หลากเสียง หลายมุม ทวายโปรเจค(1)โครงการท่าเรือน้ำลึกทวายกับประเด็นปัญหาผลกระทบไทย-พม่า Share


เสวนา "หลากเสียงหลายมุม โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย" ณ ห้องประชุมใหญ่ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2555

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2555 ณ ห้องประชุมใหญ่ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ โครงการฟื้นฟูนิเวศภูมิภาคแม่น้ำ Burma Concern ศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต จัดเวทีเสวนา "หลากเสียงหลายมุม โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย" โดยมีวิทยากรประกอบไปด้วย นายมนตรี จันทวงศ์ โครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ นายสุจิต ชิรเวทย์ ประธานอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาธิบาลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา นายศุภกิจ นันทะวรการ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ ผู้แทนจากชุมชนเมืองทวาย 3 ท่าน และมีนส.วันดี สันติวุฒิเมธี อดีตบรรณาธิการสาละวินโพสต์เป็นผู้ดำเนินรายการ

ภาพบรรยากาศการเสวนา

ดร.ชยันต์  วรรธนะภูติ 

 

ดร.ชยันต์  วรรธนะภูติ  หัวหน้าศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เวทีนี้เป็นความสนใจขององค์กรที่สนใจในเรื่องการเปิดประเทศพม่า สิ่งแวดล้อม และความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในบริบทของการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน  ถ้าติดตามสื่อต่างๆจะเห็นว่าหลายส่วนอาจจะดีใจที่ประเทศพม่ามีการพัฒนามากขึ้นเพราะ หวังถึงการลงทุนในประเทศพม่า เนื่องจากเป็นประเทศที่ปิดมานาน  เสียงเหล่านี้สะท้อนถึงความสนใจของนักการเมืองและนักลงทุน โดยหวังว่าท่าเรือทวายจะเป็นท่าเรือแห่งใหม่ที่ไม่ใช่เฉพาะเชื่อมโยงประเทศไทยกับพม่าเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงไปสู่โลกภายนอกไม่ว่าจะเป็นจีน ยุโรป

อย่างไรก็ตามอีกฝ่ายก็มีความกังวลว่า ถ้ามีการส่งเสริมการลงทุนจากประเทศไทยไปพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย จะนำไปสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษขนาดใหญ่ซึ่งพวกเราก็ยังไม่มีจินตนาการว่าใหญ่ขนาดไหน และจะมีผลกระทบอย่างไร เนื่องจากจะมีการสร้างโรงไฟฟ้า  เขื่อนเก็บน้ำ เพื่อป้อนพลังงานให้กับเขตอุตสาหกรรมนี้ การลงทุนจะมีผลกระทบต่อหมู่บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างไรบ้าง 

"เรารู้ว่าในปัจจุบันมีการทำอีไอเอโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  แต่ในพม่าไม่มีกฎหมายบังคับให้ทำอีไอเอ และเราก็ไม่รู้ว่าคณะที่ไปทำข้อมูลผลกระทบและสิ่งแวดล้อม จะมีข้อห่วงใยหรือข้อกังวลในด้านผลกระทบอย่างไร แล้วคนในพื้นที่จะมีบทบาทอย่างไรที่จะรับข้อมูลข่าวสารกับโครงการต่างๆที่จะมาลงทุน เราก็ยังอยู่ในสภาวะที่คลุมเครือไม่ทราบ"

"เมื่อเดือนที่แล้ว เราเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องหาข้อมูล จึงได้ดำเนินการมา และเราอยากให้กระบวนการหาข้อมูลพื้นฐานเสริมสร้างศักยภาพของคนในพื้นที่ด้วย ซึ่งโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิตเป็นผู้ดำเนินการ โดยให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการเก็บข้อมูล"

ดร.ชยันต์  กล่าวอีกว่า เรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องที่นักวิชาการ นักพัฒนาฯ และสาธารณะได้ติดตามว่ามีอะไรเกิดขึ้นที่โครงการทวาย อย่างน้อยถ้าเราทำอะไรไม่ได้ก็รับรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น และนำเรื่องนี้ไปพูดคุยกันในเวทีต่างๆ หวังว่าจะมีประโยชน์อย่างยิ่งในการสร้างฐานคิดเรื่องการพัฒนา โดยเฉพาะเมื่อเรากำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

