นิวเคลียร์ญี่ปุ่นพ่นพิษ แผนโรงไฟฟ้าสะดุด Share


ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/2011/03/18/news_32648555.php?news_id=32648555

ผลโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่นกระทบแผนสร้างโรงไฟฟ้าในไทย พลังงานเผยไอเออีเอ ย้ำไทยยังไม่พร้อมก่อสร้างเหตุกฎหมายและองค์กรกำกับดูแลไม่ชัด และประชาชนไม่ยอมรับ สั่งปรับแผนพีดีพี 2010 ใหม่

กระทรวงพลังงาน สั่งเตรียมศึกษาแผนการผลิตไฟฟ้าทางเลือกมาทดแทนกรณีไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทยได้ หลังจากกรณีความเสียหายของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมา ไดอิจิ ที่ประเทศญี่ปุ่น ทำให้เกิดกระแสต่อต้านในก่อสร้างตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2553 -2573 (พีดีพี 2010)

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ได้สั่งให้นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน ปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2553 -2573 (พีดีพี 2010) ในกรณีที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องเลื่อนออกไปจากแผนที่ต้องเข้าระบบในปี 2563 เป็นหน่วยแรก 1,000 เมกะวัตต์ และกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผน

"แม้ไม่มีกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่น ทางกระทรวงพลังงานก็ยังไม่พร้อมที่จะเสนอแผนพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เข้าคณะรัฐมนตรีอยู่แล้ว เพราะแผนยังไม่เข้าตามเกณฑ์ของทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ)" รมว.พลังงาน กล่าว

ด้าน นายณอคุณ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้เสนอแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ต่อไอเออีเอไปแล้ว ซึ่งทาง ไอเออีเอ จะส่งแผนกลับมาให้ไทยในสิ้นเดือนมี.ค. นี้ แต่อาจล่าช้าออกไป เนื่องจาก ไอเออีเอ อยู่ระหว่างพิจารณากรณีของญี่ปุ่น

ไอเออีเอ ประเมินเบื้องต้นว่า ไทยยังไม่พร้อมสองกรณี คือ 1.ยังไม่มีโครงสร้างการกำกับดูแลที่ชัดเจน ทั้งกฎหมายและองค์กรกำกับดูแลที่เป็นกลาง รวมถึงข้อผูกพันระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไทยต้องลงนามต่อไป และ 2.การสร้างการยอมรับของประชาชนที่ต้องทำเพิ่มเติม โดยทั้งหมดนี้จะต้องพร้อมก่อนที่จะนำแผนต่อ ครม.ตัดสินใจต่อไป ซึ่งในกรณีองค์กรกลางนั้น ยืนยันไปแล้วว่าไทยมีสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติที่จะทำหน้าที่อยู่แล้ว

ยันรัฐบาลยังไม่ตัดสินใจ

นพ.วรรณรัตน์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้รัฐบาลยังไม่ได้ตัดสินใจที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่จำเป็นต้องติดตามผลกระทบของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นกรณีศึกษา ว่าจะทำอย่างไรในการหามาตรการป้องกันที่เข้มข้นหากเกิดเหตุการณ์แบบเดียวกัน ขณะเดียวกันหากยกเลิกแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ต้องมีแผนการผลิตไฟฟ้าทางเลือกมาทดแทนให้ชัดเจน และหากจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าถ่านหินทดแทนก็ต้องเป็นเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด

แผนพีดีพี 2010 ที่จะมีการปรับใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา โดยมี 3 ทางเลือก คือ 1.จะต้องรับซื้อไฟฟ้าตามโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (เอสพีพี) มากขึ้น 2.การเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และ 3.การซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศเพิ่ม รวมถึงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ซึ่งคาดว่าแผนใหม่จะแล้วเสร็จในเดือนเม.ย. นี้

เร่งพลังงานทดแทน20%ในปี 2565

นายทวารัฐ สูตะบุตร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า ผลกระทบจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่นระเบิด ส่งผลกระทบให้แผนการสร้างโรงไฟฟ้าต้องล่าช้าออกไป ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเร่งเดินหน้าแผนพลังงานทดแทนให้ได้ตามแผนพลังงานทดแทน 15 ปี (2551-2565) ที่ตั้งเป้าไว้ในสัดส่วน 20% ภายในปี 2565 จากที่ปัจจุบันทดแทนพลังงานต่างๆ ได้ 5-6% เท่านั้น

"แผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี ของกระทรวงพลังงานนั้นเริ่มส่งเสริมในทางปฏิบัติมาตั้งแต่ปี 2551 และสิ้นสุดแผนในปี 2565 ซึ่งมีการส่งเสริมให้ใช้พลังงานทดแทนจากลม แสงอาทิตย์ ชีวมวล ไฮโดรเจน และก๊าซชีวภาพรวมทั้งสิ้น 5,600 เมกะวัตต์” นายทวารัฐ กล่าว

เผยต้องลงทุนเพิ่มหากเลิกนิวเคลียร์

นายทวารัฐ กล่าวอีกว่า หากปรับแผนพีดีพี 2010 หลังจากแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ชะลอออกไป จะต้องเพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะใช้เงินมากกว่าแผนลงทุนเดิม ซึ่งต้องยอมรับว่าการลงทุนในเรื่องพลังงานทดแทนมีต้นทุนสูง

