัตย์ได้กำหนดช่วงเวลาในการยุบสภาในช่วงวันที่ 6 พ.ค. 2554 และจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงปลายเดือนมิ.ย. ซึ่งจะเป็นการปลดล็อกเงื่อนไขทางการเมืองให้เข้าสู่ระบบการเลือกตั้ง รวมทั้งจะส่งผลให้มีเงินสะพัดในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 นอกจากนี้การเมืองไทยหลังการเลือกตั้งอาจทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะปกติ หากไม่มีเหตุการณ์ความขัดแย้งรุนแรงตามมา

อย่างไรก็ตาม หากผลการเลือกตั้งออกมาไม่เป็นที่ยอมรับจนเกิดความวุ่นวายต่อบ้านเมือง สถานการณ์ด้านการลงทุนและท่องเที่ยวจะมีการพลิกผัน แต่คงไม่มีผลต่อการเติบโตมากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยได้เคยผ่านการทดสอบที่รุนแรงในช่วงปี 2552 และ 2553 มาแล้ว

ด้านปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย ได้แก่ ราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นสูง โดยปัจจุบันรัฐบาลพยายามตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร และตรึงราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ไว้ที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม หากรัฐบาลไม่สามารถชดเชยต่อได้ และปล่อยให้ลอยตัวย่อมกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้ สถานการณ์การเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้นเข้ามาในประเทศไทยมากๆ จะส่งผลต่อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งผู้ประกอบการต้องติดตามอย่างใกล้ชิด รวมถึงเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย เพราะไทยพึ่งพาการส่งออกและนำเข้าสูงถึง 66.1% ของจีดีพี


ที่มา : โพสต์ทูเดย์



อ่าน : 1665 ครั้ง
วันที่ : 29/04/2011

Contact : V-SERVE GROUP 709/54-55 ถ.สุขุมวิท 77 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง  กทม. 10250 โทรศัพท์. 0 2332 3940-9 โทรสาร. 0 2332 0754
E-mail: tanit@v-servegroup.com