การจัดเวทีร่วมมือกับหลายองค์กรได้แก่ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) โครงการฟื้นฟูนิเวศน์ในภูมิภาคแม่น้ำ  Burma concern  โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต Best Friend library  รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากไทยพีบีเอสที่นำนักศึกษา เยาวชนและเครือข่ายสื่อภาคพลเมืองมาฝึกถ่ายทอดสดผ่านอินเตอร์เน็ต เพื่อกระจายวงเสวนาให้กว้างขึ้นอีกด้วย

ดังนั้น เราจะเห็นว่าเรื่องนี้มีผู้สนใจหลายฝ่าย ทั้งพี่น้องชาวไทย พี่น้องที่มาจากประเทศพม่า และชาวต่างประเทศ หวังว่าวันนี้เราจะได้เรียนรู้เรื่องราวที่เราไม่มีโอกาสได้เข้าไปศึกษา เพื่อร่วมอภิปรายกันว่า พวกเราที่มีบทบาทในสังคมนี้ จะทำหน้าที่อย่างไรบ้างที่จะทำให้การพัฒนาในเพื่อนบ้านของเรามีความยั่งยืน และมีผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่น้อยที่สุด

 

โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย : ลักษณะโครงการ และผลประโยชน์(ของ)ใคร 

 

นายมนตรี  จันทวงศ์

 

นายมนตรี  กล่าวว่า เมื่อพูดถึงโครงการทวายจะมีประเด็นที่ต้องคิดอยู่ 3- 4 เรื่อง ประเด็นที่หนึ่ง  คำว่า ท่าเรือน้ำลึกทวายมันมีแง่มุมของความหลากหลายในแง่มุมของเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนหลายท่านได้ให้ความหมายไว้ว่า โครงการนี้เป็นเส้นทางลัดของการขนส่งสินค้า น้ำมัน ฯลฯ และได้ให้ชื่อไว้ต่างๆนานา เช่น  เป็น New Global Maritime Route,Land bridge to Indochina และเป็น West Gate ของประเทศไทย  เรื่องนี้เป็นเรื่องของการพยายามที่จะบอกว่า ท่าเรือน้ำลึกทวายเป็นประตูที่จะเปิดเส้นทางการค้าการลงทุนใหม่ที่จะเข้ามาสู่ทางตะวันตกของประเทศไทย ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ผู้ลงทุน เจ้าของโครงการ  และหน่วยงานรัฐที่สนับสนุนอย่างสภาพัฒน์ พูดมาโดยตลอดว่าเป็นเส้นทางลัดของการขนส่งทางเรือมาสู่ประเทศไทย

จากเอกสารของดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานและเลขาธิการสภาธุรกิจไทย-พม่า(กกร.)และรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เรื่อง "โครงการพัฒนาท่าเรือและศูนย์อุตสาหกรรมทวาย" ได้ระบุว่า ความเป็นเส้นทางลัดไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญของการที่ท่าเรือน้ำลึกทวายจะเป็นท่าเรือของภูมิภาค ประเด็นสำคัญที่คนจะมาใช้ท่าเรือน้ำลึกทวายและทำให้ทวายเป็นท่าเรือของภูมิภาคเป็นประเด็นเรื่องต้นทุน เช่นหากว่ามาใช้ท่าเรือที่นี่แล้วทำให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าถูกกว่า นักลงทุนก็จะมาใช้ แต่ถ้าต้นทุนไม่ได้ถูกกว่าเส้นทางเดิม(เส้นทางที่ผ่านช่องแคบมะละกา) ก็จะไม่มีใครมาใช้ ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก

อีกประเด็นหนึ่ง คือ การพูดถึงอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในเขตนิคมอุตสาหกรรมที่ทวาย ซึ่งดร.ธนิตก็ระบุไว้ว่ายังไม่มีความชัดเจน เนื่องจากยังไม่ชัดเจนว่าจะมีใครเข้าไปลงทุน ซึ่งจะทำให้เขตอุตสาหกรรมนี้มีอุตสาหกรรมต่อเนื่องตามมาอีกหลายอย่าง

ในแง่มุมดร.ธนิต เห็นด้วยกับโครงการนี้และไม่ได้คัดค้านเรื่องการไปลงทุนในประเทศพม่า เพียงแต่ว่าโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายท่านได้ตั้งข้อสังเกตไว้หลายอย่าง

 

เส้นทางเดินเรือในภูมิภาคเอเชีย (ตรงเส้นประสีแดง คาดหมายว่าจะเป็นเส้นทางเดินเรือใหม่ ถ้ามีการการสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย)

