อินโดจีน โอกาสรอบตัววิกฤติรอบด้าน Share




 ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รองประธานและเลขาธิการสภาธุรกิจไทย-พม่า ตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรมไทยมาร่วมให้มุมมองเกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายของ อุตสาหกรรมและการค้าไทยในภูมิภาคอินโดจีนในการสัมมนา Indochina Vision: The Region of Opportunities and challenges ของนิตยสารผู้จัดการ 360 ํ เมื่อเดือนมกราคม 2011 ที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญในหลายด้าน

ธนิตให้นิยามอินโดจีนว่าหมายถึงประเทศไทย ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม และจีนตอนใต้ ปัจจุบันรวมตัวกันภายใต้ Greater Mekong Sub-region (GMS) เต็มรูปแบบ โดยมีแม่น้ำโขงไหลผ่านเป็นจุดรวม ของทั้ง 6 ประเทศ แต่มีการขยายความสำคัญครอบคลุม 3 ลุ่มน้ำสำคัญในภูมิภาค ได้แก่ แม่น้ำอิรวดีและเจ้าพระยา อีก 2 สาย

การค้าของไทยกับอินโดจีนในปัจจุบันนับวันจะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น โดยปัจจุบันไทยมีสัดส่วนการค้ากับกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันเอง รวมการค้ากับ จีนและฮ่องกงด้วยแล้วก็จะมีมูลค่าสูงถึง 39.7% โดยมีมูลค่าการค้าส่งออกในอาเซียน 1.411 ล้านล้านบาท และนำเข้า 9.69 แสนล้านบาท ในปี 2553 ที่ผ่านมา ขณะที่มูลค่า การค้าระหว่างไทยกับฝั่งอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นรวมกันมีมูลค่าเพียง 32.1% เท่านั้น

จากตัวเลขดังกล่าวหากคิดเฉพาะมูลค่าการค้าชายแดน ไทยค้าขายกับเพื่อน บ้านมีสัดส่วนสูงถึง 49% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 7.7 แสนล้าน ซึ่งไทยได้เปรียบดุลการค้าประเทศเพื่อนบ้านอยู่ 190,721 ล้านบาท โดยมีมูลค่าการส่งสินค้า ออก 483,898 ล้านบาท และมีการนำเข้าสินค้าผ่านการค้าชายแดนที่ 293,177 ล้านบาท ตัวเลขนี้ยังคงมีแนวโน้มเติบโตสูงถึงปีละประมาณ 30% ซึ่งหากเป็นไปตามภาวะปกติ ปี 2554 นี้ไทยจะมีมูลค่าการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเป็น 8 แสนกว่าล้านบาท และเพิ่มถึง 9 แสนล้านในอีกไม่เกิน 2-3 ปีข้างหน้า นั่นเท่ากับ จำนวนมากกว่า 10% ของจีดีพี

ข้อได้เปรียบของการค้าชายแดนกับ กลุ่มประเทศอินโดจีน เมื่อเทียบกับการค้าระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรป ปัจจุบันถือว่ามีข้อได้เปรียบอยู่มากในเรื่องการทำกำไรจากมูลค่าสินค้า ซึ่งไม่ต้องเผชิญกับมาตรการทางการค้าสูงเท่าการส่งสินค้าไปยังประเทศพัฒนา แล้ว รวมทั้งกฎระเบียบ และเงื่อนไขด้านสิทธิมนุษยชน เช่น ข้อกำหนดในการปฏิบัติของโรงงานในด้านต่างๆ เช่น เรื่องสุขอนามัย สิ่งแวดล้อม ชั่วโมงการทำงาน ซึ่งไม่เคร่งครัดเท่า

ตลาดอินโดจีนเปิดกว้างในระดับที่ว่า ขายสินค้าอะไรก็มีคนซื้อและได้ ราคาดี เพียงแต่รูปแบบการ ค้าจะแตกต่างและเป็นไปตามสภาพการติดต่อระหว่างไทยกับเพื่อนบ้าน เช่น การซื้อสินค้าแล้วขนลง เรือข้ามชายแดนไทยลาว การซื้อขายข้าวโพดจากไทย ของพม่า แต่ในบางพื้นที่ที่สาธารณูปโภคเข้าถึง เช่น ชายแดนไทย-พม่า บริเวณอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งมีสะพานเชื่อมถึงกันก็ทำให้ นักธุรกิจไทยทั้งจากส่วนกลางและท้องถิ่นสามารถส่งสินค้าเข้าไปยังพื้นที่ ชั้นในของพม่าจากแม่สอดสู่เมียวดี และปัจจุบันสามารถทำการค้าได้ไกลถึงร่างกุ้ง

