เหตุน้ำมันแพง-เอกชนเกี่ยงรัฐ Share


หวั่นต้นทุนลอจิสติกส์ทะลุ1.8 ล้านล้านบาท

สภาพัฒน์หวั่นต้นทุนลอจิสติกส์ไทยพุ่งทะลุ 18% ของ จีดีพีหรือ 1.8 ล้านล้านบาท เหตุตะวัน ออกกลางป่วนราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ต่อเนื่อง แนะผู้ประกอบการเร่งปรับตัว หันมาใช้ทางราง-ทางน้ำมากขึ้น อย่ามัว ใช้แต่การขนส่งรถบรรทุกทำให้ลดต้น ทุนไม่ได้ ด้าน “ดร.ธนิต โสรัตน์” จวก ยุทธศาสตร์รัฐไร้ทิศทางไม่มีการบูรณา การ ต่างคนต่างทำ ขณะที่การขนส่งทางรางและทางน้ำก็ไม่มีประสิทธิภาพ ผู้ประกอบการก็ไม่ตื่นตัว ส่งผลให้ลอจิส ติกส์ไทยไม่ขับเคลื่อน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนา การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ในอนาคตมีแนวโน้มว่าที่ต้น ทุนลอจิสติกส์ของไทยจะเพิ่มสูงขึ้นจาก ปี 2553 ซึ่งอยู่ระดับที่ 18% ของผล ผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หรือประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น อย่างต่อเนื่องจากความไม่สงบในตะวัน ออกกลาง ขณะที่ผู้ประกอบการไทยเอง ก็ยังนิยมใช้ระบบการขนส่งด้วยรถบรรทุกเป็นหลัก เพราะการขนส่งทางรถไฟก็ยังมีข้อจำกัดที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตารางเวลาและความถี่ในการให้บริการ ขาดแคลนหัวรถจักรและแคร่บรรทุก ที่สำคัญระบบรถไฟรางคู่ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง จึงไม่จูงใจให้ผู้ประกอบการมาใช้บริการเพิ่มขึ้นจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการลดต้นทุนลอจิสติกส์ลงผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวและวางระบบการบริหารจัดการด้านลอจิสติกส์ใหม่ โดยหันมาใช้ทางน้ำและระบบรางให้มากขึ้น รวมทั้งหันมาใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยสำหรับบริหารกิจกรรมลอจิสติกส์แต่ละด้านอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้าน ดร. ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสายงานเศรษฐกิจและลอจิสติกส์ กล่าวว่า จากนี้ไปอย่างน้อยอีก 4-5 ปี ภาพรวมการขนส่งสินค้าก็ยังให้ความสำคัญกับการขนส่งทางถนนมากว่าโหมดอื่นๆ ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วจะให้ความสำคัญกับขนส่งทางรางอย่างน้อย 10-20% ของการขนส่งทั้งหมด แต่ประเทศไทยขนส่งทางรางเพียง 2% เท่านั้น

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะปัญหาระบบลอจิสติกส์ไทยยังไม่มีความก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็นทางราง หรือทางน้ำก็ยังไม่เอื้อต่อการขนส่งเท่าที่ควร ขณะที่ ยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์ 5 ข้อของรัฐบาล ซึ่งประกอบด้วย 1.การปรับปรุงประสิทธิ ภาพลอจิสติกส์ภาคการผลิต 2.การเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งลอจิสติกส์ 3.การพัฒนาธุรกิจลอจิสติกส์ 4.การปรับสิ่งอำนวยสะดวกทางการค้า และ 5.การพัฒนากำลังคน ข้อมูล และกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ก็ไม่มีการบูรณาการ ที่ผ่านมาแต่ละกระทรวงต่างคนต่างมีแผนลอจิสติกส์ของตัวเองกระจายอยู่หลายกระทรวง ส่วนภาคเอกชนเองก็ยังไม่ตื่นตัว ในภาพรวมเอกชนภาคการผลิตยังไม่เข้าใจไม่เห็นประโยชน์การพัฒนาลอจิสติกส์ ทำให้ลอจิสติกส์ไทยไม่ขับเคลื่อน

ขณะที่ ดร. มาลี เอื้อภราดร ผู้อำนวยการกลุ่มวิเคราะห์แผนด้านการขนส่งและจราจรทางน้ำ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า นโยบายภาครัฐให้ความสำคัญและส่งเสริมให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Modal Shift) จากถนนมาสู่ทางน้ำและทางรางมากขึ้น แต่ทำไมผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังขนส่งทางถนนถึง 86%

ทั้งนี้ที่ผ่านมาบริษัท SC Marine Group บริการขนส่งชายฝั่ง ยังติดปัญหาเรื่องของ double handling จึงยังสู้การขนส่งทางถนนไม่ได้ โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าทางรถบรรทุกขณะนี้มีการตัดราคากันอย่างมาก อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากมีการเปิดเสรีอาเซียนภาคธุรกิจลอจิสติกส์ของไทยก็ยังมีความได้เปรียบอยู่เนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบค่าขนส่งแล้วของเรายังถูกกว่าประเทศสมาชิกอยู่มาก

แหล่งข่าวจาก สนข. กล่าวกับ “สยามธุรกิจ ว่า แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการขนส่งสินค้านั้น ผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง จากปัจจุบันจะเน้นขนส่งทางถนน ก็ให้ปรับไปขนส่งทางน้ำและทางรางให้มากขึ้น หากสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบไปใช้การขนส่งทางรางจะทำให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าในภาพรวมทั้งประเทศลดลงประมาณ 1,400 ล้านบาท และหากเปลี่ยนไปใช้การขนส่งทางน้ำต้นทุนโดยรวมจะลดลง 1,900 ล้านบาท

สำหรับแนวทางการดำเนินงานในอนาคตเพื่อพัฒนาระบบลอจิสติกส์นั้น ทางกลุ่มลอจิสติกส์การขนส่ง สำนักงานแผนของ สนข.ได้กำหนดให้มีแผนงานเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านความรู้และพัฒนาทักษะให้กับบุคลากรของกระทรวงคมนาคม ส่วนราชการอื่น นักวิชาการ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดมิติการบูรณาการการทำงานด้านลอจิสติกส์ของหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงคมนาคมให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และสนับสนุนให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของกระทรวงคมนาคม ซึ่งจะทำให้การเปิดให้บริการโครงข่ายคมนาคมขนส่งด้านลอจิสติกส์มีความสมบูรณ์ทั้งระบบ

ที่มา : http://www.siamturakij.com/home/news/print_news.php?news_id=413352203



อ่าน : 2081 ครั้ง
วันที่ : 05/04/2011

Contact : V-SERVE GROUP 709/54-55 ถ.สุขุมวิท 77 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง  กทม. 10250 โทรศัพท์. 0 2332 3940-9 โทรสาร. 0 2332 0754
E-mail: tanit@v-servegroup.com