บริษัท สำนักภาษี เคพีเอ็มจี ภูมิไชยเตือนฝ่ายบัญชีบริษัทผู้นำเข้าระวังความเสี่ยงจากการสำแดงพิกัดศุลกากร หากขาดความรอบคอบ ไม่ระมัดระวังอาจเข้าข่ายความผิดฐานหลีกเลี่ยงอากร หรือสำแดงเท็จ ถูกปรับ 4 เท่าราคาของบวกอากรในกรณีแรก และถูกปรับไม่เกิน 5 แสนบาท จำคุก 6 เดือนในกรณีที่สอง
นายฉัตรพล มณีกูล ผู้จัดการฝ่ายภาษี บริษัท สำนักภาษี เคพีเอ็มจี ภูมิไชย จำกัด กล่าวในระหว่างการสัมมนาเรื่อง โอกาสการประหยัดภาษีและการจัดการความเสี่ยงจากพิธีการศุลกากรว่า เนื่องจากในปัจจุบันมีพัฒนาการทางการค้าโลกที่เข้าสู่การเปิดเสรีเพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้อัตราภาษีในแต่ละประเทศลดลง ขณะเดียวกัน รายได้จากการจัดเก็บภาษีศุลกากรของรัฐก็ลดลง ตามไปด้วย
ประกอบกับปัจจุบันระบบการจัดเก็บภาษีศุลกากรใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น และใช้กำลังคนในการจัดเก็บน้อยลง ทำให้ศุลกากรมีทั้งกำลังคนและเครื่องมือที่จะตรวจสอบการแสดงรายการบัญชีของกิจการต่างๆ ได้มากขึ้น
ดังนั้นสำหรับกิจการด้านการส่งออก-นำเข้าสินค้าจึงต้องปรับตัวและระมัดระวังถึงการแสดงรายการบัญชีเข้า-ออกให้ชัดเจน เนื่องจากมีความเสี่ยงหลายด้านที่จะทำให้กิจการนั้นอาจถูกปรับหรือรับโทษจากการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469
อาทิ ความประมาทจากการสำแดงพิกัดศุลกากร ซึ่งหากศุลกากรตรวจสอบแล้วพบว่า สินค้าบางรายการสำแดงพิกัดศุลกากรไม่ตรงกับรายการสินค้าและมีส่วนเหลื่อมล้ำของอัตราภาษี อาจเป็นเหตุให้เจ้าของกิจการมีความผิดฐานสำแดงเท็จ รับโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 5 แสนบาท หรือจำคุก 6 เดือน
โดยความผิดพลาดอาจเกิดจากกรณี การแสดงพิกัดผิดโดยไม่ตั้งใจ เช่น บริษัท ก.นำเข้าวัตถุดิบสำหรับผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ โดยนำเข้าสินค้า 3 รายการ
ประกอบด้วย แป้นหูช้างพลาสติก พิกัด 3926.90.90 มีอัตราอากร 10% วงล้อยาง พิกัด 4016.99.90 อัตราอากร 10% และคีมเหล็ก พิกัด 7326.90.90 อัตราอากร 10% แต่ตัวแทนออกของ (custom broker) กลับสำแดงเป็นสินค้าชิ้นส่วนรถยนต์ พิกัด 8708.99.99 รายการเดียวซึ่งมีอัตราอากร 30% กรณีนี้อาจทำให้ศุลกากรระบุว่าบริษัทมีเจตนาสำแดงเท็จได้
หรือในกรณีการนำเข้าสินค้าโดยใช้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) หากผู้นำเข้าแสดงพิกัดสินค้าที่ได้รับการลดภาษีตามเอฟทีเอใดเอฟทีเอหนึ่ง แต่ไม่ได้ยื่นเอกสารรับรอง แหล่งกำเนิดสินค้ามาด้วย
อาจทำให้ศุลกากรยกความผิดให้ฐานสำแดงพิกัดศุลกากรต่ำกว่าความจริง ในกรณีนี้อาจได้รับโทษทั้งจำทั้งปรับ โดยศุลกากรจะอ้างตามกฎ WTO ว่าสินค้าที่ได้รับสิทธิการลดภาษีต้องแสดงเอกสารรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าให้ชัดเจน
นอกจากนี้ ต้องระมัดระวังเรื่องการระบุพิกัดให้ชัดเจน เนื่องจากปัจจุบันกรมศุลกากรได้มีประกาศฉบับเมื่อวันที่ 11 ก.ค. ระบุให้ชี้พิกัดเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อแก้ปัญหาที่ผ่านมา กรณีผู้ส่งออกระบุพิกัดศุลกากรไม่ตรงกับรายการสินค้าและถูกดำเนินคดีฐานสำแดงเท็จ
ประชาติธุรกิจ วันที่ 24 ก.ค. 2551
http://www.thaifta.com/thaifta/NewsFTA/tabid/67/ctl/Details/mid/426/ItemID/4307/Default.aspx