เช่นเดียวกันสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่เชื่อมระหว่างไทย-ลาว ที่จังหวัดมุกดาหาร ก็ทำให้สินค้าไทยทำการค้าชายแดนผ่าน ลาวและส่งไปได้ไกลถึงประเทศเวียดนามผ่านทางหลวงหมายเลข 9 หรือแม้แต่ใช้เป็นเส้นทางส่งสินค้าจากนิคมอุตสาหกรรม ในไทยไปลงเรือที่เวียดนามเพื่อส่งไปยังประเทศอื่นๆ

โดยสรุปแล้วการค้าชายแดนระหว่าง กลุ่มประเทศอินโดจีนด้วยกัน จึงก่อให้เกิด ประโยชน์หลายด้าน ได้แก่ 1-ทำให้สามารถส่งออกสินค้าและระบายสินค้า เป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคา (Economies of Scale) 2-เป็นช่องทางในการหาวัตถุดิบที่มีราคาถูก เพื่อป้อนโรงงานผลิตสินค้าภายในประเทศ และลดต้นทุนการผลิต 3-เป็นการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น การค้าชายแดนมีการส่งปัจจัยการผลิตต่างๆ เพื่อการผลิตสินค้าในประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้เศรษฐกิจของ ประเทศเพื่อนบ้านดีขึ้น และ 4-การค้าชายแดนง่ายและไม่ยุ่งยาก เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายจากการทำการค้าชายแดนระหว่างกัน

ขณะที่การค้าชายแดนซึ่งเปิดทำการ มานานก่อนการค้าไทยกับประเทศอินโดจีน อย่างการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย ปัจจุบันก็กำลังพัฒนาไปอีกขั้น ด้วยบริการด่านชายแดนที่จะเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงที่ด่าน ตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งจะเป็นด่านและเขตเศรษฐกิจพิเศษต้นแบบ ที่จะใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาการค้าชาย แดนกับประเทศเพื่อนบ้านในจุดอื่นๆ ต่อไป

หัวใจสำคัญที่ทำให้การค้าชายแดน เติบโตสร้างโอกาสให้กับธุรกิจไทยและเพื่อนบ้านที่เกิดขึ้นนี้ มีพื้นฐานมาจากการพัฒนาถนนหลายสายในภูมิภาคอินโดจีนที่กำลังต่อเชื่อมถึงกัน อย่างเป็นระบบและยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภูมิภาคอินโดจีน กลายเป็นศูนย์กลางการลงทุนแห่งใหม่ของ โลก นอกเหนือจากการเป็นศูนย์กลางแหล่ง ผลิตอาหาร พื้นที่ส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้เป็น แหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญหลายชนิด

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในปัจจุบัน มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกทุกประเทศ ต่างพยายามเข้ามาปฏิสัมพันธ์ใน ฐานะนักลงทุน ส่วนใหญ่เข้ามาภายใต้กรอบ ความร่วมมือต่างๆ เพื่อสร้างบทบาททางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็นยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา หรือประเทศเศรษฐกิจแนวหน้าจากแถบเอเชียด้วยกัน เองอย่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลี

ประเทศในอินโดจีนที่มีบทบาทสำคัญต่อกันอย่างมากคือจีน ซึ่งถือเป็น ประเทศในกลุ่ม GMS ที่เข้ามามีบทบาทในฐานะนักลงทุนที่เชื่อมภูมิภาคนี้ด้วยการลงทุนสร้างระบบ สาธารณูปโภค ทั้งถนน เรือ และทางรถไฟ ที่จะเกิดขึ้นอีกหลายสายในอนาคต

จีนใช้นโยบาย Look West เริ่มต้น จากคุนหมิงในมณฑลยูนนาน ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ขยายเส้นทางเศรษฐกิจลงมายังไทย เวียดนาม ลาว และ พม่า โดยมีเป้าหมายที่การดึงดูดทรัพยากร และพลังงานในภูมิภาคไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต ซึ่งจีนมีแรงงานราคาถูกจำนวน มากไว้รองรับกำลังการผลิตมหาศาล ก่อนจะผลิตเป็นสินค้าระบายกลับลงมายังเส้นทางเดิม

