"ธนิต" เสนอตั้งคลัสเตอร์ยาง หวังยกระดับอุตสาหกรรมยางทั้งระบบ Share


"ธนิต โสรัตน์" บิ๊กสภาอุตฯประสานเสียง "อำนวย ปะติเส" กูรูระบบแบ่งปันผลประโยชน์อ้อยและน้ำตาล เสนอรวมกลุ่มคลัสเตอร์-ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ยางพาราตั้งแต่ต้นน้ำยันปลาย น้ำ หวังพลิกโฉมและยกระดับอุตฯยางทั้งระบบหนีพม่า เวียดนาม ลาว และกัมพูชากำลังไล่จี้ไทย ชี้ต้องมีนโยบายเดียว เป้าหมายเดียว เพื่อให้ทิศทางการขับเคลื่อนมีเสถียรภาพ

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค การเงิน การคลัง และรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวในงานสัมมนา "มาตรการเชิงรุก-เชิงรับ สำหรับสินค้าเกษตร (ยางพารา) เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558" จัดขึ้น ณ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ว่าอีก 10 ปีข้างหน้า ไทยจะมีปัญหาเชิงพื้นที่ พื้นที่เกษตรน้อยลง ต้นทุนที่ดินจะสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ต้นทุนการผลิตก็สูง จากค่าแรงรายวันที่คาดว่าอาจจะพุ่งขึ้นถึง 1,000 บาท/คน แถมยังขาดแคลนแรงงาน ทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง ประเทศเพื่อนบ้านจะพัฒนาขึ้น นี่คือจุดอ่อนของไทย

สำหรับจุดแข็งของไทยนั้น ไทยเป็นผู้ส่งออกยางอันดับ 1 ของโลก เพราะไทยผลิตยางได้ปีละ 3.12 ล้านตัน/ปี อินโดนีเซีย 2.2 ล้านตัน/ปี ไทยมีศักยภาพสูง ประสิทธิภาพสูง เพราะทำมานานกว่า 20-30 ปี ได้เปรียบที่มีอุตสาหกรรมรองรับ มีโซ่อุปทานยาวถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งขณะนี้ผลิตรถยนต์มากเป็นอันดับ 7 ของโลก หากไม่มีปัญหาการเมือง ไทยจะเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 3 ของโลก การเปิด AEC ยางของไทยยังเป็นสินค้าที่มีโอกาส

ดร.ธนิตกล่าวต่อว่า ผลผลิตยางของไทย ผลิตส่งออกถึง 86.8% จึงอิงกับตลาดโลกค่อนข้างสูง โดย 50% จะป้อนอุตสาหกรรมรถยนต์ เมื่อเศรษฐกิจโลกผันผวน ผู้บริโภคจะซื้อรถยนต์น้อยลง เมื่อดูราคาน้ำมันที่สะท้อนเศรษฐกิจโลก 3 เดือนที่ผ่านมา น้ำมันดิบ West Texus ลดจาก 120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลงมาเหลือ 78 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ราคายางจึงมีโอกาสลงได้อีก และหากพิจารณาจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ จีน พม่า เวียดนาม กัมพูชา และ สปป.ลาว ที่ผลผลิตยางจะมากขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า ไทยต้องปรับตัว นำยางที่ส่งออก 87% มาเพิ่มมูลค่า ผลิตยางรถยนต์ ถุงมือยาง เพื่อส่งออกให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมาเลเซียเป็นผู้ส่งออกถุงมือยางครองส่วนแบ่งในตลาดโลกถึง 65% แต่ไทยแค่ 10% จึงมีโอกาสที่จะพัฒนาแข่งได้อีก

โอกาสของยางไทย ต้องทำเสถียรภาพราคาด้วยการทำคลัสเตอร์ยาง ทั้งโซ่อุปทานต้องมาอยู่ด้วยกัน สภาอุตฯผลักดันมากเหมือนน้ำตาล ชาวไร่ โรงงาน ออกเสียงเท่ากัน เอากากน้ำตาลไปทำเอทานอล เอาใบอ้อย กากอ้อยทำเฟอร์นิเจอร์ ปุ๋ย และผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยจึงก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ของโลก รวมทั้งต้องผลักดันการซื้อขายยางในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าของไทยให้มากขึ้น การมีหน่วยงาน R&D มาช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ตลอดโซ่อุปทานด้วย ฉะนั้นไทยต้องมียุทธศาสตร์ยางและต้องรวมกลุ่มคลัสเตอร์

