ชี้ 6 ปัจจัยเสี่ยง SMEs ชะลอตัว Share


 ส.อ.ท.ห่วง SMEs กังวล 6 ปัจจัยเสี่ยงกระทบอุตสาหกรรมชะลอตัว แนะปรับนโยบายด้านพลังงานเอื้อเอสเอ็มอี พร้อมเสนอไอเดียแปรรูปการรถไฟแห่งประเทศไทยให้เอกชนร่วมบริหาร หวังขยายภาคขนส่งสอดคล้องธุรกิจ
       
       นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในปี 2556 ส.อ.ท.มีความกังวล 6 ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมให้ชะลอตัว หรือทรุดตัวลง ประกอบด้วย 1. ผลกระทบค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ และการขาดแคลนแรงงานทุกกลุ่ม 2. การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก 3. ความผันผวนราคาน้ำมันตลาดโลก 4. การปรับราคาของวัสดุดิบในการผลิตสินค้าอย่างเหล็ก เคมีภัณฑ์ กระดาษ 5. ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ และ 6. ความเสี่ยงจากนโยบายภาครัฐ ดังนั้นต้องการให้รัฐบาลหามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และการลดต้นทุนของผู้ประกอบการโดยเฉพาะด้านลอจิสติกส์
       
       สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่รัฐบาลน่าจะควบคุมไม่ให้เกิดปัญหากับภาค อุตสาหกรรมได้ เช่น นโยบายภาครัฐ โดยพิจารณาทบทวนบางนโยบายใหม่ให้รอบคอบ อย่างเช่น นโยบายการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวีให้อยู่ในระดับราคาตลาดโลกที่ทำให้ ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น, การขึ้นค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องในทุกๆ รอบ 4 เดือน รวมถึงต้องเร่งแก้ปัญหาการต่อใบอนุญาตโรงงาน หรืออนุญาตจัดตั้งโรงงานใหม่ให้รวดเร็วกว่าเดิมเพราะผู้ประกอบการบางรายต้อง ใช้เวลารอนานนับปี เป็นต้น
       
       นอกจากนี้ยังต้องการให้หามาตรการเยียวยาธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้น รองรับต้นทุนค่าจ้างที่สูงขึ้น รวมถึงการจัดทำแผนแม่บทแห่งชาติในการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เพราะในอนาคตเชื่อว่าปัญหาดังกล่าวจะยิ่งบานปลายหลังจากที่ต่างชาติทยอยเข้า มาตั้งฐานการผลิตในไทยรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 58 เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่ต้องการไปทำงานในบริษัทขนาดใหญ่ที่มีการให้ผลตอบแทน หรือโบนัสที่ดีกว่า
       
       “เบื้องต้น ส.อ.ท.ต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหาโดยการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ ไทยเพิ่ม เช่น การเปิดให้แรงงานต่างด้าวจากประเทศอินโดนีเซีย และบังกลาเทศ เข้ามาทำงานในไทยด้วยหลังจากปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานจากประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา เพราะพึ่งแต่แรงงานไทยกับแรงงานต่างด้าวที่อยู่ติดกับไทยก็คงลำบากแล้ว ดังนั้นรัฐบาลควรเปิดกว้างให้มีการใช้แรงงานต่างด้าวจากที่อื่นด้วย” นายธนิตกล่าว
       
       นอกจากนี้ รัฐบาลควรปรับเปลี่ยนการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในการปรับโครงสร้างดำเนินการ เช่น การแปรรูปให้เอกชนเข้ามาบริหารบ้างเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของ ประชาชนและภาคธุรกิจ เช่น เร่งการสร้างรถไฟทางคู่เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง โดยปัจจุบันสัดส่วนการใช้รถไฟในการขนส่งมีเพียง 2% ของการขนส่ง หากมีระบบทางคู่ก็จะทำให้การใช้ระบบรางมีมากขึ้น ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วมีสัดส่วนการใช้ระบบรางที่ 15-16%


ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์



อ่าน : 1699 ครั้ง
วันที่ : 10/01/2013

Contact : V-SERVE GROUP 709/54-55 ถ.สุขุมวิท 77 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง  กทม. 10250 โทรศัพท์. 0 2332 3940-9 โทรสาร. 0 2332 0754
E-mail: tanit@v-servegroup.com