สภาอุตฯ ร่วมกรมศุลฯ เชื่อมข้อมูลใบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ Share


นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามข้อตกลงว่าด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรองรับแผนพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลใบอนุญาต (National Single Window : เอ็นเอสดับเบิลยู) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า แผนการดำเนินงานพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลใบอนุญาตของกรมศุลกากรคาดว่าจะ เสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2554  โดยในปีนี้วางแผนจะให้มีหน่วยงานราชการนำร่องการดำเนินการในระบบดังกล่าว จำนวน 8 หน่วยงาน และภายในปี 2558 จะใช้ระบบนี้ร่วมกันอย่างเต็มรูปแบบทั้งหมด 36 หน่วยงานราชการ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับผู้ประกอบการ รวมทั้งรองรับการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)

ทั้งนี้  ภายในปี 2554 จะกำหนดให้กรมศุลกากร สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) สำนักงานอาหารและยา (อย.) กรมธุรกิจพลังงาน กรมเชื้อเพลิง สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กรมประมง และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เข้าระบบการให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งในเรื่องการออกหนังสือรับรองการนำเข้า ส่งออก ใบรับรองสินค้า  และการขอหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า เป็นต้น

"การพัฒนาระบบดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนการนำเข้า ส่งออก และโลจิสติกส์ให้แก่ผู้ประกอบการ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อีกทั้งยังช่วยเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาครัฐและเอกชนด้วย"นายประสงค์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ผู้ประกอบการต้องระวังเรื่องการลงลายมือ ชื่อผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากจะเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพนำไปใช้ในทางที่ไม่ดีได้ เช่น ตัวแทนผู้ส่งออก นำเข้า (ชิปปิ้ง) นำข้อมูลของบริษัทไปใช้ในการขนส่งสินค้าอื่นๆ ทำให้บริษัทโดนขึ้นบัญชีดำ เป็นต้น ผู้ประกอบการจึงต้องระวังอย่างมาก

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานส.อ.ท. กล่าวว่า การร่วมมือมือกับกรมศุลฯ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ที่มีความจำเป็นจะต้องติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐหลายๆ หน่วยงานในการขอใบอนุญาต และขอใบรับรองต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขอหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า รวมถึงการติดต่อสื่อสารระหว่างภาคธุรกิจ เช่น บริษัทเรือ สายการบิน หรือบริษัทประกันภัยต่างๆ ทำให้การดำเนินงานล่าช้า เกิดความซ้ำซ้อนในการทำเอกสาร เป็นภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น การนำระบบดังกล่าวมาใช้จึงจำเป็นอย่างมาก เพราะช่วยลดขั้นตอนการทำงาน และเป็นประโยชน์ต่อระบบการค้าเสรี

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อนำระบบนี้มาใช้แล้ว สิ่งที่ทางกรมศุลฯ ควรจะมีการปฏิรูปคือระบบสินบนนำจับ เนื่องจากเป็นเรื่องที่นักธุรกิจต่างชาติเป็นกังวลมาก  โดยการใช้ระบบสุ่มตรวจไม่ควรจะเกิน 0.5% และกรมศุลฯ ควรจะตรวจสอบข้อเท็จจริงจากข้อมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพราะบางครั้งระบบอาจเกิดความผิดพลาด ทำให้ข้อมูลบางอย่างขาดหายไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการไม่ได้เจตนาจะทำความผิด



อ่าน : 1828 ครั้ง
วันที่ : 11/02/2011

Contact : V-SERVE GROUP 709/54-55 ถ.สุขุมวิท 77 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง  กทม. 10250 โทรศัพท์. 0 2332 3940-9 โทรสาร. 0 2332 0754
E-mail: tanit@v-servegroup.com