 

เมืองทวายอยู่ในซีกตะวันตกของพม่า ในโครงการทวายไม่ได้มีเพียงแค่ท่าเรือน้ำลึก แต่จะมีนิคมอุตสาหกรรม มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน และมีเขื่อนเก็บน้ำ เพื่อใช้ในนิคมฯ และที่เราทราบกันคือ จะมีถนนจากนิคมฯมาชายแดนประเทศไทย 160 กม. ซึ่งกำลังทำอีไอเออยู่ในขณะนี้ และมีถนนที่เชื่อมจากจังหวัดกาญจนบุรีมาท่าเรือแหลมฉบังอยู่ประมาณ 170 กม. ซึ่งถนนเส้นนี้จะทำใหม่ไม่ได้ใช้เส้นทางเดิม ซึ่งตามแนวถนนโดยเฉพาะฝั่งประเทศไทย มีการพูดกันมากว่าจะสร้างเขตเศรษฐกิจขึ้นมารองรับระหว่างเส้นทางที่เชื่อมสองท่าเรือเข้าด้วยกัน และเฉพาะในประเทศไทยการทำถนนสายนี้ต้องใช้เงินประมาณ 90,000 ล้านบาท

โครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบัง-กรุงเทพฯ-ท่าเรือน้ำลึกทวาย

 

ประเด็นที่สอง  โครงการจะประกอบไปด้วยท่าเรือน้ำลึก เขตอุตสาหกรรม 250 ตร.กม. โดยแบ่งเป็นโซน โซน A เป็นพื้นที่ท่าเรือน้ำลึกและเขตอุตสาหกรรมหนัก ในพื้นที่ 20 ตารางกิโลเมตร เช่น โรงงานเหล็กต้นน้ำ, โรงงานผลิตปุ๋ยเคมี, โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 4,000 เมกะวัตต์, ท่าเรือน้ำลึก 2 แห่ง 

ภาพจำลองพื้นที่ โซน A

โซน B เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ขนาด 10 ตารางกิโลเมตร เช่น ถังเก็บน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ, โรงแยกก๊าซ,โรงกลั่นน้ำมัน, โรงงานไฟฟ้าพลังความร้อน

โซน C ถูกกำหนดให้เป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมีต้นน้ำ และปลายน้ำ พื้นที่รวม 65.1 ตารางกิโลเมตร

 

ภาพจำลองพื้นที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี

 

โซน D  เป็นเขตอุตสาหกรรมขนาดกลาง เช่น พวกสิ่งทอ อุตสาหกรรมยานยนต์ มีพื้นที่ 60 ตารางกิโลเมตร

โซน E เขตอุตสาหกรรมเบา เช่น อุตสาหกรรมอาหาร พื้นที่ 39 ตารางกิโลเมตร

 

 ภาพจำลองเขตพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดกลางและเบา

 

โซน F  ถูกกำหนดให้เป็น Township มีพื้นที่ประมาณ 20 ตารางกิโลเมตร

 

ภาพจำลองเขตพื้นที่ Township

 

ที่กล่าวมาเป็นภาพที่บริษัทวาดฝันไว้ว่า ถ้าหากทำได้ 7 พื้นที่ 250 ตารางกิโลเมตร ที่นี่จะมีภาพเป็นเมืองอุตสาหกรรม เป็นเมืองของคนที่เข้ามาอยู่อาศัยเป็นแสนคน โดยเปรียบเทียบพื้นที่นี้ จะใหญ่กว่าอุตสาหกรรมมาบตาพุด 10 เท่า

นอกจากนี้ในพื้นที่ดังกล่าวจะมีการสร้างเขื่อนขนาด 90 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อเทียบดูกับพื้นที่ 250 ตารางกิโลเมตรแล้วไม่น่าจะพอ จะต้องมีการสร้างเขื่อนเพิ่มอย่างแน่นอน แต่ว่าในพิมพ์เขียวของบริษัทมีเพียงแค่เขื่อนเดียว

 

 พื้นที่สร้างเขื่อน

 

ในเขตพื้นที่ 250 ตร.กม. ก็จะมีการย้ายประชากรออกจากพื้นที่เป็นหมื่นคน ตามแผนที่วางไว้ แต่ปัจจุบันยังไม่มีการย้าย

