ส.อ.ท.ชี้ค่าแรง 300 ปรับสินค้าขึ้นแน่ “พลังงาน” เดินหน้าเลิกเก็บเงินกองทุน Share


     ส.อ.ท.จวกคลังไม่เข้าใจภาคการผลิตกรณีขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ ไม่ใช่ตลาดทุนที่กำไรเยอะ ยันต้นทุนเพิ่ม 12-16% ต้องขึ้นราคาสินค้าในอัตราเดียวกัน ด้านปลัดอุตฯ เตรียมเสนอ รมว.ใหม่ตั้งนิคมฯ ชายแดน ส่วน “พิชัย” ยันเดินหน้าลดเก็บเงินกองทุนน้ำมันเป็นศูนย์

     ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  เปิดเผยว่า กรณีที่นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง เห็นว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้นเพียงรอบเดียว และผู้ประกอบการส่วนหนึ่งจะสามารถรับภาระค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจากกำไรที่ลดลง ได้ โดยไม่ต้องขึ้นราคาสินค้านั้น ทาง ส.อ.ท.และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้ทำการสำรวจจากผู้ประกอบการแล้วพบว่า การขึ้นค่าแรงดังกล่าวทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยที่ 12-16% และส่งผ่านต้นทุนดังกล่าวไปที่ราคาสินค้าแน่นอน เนื่องจากธุรกิจในกลุ่มขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) 70-80% ที่ไม่ได้มีกำไรมากพอในการแบกรับภาระเพิ่ม

     "รมว.คลังมองฐานะพรรคเพื่อไทยต้องการสานนโยบายจุดนี้ เข้าใจได้ว่าเป็นคนที่มองตลาดทุนกับหุ้นตัวกำไรของธุรกิจจะเยอะมาก แต่ภาคธุรกิจที่แท้จริง (เรียลเซคเตอร์) ต้องมองหลายมิติ เริ่มตั้งแต่วัตถุดิบ กลางน้ำ ปลายน้ำ เมื่อค่าแรงขึ้นจะกระทบเป็นทอดๆ นอกจากนี้เอสเอ็มอีไทยส่วยใหญ่เป็นผู้รับจ้างผลิตต้องแข่งขันกับเพื่อนบ้าน ไม่สามารถกำหนดราคาสินค้าได้เองเช่นรายใหญ่" ดร.ธนิตกล่าว

     นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้เตรียมข้อมูลโดยเฉพาะผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรมกับนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300  บาทต่อวัน รวมถึงแนวทางและยุทธศาสตร์ของกระทรวงอุตสาหกรรมเสนอต่อนายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรมคนใหม่ที่จะเข้ามาทำงานในวันแรก 15 ส.ค.นี้ ทั้งนี้ การนำเรื่องนี้ขึ้นเสนอไม่ได้หมายความว่าคัดค้าน แต่เป็นการเตรียมมาตรการรองรับไว้เท่านั้น

     นอกจากนี้จะเสนอแนะให้มีการ จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมชายแดนขึ้นมาเพื่อสนับสนุนและสร้างประโยชน์จากการค้า ชายแดนและการใช้แรงงานต่างด้าวที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังส่งผลดีต่อการผลักดันแผนพัฒนาอุตสาหกรรมในส่วนภูมิภาค โดยบูรณาการร่วมกับกระทรวงศึกษาฯ เพื่อแก้ปัญหาแรงงานไม่ตรงตามความต้องการในตลาดแรงงานจะเสนอรัฐมนตรีใหม่ เร่งผลักดัน ยุทธศาสตร์ 4 เรื่อง คือ ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นครัวโลกหรือเป็นผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก, โครงการโรงเหล็กต้นน้ำเพื่อเพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่อง ใช้ไฟฟ้า, การเตรียมพร้อมรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 และส่งเสริมอุตสาหกรรมในภูมิภาค โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน
 
     นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า  นโยบายพลังงานระยะยาวจะทำให้การนำส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเหลือ ศูนย์ เพื่อลดผลกระทบค่าครองชีพประชาชน แต่จะทำได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน และการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการระดับปริญญาตรี 15,000 บาทอย่างเป็นทางการ 
 “การปรับโครงสร้างราคาพลังงานโดยเฉพาะน้ำมัน โดยหลักการรัฐบาลไม่ต้องการอุดหนุน เพราะจะทำให้ประชาชนใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือย ราคาควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งจะต้องทยอยปรับลดแบบค่อยเป็นค่อยไป”  นายพิชัยกล่าว
 
     นายทรงภพ พลจันทร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า การที่กระทรวงการคลังต้องการนำเงินค่าภาคหลวงที่เรียกเก็บจากผู้รับสัมปทาน ปิโตรเลียมได้ตั้งกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้น ค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทนั้นสามารถทำได้ เพราะค่าภาคหลวงนั้นต้องส่งเข้าคลัง  ถือว่าเป็นรายได้ของแผ่นดิน จะทำอะไรก็ได้


ที่มา: ไทยโพสต์




อ่าน : 1838 ครั้ง
วันที่ : 18/08/2011

Contact : V-SERVE GROUP 709/54-55 ถ.สุขุมวิท 77 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง  กทม. 10250 โทรศัพท์. 0 2332 3940-9 โทรสาร. 0 2332 0754
E-mail: tanit@v-servegroup.com