ผ่ายุทธศาสตร์ไทย! Share


        อกสั่นขวัญแขวนและหวั่นออออวิตกกันไปต่างๆนานาเมื่ออาซือหม่ากรุ๊ป หนึ่งในกลุ่มทุนจากจีนแผ่นดินใหญ่ ประกาศจะลงทุนสร้างศูนย์ค้าส่งยักษ์ หรือที่เรียกกันติดปากในชื่อ " ไชน่าซิตี้ คอมเพล็กซ์" มูลค่าการลงทุนกว่า45,000 ล้านบาท ริมถนนบางนา-ตราดกม.10ซึ่งล่าสุดกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)ของไทยกำลังรวมพลหาแนวทางต้านสุดฤทธิ์เพราะหวั่นเกรงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น


        นายธนิต โสรัตน์รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)แกนนำแนวต้านครั้งนี้ระบุว่า ไชน่าซิตี้ ที่เข้ามาถือเป็นแค่หนังตัวอย่างการรุกเข้ามาของกลุ่มทุนจีน ในการบุกตลาดไทยและอาเซียนที่จะรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจ หรือเออีซี ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 แต่หนังจริงในอนาคตอาจได้เห็นทุนขนาดใหญ่จากเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่งกวางโจวและมณฑลอื่นๆของจีนหลั่งไหลกันเข้ามาลงทุนในไทยและอาจสร้างผลกระทบในระดับที่รุนแรงมากกว่าหากภาครัฐและเอกชนไทยยังไม่มียุทธศาสตร์การตั้งรับที่ดีพอ


        กระจายทุน 129 ประเทศ
จากทุนสำรองของรัฐบาลจีนที่มีมหาศาล ในปี 2543 ทัพธุรกิจและวิสาหกิจของจีนโดยการหนุนหลังของรัฐบาลได้เริ่มออกไปลงทุนในต่างประเทศ สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 11 ของจีน (2549-2553) ที่เพิ่งจบลงไปรวมถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 12 ที่จะเริ่มต้นขึ้น รัฐบาลได้สนับสนุนให้ทุนจีนเดินออกไปลงทุนขยายอาณาจักรทางธุรกิจทั่วโลก(Outward FDI)


        สรุปตัวเลขล่าสุดในปี2553มีรัฐวิสาหกิจและเอกชนจีน ออกไปลงทุนตั้งบริษัทในต่างประเทศ 3,125 แห่ง กระจายอยู่ใน 129 ประเทศ รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 59,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า1.7 ล้านล้านบาท (คำนวณที่ 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ) และสรุปตัวเลขการลงทุนสะสมของจีนทั่วโลก จนถึงปี 2553  มีมูลค่าทั้งสิ้นกว่า258,800ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ


        ทั้งนี้ ในปี 2553 ล่าสุด ภูมิภาคที่จีนเข้าไปลงทุนที่มีมูลค่ามากที่สุด ได้แก่เอเชีย แอฟริกา ลาตินอเมริกา และยุโรป สัดส่วน 46.3, 38.9, 6.8 และ  5.4%ตามลำดับ โดยรูปแบบการลงทุนของจีนส่วนใหญ่นิยมออกไปซื้อกิจการในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกิจการเหมืองแร่ การแปรรูป การผลิตการแสวงหาแหล่งพลังงานและการบริการก่อสร้าง


        ลงทุนในไทยเป็นอันดับ 5
สำหรับการลงทุนของจีนในไทยจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์จีนระบุในปี2551จีนลงทุนไทยมูลค่าทั้งสิ้น4371.16  ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นอันดับ5 ของการลงทุนจีนในภูมิภาคอาเซียนรองจากสิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนามและพม่าขณะที่จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)ระบุในปี 2553 มีโครงการลงทุนจากจีนได้รับการส่งเสริมจำนวน 28 โครงการมูลค่าการลงทุน 17,312 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี2552 ที่มีโครงการจากจีนได้รับการส่งเสริม จำนวน 15 โครงการ มูลค่าการลงทุน 7,009 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวซึ่งในอนาคตการลงทุนของจีนในไทยจะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเห็นได้จากแค่ช่วงต้นปีนี้มีคณะนักธุรกิจและวิสาหกิจของจีนจากหลายมณฑลเข้ามาศึกษาลู่ทางการลงทุนในไทยแล้วกว่า7 คณะใหญ่


        มองไกลรุกอาเซียน
]ดร.อักษรศรี ยังตั้งข้อสังเกตว่ายุทธศาสตร์การค้าการลงทุนของจีนในไทยและอาเซียน ได้มองไกล มีการคิดล่วงหน้า และมีการวางแผนอย่างเป็นระบบเริ่มจากชักชวนอาเซียนทำเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ) กับจีนในปี 2543เพื่อใช้ความตกลงเป็นใบเบิกทางในการเข้าสู่ตลาด และใช้การเข้ามาลงทุนเพื่อเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติของอาเซียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงาน และล่าสุดได้ชักชวนอาเซียนดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงจากจีนมายังอาเซียน ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2558 ซึ่งจะส่งผลให้จีนส่งสินค้าเข้ามาทำตลาดอาเซียน(600 ล้านคน)รวมทั้งส่งชาวจีนเข้ามาทำธุรกิจในอาเซียนได้สะดวกรวดเร็วขึ้นดังนั้นการทำธุรกิจกับจีนของนักธุรกิจไทยเพื่อให้ได้ประโยชน์มากที่สุด จะต้องรู้เขา รู้เรา รู้จริง และรู้ให้เท่าทันจีน