ความเคลื่อนไหวของจีนในภูมิภาคยังปรากฏให้เห็นในรูปแบบของการค้า จีนกำลังสร้างศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ใช้เงินลงทุนหลายหมื่นล้านเพื่อเป็นศูนย์ค้าส่ง สินค้า ที่จะบริหารพื้นที่ภายใต้ระบบฟรีโซน ส่วนหนึ่งเล็งตลาดไทย และจากฟรีโซนนี้มีแผนจะส่งไปทำตลาดไกลถึงมาเลเซียและ สิงคโปร์ ทั้งที่ผ่านไทยลงไปและผ่านไปทาง พม่า ก่อนจะส่งย้อนกลับเข้ามาในประเทศ ไทยอีกครั้งตามแนวตะเข็บชายแดนด้านตะวันตกผ่านพม่า และทางใต้ผ่านมาเลเซีย

แนวทางนี้เป็นระบบของจีนที่ดำเนิน งานผ่าน GMS และ ACMECS (Ayeya-wady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy (Thailand)) ซึ่งรวมเอาลุ่มเจ้าพระยา อิรวดี และแม่น้ำโขง 3 สายมารวมกันเพื่อสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ ไทยก็มีบทบาทอยู่ใน ACMECS ด้วยเช่นกัน และใช้บทบาทนี้ใน การเข้าไปสร้างถนนในประเทศเพื่อนบ้าน ให้ทุนการศึกษา สนับสนุนการปลูกพืชผักในพม่า ลาว กัมพูชา เพื่อส่งเข้ามายังประเทศไทย

บทบาททางเศรษฐกิจภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ ทำให้เกิดการแข่งขันตั้งหน่วยงานต่างๆ ตามมา ภายหลังจากไทยมีบทบาทใน ACMECS เวียดนาม กัมพูชา ลาว และพม่า ก่อตั้ง กลุ่ม CLMV มักจะมีการจัดประชุมก่อนหน้าไล่ๆ กับการประชุมของ ACMECS ที่จะจัดขึ้นเสมอ กรณีนี้ถือเป็นเรื่องท้าทาย และอาจจะกลายเป็นวิกฤติหากไทยถูกกันออกจากความร่วมมือของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคในลักษณะนี้

ทางด้านใต้ ไทยมีความร่วมมือ IMT-GT: Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle (Malaysia) จุดอ่อนของ ไทยคือ ถนัดเจรจาก่อตั้ง แต่อ่อนเรื่องการ ปฏิบัติ เช่นเดียวกับในกรณีนี้ที่บทบาทการดำเนินงานกลายเป็นของมาเลเซีย ทั้งการกำหนดจุดเชื่อมท่าเรือ จุดตั้งด่านศุลกากร และเส้นทางขนส่ง หากต้องการให้การดำเนินงานคล่องตัวและสร้างโอกาส ให้นักลงทุนไทย หลังการเจรจาไทยควรมีแผนปฏิบัติงานรองรับที่ทำให้เอกชนเข้าไปมีบทบาทมากขึ้น

ในเวทีลุ่มแม่น้ำโขงยังมี MJ-CI: Mekong Japan Economic and Industrial Cooperation Initiative (Japan) เกิดมา ใหม่ซึ่งรัฐบาลไทยได้เซ็นข้อตกลงเรียบร้อย เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2553 เป็นเวทีที่ญี่ปุ่นซึ่งกำลังจะพ่ายแพ้ในสนามอินโดจีนให้กับจีนที่มีบทบาทสูง ขึ้นทุกวันในภูมิภาคนี้ ต้องการ เข้ามาเชื่อมโยงเศรษฐกิจญี่ปุ่นกับภูมิภาคอินโดจีน