มีการวางแผนสร้างเส้นทางที่จะเชื่อมมาประเทศไทย ซึ่งมีทั้งถนน ทางรถไฟ สายส่งไฟฟ้าแรงสูง ท่อก๊าซและน้ำมัน ทั้งหมดนี้ถ้าทำเต็มพื้นที่ ความกว้างของถนนในเขตประเทศพม่าจะกว้างถึง 200 เมตร  เมื่อมาถึงฝั่งไทยก็จะต้องตัดถนนเส้นใหม่  ก็ไม่รู้ว่าจะทำได้หรือไม่

 

ภาพจำลองเส้นทางเชื่อมมายังประเทศไทย ซึ่งมีทั้งถนน ทางรถไฟ สายส่งไฟฟ้าแรงสูง ท่อก๊าซและน้ำมัน ขนาดความกว้าง 200 เมตร

 

โครงการแบ่งเป็น  3  ระยะ  ซึ่งทั้ง  3  ระยะ  บริษัทวางแผนการก่อสร้างของสิ่งปลูกสร้างต่างๆได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า ฯลฯ ที่ 302,993 ล้านบาท   บริษัทคาดว่าจะมีส่วนแบ่งรายได้  54  เปอร์เซ็นต์  (163,000  ล้านบาท)ในอีก 10 ปีข้างหน้า ไม่ว่าท่าเรือที่สร้างจะเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคหรือไม่ก็ตาม รายได้นี้ยังไม่รวมเรื่องรายได้จากการผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด  4  พันเมกกะวัตต์เพื่อขายเพราะยังไม่ชัดเจนว่าจะได้สร้างหรือไม่

บริษัทเช่าพื้นที่ทั้งหมด 250 ตารางกิโลเมตรเสียค่าเช่าที่ดินไปประมาณ 37.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าคิดเป็นค่าเช่าต่อปีต่อไร่จะตกอยู่ที่ประมาณ 5,683 บาท ต่อไร่ ต่อปี แต่บริษัทสามารถขายพื้นที่ได้ประมาณไร่ละ 1 ล้านบาท เมื่อรวมทั้งหมดแล้วบริษัทมีรายได้ไม่ต่ำ 2 แสนล้านบาท นี่จะเป็นประโยชน์ของฝ่ายลงทุนที่จะได้

ประเด็นที่สาม ความเป็นมาของโครงการ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2551 รัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่า ลงนาม MoU การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย และการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมสู่กรุงเทพฯ

19 มิถุนายน 2551 รัฐบาลพม่า ลงนาม MoU บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)(ITD) เพื่อการศึกษาความเป็นไปได้ ในการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย และการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมสู่กรุงเทพฯ 

2 พฤศจิกายน 2553  ITD  ได้ลงนามสัญญา Framework Agreement กับ Myanma Port Authority (MPA), Ministry of Transport ของประเทศพม่า โดยบริษัทได้รับสิทธิในการพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกที่เมืองทวาย ประเทศเมียนม่าร์ รวมถึงนิคมอุตสาหกรรม และเส้นทางคมนาคมเชื่อมระหว่างประเทศไทยกับประเทศเมียนม่าร์ ซึ่งเป็นสิทธิประเภท "Build, Operate and Transfer" (BOT)

มกราคม 2554 รัฐบาลพม่าได้ออกกฎหมายเพื่อการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ เรียกว่า Dawai Special Economic Zone Law (DSEZ Law)

8 มิถุนายน 2554 นายเปรมชัย กรรณสูตร เปิดเผยว่า โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย มีวงเงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์  ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ได้ยืนยันว่าจะรับซื้อไฟฟ้าจาก โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 3,600 เมกะวัตต์ในนิคมอุตสาหกรรมทวายแล้ว  จัดตั้งบริษัท ทวาย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด(DDC) เพื่อรองรับการพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายทั้งหมด ในระยะแรกบริษัทอิตาเลี่ยนไทยฯถือหุ้น 100% และจะหาพันธมิตรร่วมพัฒนาโครงการฯเข้ามาถือหุ้น ซึ่งเขาประกาศว่าจะขายหุ้นโดยที่ถือไว้ 51 เปอร์เซ็นต์

14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ITD ได้ลงนาม MOU กับ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) เพื่อร่วมศึกษาการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จำนวน 400 เมกะวัตต์ และ 2 X 1,800 เมกะวัตต์ ในนิคมอุตสาหกรรมทวาย โดยมีข้อตกลงเบื้องต้นถึงสัดส่วนการถือหุ้น โดย ITD มีสัดส่วนการถือหุ้น 70% และ RATCH 30%