ทางด้านนาย อำนวย ปะติเส อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังและอดีตกรรมการบริหารองค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล กล่าวว่า ตนเป็นห่วงอุตสาหกรรมยางมาก เพราะโซ่อุปทานไม่เคยต่อกัน ส่วนใหญ่จะไปโตภาคอุตสาหกรรมยางกัน แต่ก็ขาดทุนล้มกันระเนระนาดมาแล้ว เป็นระบบจัดการที่ไร้ทิศทาง ที่ผ่านมาทำได้แค่จับแพะชนแกะ จึงควรที่จะนำกฎหมายเข้ามาแก้ ไม่ใช่แค่มติคณะรัฐมนตรี

ขณะนี้ยางมี วิกฤต 2 ซ้อน คือ 1.ร่างกฎหมาย พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย เร่งรัดได้เร็วที่สุด คงจะใช้ได้ประมาณเดือนมกราคม 2556 แต่ต้องมีบทเฉพาะกาล เพื่อให้องค์กรภายในมารวมกัน รวมแล้วต้องใช้เวลา 1 ปีครึ่ง-2 ปี จึงน่าเป็นห่วง หากเกิดการปรับตัวแล้วมีปัญหา 2.ระบบ Value Chain ในโซ่การผลิตของชาวสวนจนได้น้ำยางดิบออกมา ต่อกับโซ่แปรเป็นยางแผ่น ต่อไปยังโซ่แปลงเป็นผลิตภัณฑ์ยาง และโซ่การแบ่งปันรายได้ ที่ผ่านมาต่างฝ่ายต่างอ้างว่าขาดทุน แต่ทำไมโตขึ้นเรื่อย ๆ ฉะนั้นการแบ่งปันผลประโยชน์ยากมาก ต้องมาหารือเตรียมความพร้อมแต่ละโซ่ให้มาคล้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับต้นทุน รวมทั้งการเตรียมความพร้อมภายในองค์กรใหม่ตามกฎหมาย ควรกำหนดเวลาชัดเจนที่ 8 เดือน

นอกจากกฎหมายแล้ว เรื่องวิสัยทัศน์สินค้าเกษตร ต่อไปเกษตรกรจะหนีจากภาคเกษตรไปภาคอุตสาหกรรม ยางในอนาคตต้องไปปลูกที่พม่า ลาว ไทยต้องวางแผนก้าวล่วงไปข้างหน้าโดยการเพิ่มมูลค่ามากขึ้นแทน จึงเป็นโจทย์ว่าไทยจะเดินอย่างไร ทำไมต้องสร้างตลาดซื้อขายล่วงหน้า แผนจะเป็นอย่างไร ใครจะเป็นผู้พาเดิน อย่าไปเทียบกับน้ำตาลที่รู้ราคาล่วงหน้าแล้วจึงปลูกกัน สรุปแล้ว ตนยังไม่เห็นกลยุทธ์ของยางไทย แม้แต่ยุทธศาสตร์ยางเป้าหมาย 1 ล้านล้านบาท ในปี 2556 ก็ไม่จริง จึงจำเป็นต้องมีคลัสเตอร์และมีทิศทาง ตนขอความแน่ชัดในเป้าหมาย อย่ามีหลายนโยบาย ต้องนโยบายเดียว เป้าหมายเดียว ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ต้องเกื้อหนุนกัน การกำหนดราคายาง ต้องขายยางล่วงหน้าก่อน ต้องมีกลไกตลาดล่วงหน้า ต้องเซตอย่างเป็นระบบ กลไกต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมีเสถียรภาพ ต้องมีการจัดการอย่างเป็นระบบ มูลค่ายาง 6 แสนกว่าล้านบาท จะแบ่งให้เกษตรกรเท่าใด ที่ผ่านมา ยางไทยไปไหนไม่ได้ เพราะไม่มีวาระแห่งชาติ แต่ละส่วนงานมีแต่คนใหญ่ ๆ ก็ควรทำตัวให้เล็กลง การเตรียมความพร้อมเข้า AEC จึงไม่มีอะไรมาก นอกจากการเตรียมตัวเองให้ดีที่สุด

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ




อ่าน : 2280 ครั้ง
วันที่ : 19/07/2012

Contact : V-SERVE GROUP 709/54-55 ถ.สุขุมวิท 77 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง  กทม. 10250 โทรศัพท์. 0 2332 3940-9 โทรสาร. 0 2332 0754
E-mail: tanit@v-servegroup.com