MJ-CI เล็งเป้าหมายไปที่ท่าเรือน้ำลึกทวาย โดยดำเนินงานผ่านทางกระทรวง การต่างประเทศ ผ่านทางรัฐบาลเพื่อเข้า ไปมีบทบาทในการเสนอแนะการก่อสร้างท่าเรือ ความพยายามครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะญี่ปุ่นมองว่าเมื่อจีนได้เปรียบจากเส้นทาง ที่เชื่อมตะวันออกฝั่งแม่น้ำโขงมาถึงภาคตะวันตกทางพม่า โดยมีเส้นทางให้วิ่งเชื่อม ต่อกันมาตั้งแต่เวียดนามผ่านดานัง เข้าลาว ออกขอนแก่นของไทยไปยังเมาะลำไย และเมาะละแหม่งของพม่า ญี่ปุ่นจึงหันมาโฟกัส เส้นทางเชื่อมตะวันออกไปใต้ มุ่งไปทางเมืองทวายของพม่า ซึ่งผลพวงครั้งนี้นักลงทุนไทยก็ได้ลงทุนโครงการขนาดใหญ่มูลค่า 3.5 แสนล้านบาทที่ท่าเรือน้ำลึกทวายด้วยเช่นกัน

ในอนาคตท่าเรือน้ำลึกทวายของพม่าจะมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคนี้ เพราะเป็นท่าเรือใหญ่ซึ่งเชื่อมกับถนนที่เป็นแลนด์บริดจ์ รถไฟรางคู่ และท่อส่งน้ำมัน จะมีความสามารถในการรองรับตู้สินค้าได้มากกว่ามาบตาพุด 10 เท่า หรือคิดเป็นปริมาณตู้สินค้าที่ส่งออกปีละถึง 50-60 ล้านตู้ ขณะที่มาบตาพุดมีการส่งออกปีละประมาณ 5 ล้านตู้ ทำให้ทวายจะกลายเป็น ท่าเรือสินค้าระดับโลกเทียบเท่าสิงคโปร์ ขณะที่ท่าเรือปากบาราของไทยซึ่งอยู่ไม่ไกลกันเป็นเพียงท่าขนส่งหรือรับ สินค้าวิ่งตามชายฝั่งที่ไม่สามารถเปรียบเทียบหรือแข่งกันได้ในระดับเดียวกัน

โดยสรุปญี่ปุ่นร่วมมีบทบาทในการพัฒนาอนุภูมิภาคที่สำคัญ ได้แก่ โครงข่าย ระบบรางโดยเฉพาะในสหภาพพม่า พัฒนา ศักยภาพบุคลากรประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ใน ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและอำนวยความ สะดวกทางการค้าและการขนส่งข้ามพรมแดน ส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนา พื้นที่เศรษฐกิจใหม่ในอนุภูมิภาค เช่น ทวาย-กาญจนบุรี แม่สอด-เมียวดี

เสน่ห์ของอินโดจีนไม่ได้หยุดแค่ในภูมิภาค ความหอมของเศรษฐกิจเกิดใหม่ ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ก็นิ่งอยู่ไม่ไหว ปลายปี 2553 จึงเข้ามาทำข้อตกลงกับรัฐบาลไทยตั้งเป็นโครงการเชื่อมแม่น้ำที่อยู่คนละ ทวีประหว่างมิสซิสซิปปีกับแม่น้ำโขงภายใต้โครงการความร่วมมือ US-LMI: U.S.-Lower Mekong Initiative (USA)

US-LMI เป็นการเล็งผลทางเศรษฐกิจ ที่สหรัฐฯ ไม่ต้องการให้จีนและญี่ปุ่นรุกหนัก ในภูมิภาคโดยที่สหรัฐฯ ไม่มีส่วนร่วม โครง การนี้เริ่มดำเนินโครงการภายใต้ความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยเริ่มต้นที่กัมพูชาเป็นแห่งแรก นอกจากนี้ ยังจะให้ความร่วมมืออีก 3 ด้านได้แก่ สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข และการศึกษาด้วย

ล่าสุดมีแนวโน้มว่าจะเกิดโครงการ KOREA-MEKONG ของประเทศเกาหลีขึ้นอีกในปลายปีนี้ ซึ่งรุกหนักในการเข้ามาตั้งนิคมอุตสาหกรรมในเวียดนามและกัมพูชา พร้อมๆ กับใช้วัฒนธรรมที่ได้รับการต้อนรับ ดีจากหลายประเทศในอินโดจีนเข้ามาเปิดตลาดความนิยมเกาหลีในภูมิภาคนี้มากขึ้น ตรงกันข้ามกับไทยที่อยู่ใกล้ชิดแต่กำลังห่างเหินกับคนในภูมิภาคเดียวกันออก ไปทุกที อย่างเช่นกรณีความรู้สึกระหว่างคนไทยกับคนกัมพูชาในพนมเปญจากประเด็น ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