7 มกราคม  2555 มีการประชุมร่วมทวิภาคีระหว่างรัฐมนตรี ของประเทศไทยและพม่า ที่เมืองทวาย เพื่อหารือในความร่วมมือในการสนับสนุนโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย

9 มกราคม 2555 นาย U Khin Maung Soe รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานไฟฟ้า (ลำดับที่ 2) แถลงว่า จะไม่อนุญาตให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 4,000 เมกะวัตต์ ในโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย เพราะจะเกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตามมา

 

โครงการท่าเรือน้ำลึกทวายกับประเด็นปัญหาผลกระทบไทย-พม่า

นายมนตรี กล่าวว่า ประเด็นสุดท้าย คือปัญหาและผลกระทบในไทย และพม่า ซึ่งมีอยู่ 4 ประเด็น ประเด็นแรก ความเป็นธรรมในการใช้ทุนทางสังคม เพื่อสนับสนุนผลประโยชน์ของบริษัทเอกชน การลงทุนสร้างมอเตอร์เวย์และพัฒนารถไฟระบบรางจากชายแดนไทยไปพม่าระยะทาง 167 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 90,000 หมื่นล้านบาท และเป็นการเวณคืนที่ดินใหม่ทั้งหมด อันนี้เรียกว่าเป็นทุนมหาศาล ไม่ว่าจะเรียกจะเป็นทุนทางสังคมหรือทุนสาธารณะก็ตาม ถ้าหากไม่มีถนนเส้นนี้ การเชื่อมท่าเรือน้ำลึกทวายกับท่าเรือแหลมฉบังย่อมเป็นไปไม่ได้เนื่องจากระบบถนนที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถรองรับการขนส่งที่จะมีมาได้ รวมถึงการอนุมัติให้ กฟผ. ทำสัญญาซื้อไฟฟ้ากับบริษัทเอกชน จากโรงไฟฟ้าถ่านหินถึง 3,600 เมกะวัตต์ หรือการให้สิทธิพิเศษทางศุลกากรในการขนส่งสินค้าข้ามแดน  ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประเทศไทยจะต้องให้สิทธิพิเศษเพื่อทำให้ต้นทุนต่ำลง

ประเด็นที่สอง โครงการท่าเรือน้ำลึกทวายเป็นนโยบายที่ขาดความรับผิดชอบต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมต่อประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ทวายหรือไม่ มีการพูดกันมากว่าเราจะย้ายอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษมากๆ ในประเทศไทย เช่นอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ไปที่ทวายได้ เรื่องนี้เป็นการผลักภาระให้ประเทศเพื่อนบ้านโดยตรง และถ้าหากที่นั้นมีปัญหาการล่มสลายของวิถีชีวิตของประชาชนในประเทศพม่า  ย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศไทยด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ยังไม่มีการเปิดเผยการศึกษาผลกระทบด้านสังคม สุขภาวะ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งประกอบด้วย 4 ส่วน คือ พื้นที่ท่าเรือและอุตสาหกรรมหลังท่า, โรงไฟฟ้าถ่านหิน, การสร้างเขื่อนเก็บน้ำ และแนวตัดถนน รางรถไฟ และสายส่งไฟฟ้า

ประเด็นที่สาม จากข้อมูลในพื้นที่ มีประชาชนอาศัยอยู่ 30,000 กว่าคน ใน 21 หมู่บ้านที่จะต้องอพยพออกไปทั้งหมด และพื้นที่สร้างเขื่อนมีประชากรกว่า 1,000 คนต้องถูกอพยพ ขณะที่ในพื้นที่สร้างถนนจากพื้นที่โครงการมาชายแดนไทยมีอีก 3,000 คนที่จะต้องถูกอพยพ รวมคนที่ต้องถูกอพยพอย่างแน่นอนแล้วมีประมาณ 35,000 คน แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนถึงการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการอย่างเป็นรูปธรรม

ประเด็นในเรื่องผลกระทบที่อยากจะตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนของคนทวายหรือเปล่า.

 

ที่มา http://www.prachatham.com/detail.htm?code=n4_02032012_01

 



อ่าน : 5891 ครั้ง
วันที่ : 05/03/2012

Contact : V-SERVE GROUP 709/54-55 ถ.สุขุมวิท 77 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง  กทม. 10250 โทรศัพท์. 0 2332 3940-9 โทรสาร. 0 2332 0754
E-mail: tanit@v-servegroup.com