ตามแผนเดิม ภายในระยะเวลา 15 ปีข้างหน้า เมื่อคำนวณจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตรา 5% ประเทศไทยจะใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 3 หมื่นเมกะวัตต์ต่อปี เป็น 6 หมื่นเมกะวัตต์ต่อปี ซึ่งการผลักดันพลังงานทดแทนในสัดส่วน 20% ตามเป้าหมายจะใช้เงินลงทุนเพิ่มกว่า 7 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นการลงทุนในแหล่งกำเนิดไฟฟ้า 3 แสนล้านบาท และการลงทุนในระบบสายส่ง (SMART GRID) อีก 4 แสนล้านบาท

จากข้อมูลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ประเมินว่าต้นทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดกำลังการผลิต 1 พันเมกะวัตต์ จะใช้เงินลงทุนก่อสร้างโรงละ 3,087 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 9.2 หมื่นล้านบาท ตามแผน พีดีพี 2010 ประเทศไทยจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 โรง เท่ากับจะต้องใช้ลงทุนประมาณ 4.6 แสนล้านบาท ในขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดกำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนในการก่อสร้างโรงละ 1,550 ล้านดอลลาร์ หรือ ประมาณ 4.6 หมื่นล้านบาท

ไทยต้องพึ่งพาพลังงานน้ำจากเพื่อนบ้าน

แหล่งข่าวจาก กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (17 มี.ค.) นายณอคุณ ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนผลักดันเรื่องพลังงานทดแทนในประเทศไทยเข้าประชุมหารือในการปรับแผน พีดีพี 2010 เพื่อปรับเพิ่มเป้าหมายการส่งเสริมพลังงานทดแทนของประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

นายทวารัฐ กล่าวต่อว่า พลังงานทดแทนจะเป็นเพียงอีกทางเลือกหนึ่งในการเสริมกำลังผลิตไฟฟ้าของเชื้อเพลิงอื่นๆ เท่านั้น เพราะพลังงานทดแทนเองก็มีข้อจำกัดหลายประการ หากในอนาคตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และถ่านหินเกิดขึ้นไม่ได้ ประเทศไทยต้องพึ่งพาไฟฟ้าพลังน้ำจากเพื่อนบ้านอย่างน้อย 1.5 หมื่นเมกะวัตต์ จากเขื่อนที่จะเกิดขึ้นในลุ่มน้ำโขง และลุ่มน้ำสาละวินจากประเทศ ลาว 1 หมื่นเมกะวัตต์ และประเทศพม่า 5 พันเมกะวัตต์

"หากพึ่งพาเพื่อนบ้าน คาดว่าราคาสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าจะสูงขึ้นในอนาคต" นายทวารัฐ กล่าว

ส่วนนโยบายการวางแผนผลิตไฟฟ้าของประเทศนั้น กำหนดว่าปริมาณไฟฟ้าที่ซื้อจากประเทศเพื่อนบ้านจะต้องไม่สูงกว่าปริมาณไฟฟ้าสำรองของไทยเอง โดยขณะนี้ไทยมีปริมาณไฟฟ้าสำรอง 15% ของปริมาณไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งเป็นอัตราที่ปลอดภัยและมีความมั่นคง ต่อระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศ

ส.อ.ท.ห่วงนิวเคลียร์กระทบเศรษฐกิจโลก

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การพิจารณาผลกระทบจากสถานการณ์ในญี่ปุ่นต้องมองใน 2 ระดับ คือ 1.ผลกระทบจากแผ่นดินไหวและสึนามิ ซึ่ง ส.อ.ท.ได้หารือกับหอการค้าญี่ปุ่น กรุงเทพฯ ได้ข้อมูลว่าอาจส่งผลกระทบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของญี่ปุ่น 1.7-2.0 % น้อยกว่าแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่โกเบ ที่กระทบจีดีพี 4% ซึ่งกรณีนี้อาจกระทบภาคการผลิตในญี่ปุ่นเพียง 2-3 เดือน

2.กรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รั่วไหลจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นและเศรษฐกิจโลก เพราะสินค้าญี่ปุ่นจะส่งออกไม่ได้ และอาจส่งผลต่อเนื่องถึงจีน เกาหลีและไต้หวัน โดยทำให้นักธุรกิจไทยต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะว่าเศรษฐกิจโลกอาจขยายตัวไม่ถึง 3.8-3.9% ตามที่คาดการณ์ไว้

นายธนิต กล่าวว่า การรั่วไหลดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการขนส่งทั้งทางบกและทางเรือ ซึ่งอาจทำให้เรือขนส่งสินค้าไม่สามารถเข้าท่าเรือที่โตเกียวได้ และอาจต้องปรับเส้นทางการขนส่งไปที่ท่าเรือทางตอนใต้ของญี่ปุ่น เช่น โกเบ แต่ก็มีปัญหาว่าภาครัฐจะยอมให้เรือจากญี่ปุ่นเดินทางมาไทยหรือไม่ เพราะขณะนี้หลายสายการบินมีคำสั่งยกเลิกนำเครื่องลงที่โตเกียวแล้ว และภาครัฐของไทยอาจต้องมีแนวทางตรวจสอบสารกัมมันตรังสีในกรณีที่อนุญาตให้เรือญี่ปุ่นเดินทางมาไทย



อ่าน : 2343 ครั้ง
วันที่ : 21/03/2011

Contact : V-SERVE GROUP 709/54-55 ถ.สุขุมวิท 77 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง  กทม. 10250 โทรศัพท์. 0 2332 3940-9 โทรสาร. 0 2332 0754
E-mail: tanit@v-servegroup.com