สำหรับสิ่งที่เกาหลีให้ความสนใจมี 4 เรื่องหลัก ได้แก่ 1-โครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมขนส่งและการอำนวยความสะดวกการค้าตามแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ 2-สิ่งแวดล้อมที่จะช่วยยกระดับความสามารถของประเทศ GMS ในการเตรียมรองรับผลกระทบจาก Climate Change 3-พลังงานสะอาด และ 4-เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

เมื่อการค้าในภูมิภาคมีบทบาทระดับโลก สิ่งที่รัฐบาลไทยควรดำเนินงานจึงต้องแยกให้ออกระหว่างการดำเนินนโยบายด้าน การค้าและเศรษฐกิจออกจากการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อย่าปล่อยให้รูปแบบความมั่นคงที่มีเพียงเฉพาะเวลาราชการ ตามแนวเขตชายแดนกลายเป็นอุปสรรคทางการค้าและต้องเข้าใจ ความสัมพันธ์ระหว่างนักธุรกิจท้องถิ่นตามแนวชายแดนซึ่งมีการติดต่อและไปมาหา สู่กันอยู่เสมอว่ามีลักษณะเช่นไร โดยอาศัยความใกล้ชิดทางพื้นที่และเชื้อชาติมาต่อเติม โอกาสมากกว่าทำให้เกิดความห่างเหินอย่าง กรณีความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

นอกจากนโยบายเศรษฐกิจการค้า ยังมีนโยบายที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าชายแดน ที่สำคัญอีกประเด็นในเรื่องนโยบายแรงงาน ภาคอุตสาหกรรม จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ปัจจุบันไทยใช้แรงงานต่างด้าวซึ่งเป็นคนจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก เพราะอุตสาหกรรมหลายประเภทยังเป็นอุตสาหกรรมแบบใช้แรงงานเข้มข้น คิดแล้ว อุตสาหกรรมไทยต้องพึ่งกำลังการผลิตจาก แรงงานต่างด้าวถึง 70% แม้ตัวเลขแรงงาน ที่ลงทะเบียนไว้จะมีประมาณ 9 แสนคนเท่านั้น แต่ตัวเลขจริงคาดว่ามีอยู่อีกกว่า 2 ล้านคนที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน ที่เห็นได้ชัดคือแรงงานจากประเทศพม่าซึ่งคาดว่ามีแรงงานพม่าในไทยที่หมุน เวียนเข้าออกในช่วงไม่เกิน 10 ปี นับสิบล้านคน

แรงงานที่หมุนเวียนระหว่างประเทศ ถือเป็นอีกโอกาสสำหรับสินค้าไทยที่จะส่งสินค้าไปขายยังประเทศเพื่อนบ้าน เนื่อง จากกลุ่มแรงงานมีความคุ้นเคยกับตราสินค้า ไทยสมัยทำงานอยู่ในประเทศไทย หลายโรงงานเช่น โรงงานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบางแห่งก็ตัดสินใจไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง พม่าแล้วเช่นกัน ปรากฏการณ์ด้านแรงงานเป็นอีกเรื่องที่รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญหากจะให้ไทย มีบทบาทต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค

ขณะเดียวกันแรงงานเหล่านี้ก็มีผลต่อการดำเนินงานของธุรกิจไทย เพราะหากขาดแรงงานจำนวนมหาศาลเหล่านี้ก็จะส่งผลต่อกำลังและต้นทุนการ ผลิตอย่างเลี่ยงไม่ได้

ด้วยสถานการณ์เหล่านี้ถือว่าเศรษฐกิจไทยพึ่งพาเศรษฐกิจเพื่อนบ้านในอิน โดจีนอย่างแยกกันไม่ได้ ไม่เพียงเท่านั้น หากมองไปยังภาคสินค้าเกษตร โดยเฉพาะ ในกลุ่มสินค้าหลัก เช่น ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง สับปะรด ฯลฯ ซึ่งมีปริมาณ ส่งออกมากกว่า 80-90% ของกำลังการผลิต ยิ่งเป็นเหตุผลให้ไทยต้องคำนึงถึงการหาตลาดต่างประเทศเป็นสำคัญ

ที่ผ่านมาการลงทุนของไทยในลาว กัมพูชา และเวียดนาม ดำเนินไปพร้อมๆ กับประเทศอื่นๆ ที่เล็งเห็นโอกาสในภูมิภาค นี้เหมือนกัน แต่ประเทศที่กำลังกลายเป็นเป้าหมายใหม่ที่สำคัญคือพม่า ซึ่งทุกประเทศต่างเตรียมการต้อนรับการเปิดกว้างด้านเศรษฐกิจของพม่าภายหลัง เสร็จสิ้นการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมาในปีที่แล้ว