        ไม่ควรกีดกันทุนจีน
ขณะที่นายพรศิลป์  พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ไทยไม่ควรกีดกันการลงทุนจากจีน หากมาถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายเช่นในกรณีโครงการไชน่าซิตี้ คอมเพล็กซ์แต่หากสงสัยว่าเข้ามาไม่ถูกต้องก็ควรใช้กฎหมายในการตรวจสอบและป้องกัน เช่นใช้กฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว กฎหมายการแข่งขันทางการค้ากฎหมายการตอบโต้และป้องกันการทุ่มตลาด เป็นต้น


        สำหรับแนวทางในการรับมือการลงทุนจากจีน เพื่อให้ไทยได้ประโยชน์สูงสุดบีโอไอควรปรับเปลี่ยนนโยบายส่งเสริมการลงทุนโดยนอกจากเน้นอุตสาหกรรมสะอาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง และมีมูลค่าเพิ่มแล้วแนวทางใหม่ควรเน้นให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมที่รวมกลุ่มกันผลิตในลักษณะเป็นคลัสเตอร์ เพื่อช่วยลดต้นทุนในการแข่งขัน


        ระวังไทยเสียมากกว่าได้
ด้านดร.สมภพมานะรังสรรค์อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์กล่าวว่า ไทยควรต้อนรับการลงทุนจากจีนไม่ควรไปกีดกัน เพราะจะเกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ในกรณีโครงการที่มีปัญหา เช่น ไชน่า ซิตี้  คอมเพล็กซ์ ทั้งสองฝ่ายควรหาทางออกร่วมกันและหันหน้าพูดคุยกันด้วยเหตุด้วยผล  ไม่ใช้อารมณ์และความรู้สึกมาตัดสิน ส่วนโครงการลงทุนที่ไม่มีคุณภาพในลักษณะตีหัวเข้าบ้านจากจีนก็ควรหาทางลดทอนลงอย่างไรก็ดีโดยข้อเท็จจริงในเวลานี้จีนถือเป็นศูนย์กลางด้านห่วงโซ่อุปทานหรือซัพพลายเชนด้านการผลิตสินค้าของเอเชียขณะที่ไทยถือเป็นศูนย์กลางซัพพลายเชนด้านการผลิตสินค้าของอาเซียน และยังต้องพึ่งพาวัตถุดิบระหว่างกันดังนั้นหากบรรยากาศการลงทุนในไทยไม่เอื้ออำนวยจะทำให้จีนไปลงทุนประเทศอาเซียนอื่นอาจทำให้ไทยสูญเสียความเป็นศูนย์กลางซัพพลายเชนของภูมิภาคได้


        แนะต้องรุกกลับ
ขณะที่นายธนิต  โสรัตน์ รองประธานส.อ.ท.กล่าวว่า ทางสภาอุตสาหกรรมฯ ซึ่งมี39 กลุ่ม มองจีนเป็นทั้งคู่แข่งและคู่ค้า ในเรื่องกระแสทุนจีนเป็นกระแสโลกคงต้านไม่ได้ แต่ไทยต้องมียุทธศาสตร์ในการตั้งรับให้ดี เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการของไทยได้รับผลกระทบในวงกว้างในทางกลับกันผู้ประกอบการของไทยไม่ควรตั้งรับอย่างเดียว แต่ควรรุกกลับจีนเช่นกัน เช่น การวางแผนออกไปลงทุนในจีน ในธุรกิจที่มีศักยภาพ เพราะในอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้าการทำธุรกิจโดยหวังแค่ตลาดในประเทศคงอยู่ยาก เพราะค่าแรงไทยเริ่มสูงขึ้นและอาจถูกปลาใหญ่กินปลาเล็ก


        สอดคล้องกับดร.สุทัศน์  เศรษฐ์บุญสร้างผู้แทนการค้าไทย (ทีทีอาร์)ที่ระบุว่าไทยควรรุกตลาดจีนในกลุ่มสินค้าอาหารและสุขภาพเพราะไม่ว่าจีดีพีจีนจะโตกี่เปอร์เซ็นต์แต่ยังต้องบริโภคอาหารดังนั้นจึงขอแนะนำให้ผู้ประกอบการด้านอาหารของไทย ไปลงทุนในจีนรวมถึงธุรกิจอื่นๆที่เห็นว่ามีอนาคตเพราะไม่เช่นนั้นแล้วจีนซึ่งได้ชื่อว่าเป็นจอมเทกโอเวอร์อาจจะเข้ามาซื้อกิจการของคนไทยมากขึ้นในอนาคต


        นอกจากนี้ผู้ประกอบการควรเร่งหาทางเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ กับนักธุรกิจรุ่นใหม่ของจีน ที่มีการบริหารจัดการธุรกิจที่เป็นระบบสมัยใหม่ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันในการรุกตลาดอาเซียนและตลาดอื่นๆ


        จากทรรศนะของกูรูจากภาคธุรกิจและภาควิชาการข้างต้น สรุปได้ว่า ไทยคงไม่สามารถต้านกระแสจีนภิวัตน์ ซึ่งเป็นกระแสของโลกได้แต่จากนี้ไปคงถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จะต้องช่วยกันระดมความเห็น และวางยุทธศาสตร์ในการรับทุนจีน รวมถึงสินค้าจีนจะเข้ามาทำตลาดในไทยครั้งใหญ่อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้งขณะที่ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจะต้องเร่งวางแผนป้องกัน เพื่อให้ธุรกิจของคนไทยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด



Source - ฐานเศรษฐกิจ (Th)

Thursday, March 31, 2011  07:02



อ่าน : 2100 ครั้ง
วันที่ : 06/04/2011

Contact : V-SERVE GROUP 709/54-55 ถ.สุขุมวิท 77 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง  กทม. 10250 โทรศัพท์. 0 2332 3940-9 โทรสาร. 0 2332 0754
E-mail: tanit@v-servegroup.com