อุตฯเผยภัยพิบัติญี่ปุ่นกระทบลงทุนช่วงสั้น3-12เดือน Share


ที่มา : โพสต์ทูเดย์ 17 มีนาคม 2554

รมว.อุตสาหกรรม เผยภัยพิบัติในญี่ปุ่นกระทบการลงทุนช่วยสั้น 3- 12เดือน หลังญี่ปุ่นต้องระดมเงินเข้าฟื้นฟูประเทศ เชื่อไม่ทำเป้าส่งเสริมการลงทุนแสนล้านหด  

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นนั้น ยอมรับว่ากระทบต่อการลงทุนในไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมในระยะสั้นๆ ช่วง 3-12 เดือนแน่นอน เพราะญี่ปุ่นต้องใช้งบประมาณในการฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภคภายในประเทศก่อน ซึ่งอาจทำให้ยอดส่งเสริมการลงทุนโดยตรง (เอฟดีไอ) จากญี่ปุ่นในช่วงนี้ชะงักไปบ้างแต่ก็ยังเชื่อมั่นว่าไม่กระทบต่อเป้ายอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปีนี้ที่ตั้งไว้ 4 แสนล้านบาทแน่นอน

"ยังมั่นใจว่าเป้าปีนี้ได้ 4 แสนล้านบาทและอาจจะเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำไป เพราะจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้น่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้นักลงทุนญี่ปุ่นเร่งรัดการตัดสินใจขยายการลงทุนเข้ามาไทยมากขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยง ซึ่งน่าจะเริ่มเห็นในช่วงครึ่งปีหลังนี้"นายชัยวุฒิกล่าว

ทั้งนี้ ยังได้มอบหมายให้ทางสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และสถาบันยานยนต์ ไปประสานกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น(เจโทร กรุงเทพฯ)ว่า มีอะไรให้ไทยช่วยหรือไม่ เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้กระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เพราะมีชิ้นส่วนยานยนต์บางตัวที่ไทยต้องนำเข้าจากญี่ปุ่น และบางอย่างไทยก็เป็นฐานการผลิต

นอกจากนี้ ในวันจันทร์ที่ 21 มี.ค.2554 จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมการลงทุน เพื่อประเมินสถานการณ์และหาแนวทางการรับมือการลงทุนจากญี่ปุ่นหลังจากนี้ว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับองค์การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (เจโทร) และหอการค้าญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย (เจซีซี) ว่า นักธุรกิจญี่ปุ่นยังยืนยันว่าแผนการลงทุนในไทยจะยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินความเสียหายของธุรกิจแต่ละรายอยู่

"หน่วยงานทั้งสองระบุว่ามีความเป็นห่วงผลกระทบที่เกิดกับอุตสาหกรรมญี่ปุ่นที่ลงทุนทั่วโลก เพราะอาจประสบกับภาวะขาดแคลนชิ้นส่วนที่มาจากญี่ปุ่น แต่ยังยืนยันว่าความเสียหายไม่รุนแรงมาก เพราะเกิดในพื้นที่ชนบทมีอุตสาหกรรมเบาตั้งอยู่เป็นหลัก เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น"นายพยุงศักดิ์กล่าว

นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมกส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ขณะนี้ บีโอไออยู่ระหว่างการติดต่อประสานงานกับบริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนอยู่แล้วในประเทศไทย ที่มีโรงงานของบริษัทแม่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าว ว่าจะส่งผลกระทบต่อการผลิตในไทยมากน้อยเพียงใด ซึ่งต้องใช้เวลาในการตรวจสอบและประเมินความเสียหาย ตลอดจนผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม บีโอไอพร้อมที่จะร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องการสนับสนุนด้านการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักร อุปกรณ์ และชิ้นส่วน ที่บริษัทแม่หลายราย มีโรงงานตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว โดยบีโอไอเตรียมเชิญบริษัทที่ได้รับผลกระทบมาร่วมหารือถึงแนวทางสนับสนุนอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นต่อไป นอกจากนี้ บีโอไอมีแนวคิดที่จะจัดตั้งทีมงานขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกแก่โครงการลงทุนจากญี่ปุ่น ที่อาจย้ายฐานการผลิตหรือเข้ามาขยายการลงทุนในไทย

สำหรับในช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ พบว่า การลงทุนจากนญี่ปุ่นมี 82 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมประมาณ 2.45 หมื่นล้าน

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สายงานเศรษฐกิจ กล่าวว่า จากการหารือกับนักลงทุนญี่ปุ่น เบื้องต้นพบว่าอาจกระทบต่อการลงทุนในระยะสั้น เพราะญี่ปุ่นจำเป็นต้องระดมเงินเข้าไปฟื้นฟูประเทศ แต่ในระยะยาวนักลงทุนจะเริ่มออกมาลงทุนที่อื่น เพื่อกระจายความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติในประเทศญี่ปุ่นเอง เพราะการนำภาคการผลิตไปกระจุกตัวอยู่ที่ใดที่หนึ่งจะเกิดความเสี่ยงมาก

ขณะที่ภาคการค้าไทยจะได้รับผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัวลง ซึ่งจะกระทบต่อการค้าขายระหว่างกันในระยะสั้น ส่วนอุตสาหกรรมที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากญี่ปุ่นคงต้องหันไปหาตลาดนำเข้าอื่นแทนญี่ปุ่น แต่สำหรับในบางอุตสาหกรรมไทยจะได้รับผลดีจากความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นของญี่ปุ่น เช่น อาหาร เหล็ก

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า การลงทุนในระยะสั้นของญี่ปุ่นอาจชะลอตัวลงบ้าง แต่เชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเป็นตัวช่วยให้นักลงทุนตัดสินใจไปลงทุนยังต่างประเทศง่ายขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงทางธุรกิจ และไทยก็มีศักยภาพที่เหมาะสมที่จะเป็นแหล่งการลงทุนของญี่ปุ่นได้

นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า โตโยต้าในญี่ปุ่นปิดโรงงาน 3 วัน เพื่อสำรวจความเสียหายของบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วน 150 บริษัท และเพื่อความปลอดภัยในการเดินทางมาทำงานของพนักงาน แต่ในส่วนของโรงงานประกอบรถยนต์ของโตโยต้ายังไม่ได้รับความเสียหาย ส่วนโรงงานผลิตในไทยยังเดินตามปกติเพียงแต่สั่งระงับการทำล่วงเวลา(โอเวอร์ไทม์) 5 วัน เพราะต้องรอการประเมินผลความเสียหายและการผลิตชิ้นส่วนจากญี่ปุ่น ขณะที่แนวทางความช่วยเหลือต้องรอทางญี่ปุ่นประเมินและแจ้งมาก่อนจะได้ช่วยเหลือได้ตรงจุด



อ่าน : 1870 ครั้ง
วันที่ : 17/03/2011

Contact : V-SERVE GROUP 709/54-55 ถ.สุขุมวิท 77 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง  กทม. 10250 โทรศัพท์. 0 2332 3940-9 โทรสาร. 0 2332 0754
E-mail: tanit@v-servegroup.com