สภาธุรกิจไทย-พม่า ซึ่งเจรจากันมา นานกว่า 10 ปี และเพิ่งก่อตั้งได้เมื่อต้นปี 2553 คือจังหวะของการเริ่มต้นที่สำคัญ สิ่ง ที่นักลงทุนไทยต้องเรียนรู้นับจากนี้คือความเข้าใจบุคลิกลักษณะนิสัยของคน พม่า เพื่อนำไปสู่การหาแนวทางที่ถูกต้องในการทำธุรกิจร่วมกัน

หลักการพื้นฐานที่คนไทยควรเข้าใจ คือ พม่าจะมีลักษณะของคนจริงใจ ไม่พูดมาก แต่เมื่อตัดสินใจและเอ่ยปากแล้วจะดำเนินงานตามที่พูดเพราะถือเป็นคำมั่น สัญญา ขณะเดียวกันการดำเนินธุรกิจก็จะดำเนินไปคู่กันระหว่างภาคเอกชนและฝ่ายทหาร ซึ่งจะตอบรับหรือปฏิเสธไปในทิศทาง เดียวกัน เป็นลักษณะการดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจการค้าแบบปาท่องโก๋ และมีหน่วย งานด้านอุตสาหกรรมและการค้าที่สำคัญ คือ UMFCI: Union Myanmar Federation Commercial and Industry

ความสำคัญของพม่านั้นได้รับการพิจารณาจากจำนวนประชากรที่มีมากถึง 58 ล้านคน ซึ่งประมาณแล้วว่าไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคนที่มีความคุ้นเคยกับสินค้าไทยซึ่งเป็นโอกาสอย่างมาก แต่ที่เหลือเป็นความท้าทายที่นักลงทุนไทยจะต้องเข้าไปศึกษาเพื่อรู้จักพม่า ให้มากกว่าเดิม โดยศึกษาตามนโยบายหลังเลือกตั้งของพม่า (ดู ล้อมกรอบพม่าหลังการเลือกตั้งเมื่อพฤศจิกายน 2553) ซึ่งมีนโยบายหลายอย่าง ที่นักธุรกิจไทยต้องทำความเข้าใจและศึกษาเพื่อเข้าถึงตลาดที่เต็มไปด้วย โอกาสมหาศาลนี้ให้ได้ เพราะพม่าจะมีบทบาทอีกมากในภูมิภาคนี้ รวมทั้งคนพม่าจำนวน ไม่น้อยก็มีศักยภาพและประสบการณ์ทำงานร่วมกับคนไทย อีกทั้งพื้นฐานด้านภาษาอังกฤษเมื่อเทียบแล้วจัดว่าอยู่ในระดับ ที่ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านทางฝั่งตะวันออก อย่างลาว กัมพูชา และเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม การมองอนาคตของภูมิภาคนี้ สิ่งที่นักลงทุนไทยควรตระหนักไว้เสมอคือ อย่าให้อุปสรรคเฉพาะหน้ามาเป็นตัวบดบังวิสัยทัศน์ แต่ต้องคิดปรับปรุงและมองไกลออกไปข้างหน้าอย่างน้อยในระยะ 5-10 ปีจากนี้ ใช้ความได้เปรียบเชิงพื้นที่ในระยะใกล้สร้างข้อตกลงที่นำไปสู่การปฏิบัติได้ เป็นรูปธรรม หาโอกาสที่มีอยู่ให้เจอก่อนที่จะปล่อยให้ชาติมหาอำนาจ ที่มองความสำคัญในภูมิภาคนี้ออกและกำลังจี้ตามมาติดๆ หยิบชิ้นปลามันไปครอง แล้วปล่อยให้เพื่อนบ้านอย่างไทยเป็นได้แค่ผู้ตาม

ที่มา: http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=91288


อ่าน : 2927 ครั้ง
วันที่ : 22/03/2011

Contact : V-SERVE GROUP 709/54-55 ถ.สุขุมวิท 77 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง  กทม. 10250 โทรศัพท์. 0 2332 3940-9 โทรสาร. 0 2332 0754
E-mail: tanit@v-servegroup.com